น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เหตุการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาในปีนี้ (2567) พื้นที่ไข่แดงย่านเศรษฐกิจสำคัญปลอดภัยจากน้ำท่วม ผลจากคลองภูมินารถดำริ หรือ คลอง ร.1 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที
รายงาน
สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคใต้ ระหว่างวันที่ 22 พ.ย. เป็นต้นมา หนึ่งในนั้นคืออำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ น้ำท่วมบริเวณรอบนอกตัวเมืองหาดใหญ่ โดยเฉพาะโซนหาดใหญ่ใน ซึ่งเป็นโซนที่อยู่ชั้นนอกของตัวเมืองหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. กระทั่งกลับเข้าสู่สภาวะปกติวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา
แต่พื้นที่โซนไข่แดงใจกลางเมืองหาดใหญ่ ปลอดภัยจากน้ำท่วม แม้จะได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวมาเลเซียได้ยกเลิกจองห้องพัก ห้องจัดเลี้ยงสังสรรค์ และเลื่อนการเดินทางออกไปบ้างก็ตาม สาเหตุหนึ่งเพราะศักยภาพของคลองภูมินารถดำริ หรือ คลอง ร.1 ที่สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที
ประชาชนชาวหาดใหญ่เปิดเผยว่า แม้ในพื้นที่เขตหาดใหญ่ในจะเป็นพื้นที่รับน้ำจากคลองอู่ตะเภาและคลอง ร.1 ที่เอ่อล้นเข้าท่วมชุมชน แต่ความเสียหายลดลงกว่าปี 2543 เพราะหลังจากคลอง ร.1 ก่อสร้างแล้วเสร็จ นอกจากรองรับน้ำได้มากขึ้นหลายเท่าแล้ว ยังทำให้พื้นที่โซนไข่แดงปลอดภัยจากน้ำท่วม
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2531 เกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กระทั่งเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2531 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ขณะนั้นได้มีพระราชดำรัส สรุปความว่า “...ให้ขุดคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ ให้ทำหน้าที่แบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภา หรือช่วยรับน้ำที่ไหลลงมาท่วมตัวอำเภอหาดใหญ่ให้ระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาโดยเร็ว” ขณะนั้น กรมชลประทานได้ดำเนินการขุดลอกคลองธรรมชาติ จำนวน 4 สาย เมื่อปี 2532 เพื่อให้สามารถระบายน้ำเร็วขึ้น
กระทั่งวันที่ 21-25 พ.ย. 2543 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่หาดใหญ่ น้ำท่วมสูงเกือบ 3 เมตร ทำเอาเมืองเศรษฐกิจแห่งนี้จมอยู่ใต้น้ำ สาเหตุจากฝนตกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. 2543 อีกทั้งน้ำไหลมาจาก อ.สะเดา ผ่านคลองอู่ตะเภาและลำน้ำสาขา ลงพื้นที่มากถึง 751 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที มากกว่าศักยภาพระบายน้ำได้เพียง 461 ลบ.ม.ต่อวินาที
ส่งผลทำให้น้ำท่วมฉับพลันบนถนนทุกสายในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ตั้งแต่เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 21 พ.ย. 2543 จากระดับน้ำเพียง 20-30 เซนติเมตร วันถัดมาปรากฎว่าน้ำท่วมสูงสุดประมาณ 2-3 เมตรทุกพื้นที่ โดยเฉพาะย่านการค้าสำคัญ ได้แก่ ตลาดกิมหยง สันติสุข และตลาดพลาซ่า รวมทั้งโรงแรมและสถานบริการต่างๆ
เขตน้ำท่วมรุนแรง ได้แก่ บริเวณหาดใหญ่ใน วัดโคกสมานคุณ ถนนสาครมงคล ถนนพลพิชัย ถนนสันติราษฎร์ ถนนรัถการ ริมคลองแห และบริเวณใกล้เคียงอื่น ก่อนกระจายไปยัง 16 อำเภอในจังหวัดสงขลา กระทั่งน้ำลดระดับอย่างรวดเร็วในวันที่ 25 พ.ย. 2543 ส่วนพื้นที่ไม่ถูกน้ำท่วมได้แก่ ถนนกาญจนวนิช โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และค่ายเสนาณรงค์
เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีเสียชีวิต 32 ราย บาดเจ็บ 382 คน ราษฎรเดือดร้อน 552,579 คน 130,117 ครัวเรือน รวมมูลค่าความเสียหายด้านธุรกิจและเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งจังหวัด จากการประเมินของหอการค้าจังหวัดสงขลา 10,000 ล้านบาท
วันที่ 4 ธ.ค. 2543 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ พระราชทานพระราชดำรัส สรุปความว่า “...มีน้ำท่วมภาคใต้ โดยเฉพาะที่อำเภอหาดใหญ่ มีความเสียหายหลายพันล้านบาท ซึ่งถ้าได้ทำแผนที่วางไว้ตั้งแต่ปี 2531 ที่ลงทุนไปนั้นจะได้กลับคืนมาหลายเท่าตัวแล้ว”
ทำให้ในปี 2544 กรมชลประทานได้ขุดคลองระบายน้ำเพิ่มเติม อีก 7 สาย โดยมีคลองระบายน้ำสายที่ 1 หรือคลอง ร.1 ความยาว 21.343 กิโลเมตร เป็นคลองระบายน้ำสายหลักในการผันน้ำจากคลองอู่ตะเภา อ้อมเมืองหาดใหญ่สู่ทะเลสาบสงขลาโดยตรง สามารถระบายน้ำได้ 465 ลบ.ม. ต่อวินาที ส่วนอีก 6 สาย เป็นคลองแบ่งน้ำเพื่อช่วยระบายน้ำ แล้วเสร็จในปี 2550
ต่อมาในปี 2553 ได้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่อีกครั้ง กรมชลประทานจึงได้ปรับปรุงคลอง ร.1 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) ขยายคลองให้กว้างจากเดิม 24 เมตร เป็น 70-100 เมตร ลึก 7 เมตร พื้นคอนกรีตตลอดแนว ก่อสร้างประตูระบายน้ำหน้าควน 2 และประตูระบายน้ำบางหยี พร้อมสถานีสูบน้ำบางหยี
เริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 2558 แม้จะประสบปัญหาล่าช้าจากปัญหาผู้รับจ้างทิ้งงาน กรมชลประทานได้บอกเลิกสัญญาและปรับเปลี่ยนวิธีการก่อสร้างมาเป็นงานดำเนินการเอง กระทั่งแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565 สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และเป็นแหล่งสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้อีกประมาณ 5 ล้าน ลบ.ม.
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ "คลองภูมินาถดำริ" มีความหมายคือ "คลองระบายน้ำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริขุดขึ้น" เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2559 พสกนิกรชาวนครหาดใหญ่น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้
นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คลอง ร.1 ตามพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ ๙ เป็นตัวอย่างสำคัญในการลดความรุนแรงของน้ำท่วม ซึ่งรัฐบาลควรมีการขยายผลการพัฒนาโครงการนี้ไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมสูงทั่วภาคใต้
โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการขาดแคลนระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงในทุกปี หากสามารถพัฒนาโครงสร้างการระบายน้ำจากภูเขาให้ไหลลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว จะสามารถลดผลกระทบและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้