การปลูกอ้อยในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 45% ของพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมดของประเทศ ยังคงประสบปัญหาความแห้งแล้งที่ส่งผลต่อผลผลิตอ้อยในระยะยาว ฤดูกาลปลูกอ้อยปี 2564/2565 มีพื้นที่ปลูกอ้อย 4.6 ล้านไร่ และผลผลิตอ้อยรวม 46 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ความแห้งแล้งและศัตรูพืชยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ลดผลผลิต
เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้และยกระดับการผลิตอ้อย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้นำเทคโนโลยีภาพถ่ายมัลติสเปกตรัม (Multispectral Imaging) และระบบเกษตรอัจฉริยะมาประยุกต์ใช้ เพื่อประเมินและติดตามสุขภาพพืช ความทนแล้ง และผลผลิตอ้อย โดยเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถแสดงค่าดัชนีสำคัญ เช่น NDVI, GNDVI, NDRE, OSAVI และ LCI ซึ่งช่วยวิเคราะห์คุณภาพและความหนาแน่นของพืช รวมถึงดัชนีอื่นๆ ที่บ่งชี้สภาพดินและการเติบโตของอ้อย
โครงการเพิ่มมูลค่าและประเมินศักยภาพผลผลิตอ้อยทนแล้งด้วยเทคโนโลยีภาพถ่ายมัลติสเปกตรัม ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ดำเนินการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยเน้นพัฒนาภาคการเกษตรให้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพิ่มผลผลิตต่อหน่วยให้ได้ไม่น้อยกว่า 15% และลดต้นทุนการผลิตในทุกขั้นตอน และสอดคล้องกับ แผนแม่บทที่ 13 ด้านการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในภาคการเกษตร บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพและลดต้นทุน ถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านสื่อออนไลน์และเครือข่ายการเรียนรู้ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศ และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เพื่อลดปัญหาการเผาอ้อยและการขาดแคลนแรงงาน
สอน.มีเป้าประสงค์ของโครงการ จัดทำแปลงทดสอบเกษตรอัจฉริยะ: ใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายมัลติสเปกตรัมในการติดตามและประเมินผลผลิตอ้อยที่สามารถทนแล้ง การพัฒนาระบบประเมินผลผลิต: ประเมินอ้อยที่ปลูกในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ ครอบคลุมสายพันธุ์ไม่น้อยกว่า 3 สายพันธุ์ การส่งเสริมเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer: พัฒนาศักยภาพเกษตรกร เพื่อให้พร้อมเข้าสู่การเป็น Young Smart Farmer หรือ Start Up และสร้างเกณฑ์มาตรฐานดัชนีพันธุ์อ้อย: กำหนดดัชนีพันธุ์อ้อยที่มีมาตรฐาน สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจึงจัดทำโครงการสำคัญ อาทิ สำรวจข้อมูลพื้นที่ปลูกอ้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น พันธุ์อ้อย ดิน และอุทกวิทยา ใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายมัลติสเปกตรัมในการวิเคราะห์และประเมินดัชนีความแห้งแล้งเชิงพื้นที่ จัดทำระบบฐานข้อมูลอัจฉริยะ พร้อมจัดทำแผนที่สารสนเทศด้านการเกษตร ฝึกอบรมเกษตรกรในพื้นที่ จำนวน 50 ราย เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และขับเคลื่อนสู่การเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เป็นต้น
โครงการนี้มุ่งเน้นให้เกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลปรับตัวสู่ยุคเกษตร 4.0 เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนและประสิทธิภาพในอนาคต