xs
xsm
sm
md
lg

พ่อขออาศัยก่อนลูกจะฮุบ? เปิดหลักฐานปี 2513 “ชัย ชิดชอบ” ขอการรถไฟฯ อาศัยในที่ดินเขากระโดง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดหลักฐานพิสูจน์ที่ดินเขากระโดงเป็นของการรถไฟฯ ไม่ได้มีเพียงแค่คำพิพากษาศาลฎีกา ที่กรมที่ดินดื้อตาใสไม่ยอมปฏิบัติตาม แต่ยังมีบันทึกการประชุมแก้ไขข้อพิพาทปี 2513 “ชัย ชิดชอบ” บิดาของ “เนวิน-ศักดิ์สยาม” แกนนำพรรคภูมิใจไทย ตกลงทำสัญญากับการรถไฟฯ ขออยู่อาศัยในที่ดินบริเวณเขากระโดง รวมทั้งมีความเห็นกฤษฎีกา ปี 2541 ยืนยันเป็นที่ดินรถไฟ และอัยการสูงสุดปี 2555 ระบุให้เพิกถอนโฉนด



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงปัญหาพิพาทที่ดินเขากระโดง ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนถึงการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างชัดเจน

โดยเรื่องนี้เป็นปัญหาคาราคาซังมาตั้งแต่ ปี 2513 หรือ 54 ปีที่แล้ว จนกระทั่งมีการนำคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรม และต่อสู้กันถึงชั้นศาลอุทธรณ์และฎีกา พร้อมกับมีคำพิพากษาที่เป็นที่สุดถึง 3 ฉบับ ประกอบด้วย

1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 - 876/2560
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561
และ
3. คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563


ซึ่งได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375 + 650 นั้นเป็นส่วนหนึ่งของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2462

โดยเฉพาะ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 มีการระบุข้อเท็จจริงที่เป็นที่ยุติว่า “เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 มีประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ให้กรมรถไฟหลวงเริ่มลงมือตรวจและวางแนวรถไฟอันแน่นอนช่วงตั้งแต่นครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ให้แล้วเสร็จใน 2 ปีนับจากประกาศ

“... ที่ดินตามแผนที่ที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 เป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462”

ภาพจากสำนักข่าวอิศรา
เมื่อองค์กรผู้ใช้อำนาจตุลาการอย่างศาลยุติธรรมชี้ขาดข้อพิพาทแล้วทุกอย่างย่อมต้องเป็นที่ยุติและชัดเจน ไม่ควรมีกระบวนการใดมาขัดขวางได้อีก

ซึ่งถ้าว่ากันตามหลักการการรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ควรเร่งบังคับคดีเพื่อเอาที่ดินกลับคืนมาเป็นของรัฐ แต่เลือกที่จะไปฟ้องศาลปกครองเมื่อปี 2564 เพื่อบังคับให้กรมที่ดินดำเนินการหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ 842 - 876/2560 และ ที่ 8027/2561 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563


การฟ้องศาลปกครองดังกล่าวเหมือนจะดูดี แต่ด้านหนึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็นมากขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นข้อสังเกตที่ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” เมื่อครั้งเป็นเพียง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน เคยอภิปรายไว้กลางสภาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ว่าไม่เห็นด้วยกับการฟ้องศาลปกครองขณะนั้น

แต่มาเวลานี้ ในวันที่มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคภูมิใจไทย “พ.ต.อ.ทวี” ก็เลือกที่จะปิดปากตัวเองและไม่ขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้อีก เพื่อเลี่ยงการปะทะกับพรรคภูมิใจไทย หากจะพูดไป พ.ต.อ.ทวีก็คงอยู่ในสภาวะกระอักกระอ่วนใจอยู่ไม่น้อยเวลาที่ต้องออกมาตอบคำถามเหล่านี้


อย่างไรก็ตาม จะโทษความไม่เอาไหนของการรถไฟแห่งประเทศไทยฝ่ายเดียวก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะกรมที่ดินในฐานะผู้ถูกร้องตามคำพิพากษาของศาลปกครองก็ควรต้องแบ่งส่วนความรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

การที่กรมที่ดินอ้างว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยกำหนดแนวเขตที่ดินไม่ชัดเจน จนทำให้กรมที่ดินตัดสินใจยุติเรื่องนั้นถือว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดหลักการอย่างชัดเจนและรุนแรง ประหนึ่งทำให้กฎหมายและคำพิพากษาของศาลยุติธรรมและศาลปกครองไม่มีความหมาย

กล่าวคือ หลักฐานทุกอย่างรวมถึงความเป็นเจ้ากรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้นชัดเจนแจ่มแจ้งทุกประการตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาล กรมที่ดินเองไม่อาจเห็นเป็นอย่างอื่นได้ การจะมาอ้างว่าหากการรถไฟแห่งประเทศไทยคิดว่าตัวเองมีสิทธิในที่ดินที่ดีกว่าก็ให้ใช้สิทธิทางศาลเพื่อพิสูจน์อีกนั้นย่อมเป็นความไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง

แม้กรณีที่ดินเขากระโดงจะมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ซับซ้อนยากต่อการทำความเข้าใจ แต่เรื่องเหล่านี้จะไม่เป็นปัญหาเลย ถ้าผู้มีอำนาจ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน แต่กรมที่ดินกับนักการเมืองที่ยึดที่เขากระโดงมันรวมหัวกันทำให้ดูยุ่งยากเสียเอง


นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด แสดงความคิดเห็นว่า “เรื่องเขากระโดง ในที่สุดศาลมีคำพิพากษาแล้ว ทั้งศาลปกครอง และศาลฎีกาตัดสินไปเรียบร้อยแล้วว่าที่ดินตรงบริเวณเขากระโดงนั้นเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ทีนี้ การที่อธิบดีกรมที่ดินอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ดำเนินการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เป็นการดำเนินการไม่ถูกต้อง

เพราะจริงๆ แล้วควรดำเนินการตามมาตรา 61 วรรค 8 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด ซึ่งเท่ากับว่ากรมที่ดินต้องเพิกถอนโฉนดออกแล้วเปลี่ยนเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย”


นายพรพจน์ เพ็ญพาส
อัยการปรเมศร์ยังแนะนำด้วยว่า “กว่าจะเป็นอธิบดีใช้เวลานาน (หมายถึง นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดินคนปัจจุบัน) พ้นจากตำแหน่งไม่เกิน 5 ปี ก็ยังกล่าวโทษต่อ ป.ป.ช.ดำเนินคดีได้ อย่าจบไม่สวยเลย ทางที่ดีควรดำเนินการตามคำพิพากษา

ส่วนปัญหาสนามอารีนา หรือชาวบ้านที่อยู่แถวนั้น รัฐบาลก็คุยกับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยยอมให้สนามอารีนาเช่าแข่งรถ สนามกีฬา อย่าไปทุบ ไปทำลาย ไม่มีประโยชน์ ให้เช่าได้ เหมือนกับที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลฯ เช่า รฟท. เอารายได้เป็นของรัฐ เจ้าของสนามก็ได้กำไรถึงจุดคุ้มทุนพอแล้ว เช่า 30 ปี ต่อสัญญาทุก 30 ปี ไม่มีปัญหาอะไรเลย อย่าทำให้น่าเกลียดเลย”

ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย โดยการเอาที่เขากระโดงคืนมาให้การรถไฟฯ สามารถทำได้ง่ายๆ โดยถูกต้องชอบธรรมทางกฎหมาย และเหมาะสมด้วย

คือ กรมที่ดินต้องเอาที่ดินกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ก่อนตามมาตรา 61 วรรค 8 ของกฎหมายที่ดิน ไม่ต้องฟังเสียงอะไรเพราะเป็นการทำตามคำพิพากษาศาลฎีกา แต่ที่ผ่านมากรมที่ดินโยนภาระการพิสูจน์ไปให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย

ซึ่งการโยนภาระให้รถไฟพิสูจน์เป็นการกระทำที่ "กลับหัวกลับหาง" เป็นการใช้เล่ห์เหลี่ยมให้เกิดปัญหา ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา เนื่องจากต้องการเอาใจนักการเมืองที่คุมกระทรวงมหาดไทย คือ นายเนวิน ชิดชอบ จึงทำการเตะถ่วงยื้อเรื่องออกไป ไม่ทำตามคำพิพากษา

แทนที่จะใช้วิธีการที่รวบรัดชัดเจน ถูกต้องที่สุด คือการใช้สิทธิบังคับเอาที่ดินเขากระโดงมาเป็นของการรถไฟฯ ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งสามารถทำได้ เทียบเคียงกับกรณีที่ ปปง.ยึดทรัพย์ที่อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดไว้ก่อน แล้วค่อยให้คนทำผิดมาพิสูจน์สิทธิภายหลัง

ใครที่มีหลักฐานการครอบครองกรรมสิทธิ์บนที่ดินเขากระโดงดีกว่าการรถไฟฯ ก็ยกที่ดินให้ไป ซึ่งจะมีสิทธิดีกว่าการรถไฟฯ ได้จะต้องมีเอกสารสิทธิ จะเป็นโฉนดหรือหนังสือทำประโยชน์ประเภทไหนก็แล้วแต่ ต้องได้สิทธิ์มาก่อนปี พ.ศ. 2464 นั่นก็คือก่อนที่รัชกาล ๖ จะพระราชทานที่เขากระโดง 5,083 ไร่ให้การรถไฟฯ ใครมีก็ยกที่ดินให้ไปเลย

แต่จะมีสักรายไหม? เพราะก่อนรัชกาลที่ ๖ จะพระราชทานที่เขากระโดงให้การรถไฟฯ บริเวณนั้นเป็นป่าเขา เป็นที่อาศัยของบรรดาสัตว์ป่าน้อยใหญ่ ชุกชุมมาก ไม่ได้เป็นสนามฟุตบอล หรือสนามแข่งรถเหมือนเช่นวันนี้


ด้วยเหตุนี้จึงขอเตือนเป็นครั้งสุดท้ายว่า “กรมที่ดิน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งอธิบดีกรมที่ดิน คือ นายพรพจน์ เพ็ญพาส ต้องเลิกทำแบบกลับหัวกลับหาง หยุดการเล่นเล่ห์กลสร้างปัญหาให้ประเทศชาติเสียหาย กลับมายึดหลักการที่ถูกต้อง เลิกเป็นทาสรับใช้นักการเมืองเสียที

หลักฐานมัดแน่น ชี้ชัดสถานะ “เขากระโดง” คือสมบัติของแผ่นดิน

การทวงคืนที่ดินเขากระโดงที่เป็นกรณีพิพาทให้กลับมาเป็นสมบัติของชาติโดยสมบูรณ์ ที่ผ่านมาหลักฐานสำคัญและเป็นที่ประจักษ์ว่าที่ดินดังกล่าวควรกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยจริงๆ แล้วไม่เพียงแต่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมเท่านั้น เพราะยังตอกย้ำด้วยคำพิพากษาของศาลปกครองที่รับรองคำพิพากษาของศาลยุติธรรมข้างต้นอีกชั้นหนึ่ง พร้อมกับการสั่งการให้กรมที่ดินดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา

แต่ปรากฏว่ากรมที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทยกลับตะแคงตำรากฎหมายและตีความว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยกำหนดแนวเขตที่ดินไม่ชัด ทำให้กรมที่ดินสั่งยุติเรื่องทันที ไม่พิจารณาเพิกถอนโฉนดที่ดิน นำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ว่าการดำเนินการของกรมที่ดินเป็นอำนาจค้ำหัวคำพิพากษาของศาลยุติธรรมและศาลปกครองหรือไม่?

เอาเข้าจริงแล้วเรื่องนี้ หากจะบอกว่า “ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษายังไม่พอที่กรมที่ดินจะสรุปได้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย” ย่อมเป็นเรื่องประหลาดมาก!?!

เพราะนอกจากคำพิพากษาของศาลแล้ว ยังมีเอกสารหลักฐานอื่นๆ ของทางราชการหรือพฤติการณ์แวดล้อมที่เป็นการแสดงให้เห็นว่าที่ดินเขากระโดงเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างที่ไม่ควรมีอะไรมาโต้แย้งได้อีก


เริ่มกันที่ เอกสารการบันทึกการประชุมร่วมเรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2513 เริ่มประชุมเวลา 09.00 น. ระหว่างนายชัย ชิดชอบ (บิดาของนายเนวิน และศักดิ์สยาม ชิดชอบ) และเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่านายชัยขออาศัยในที่ดินดังกล่าวจากการรถไฟฯ และการรถไฟฯ ตกลงยินยอมให้อาศัย ซึ่งจะได้ทำสัญญาการอาศัยเป็นลายลักษณ์อักษร

ข้อความในบันทึกการประชุมที่เป็นไฮไลต์ ระบุว่า

“ข้อ 4 เมื่อได้ปฏิบัติตามข้อ 1 ถึง ข้อ 3 แล้ว นายชัย ชิดชอบ ขออาศัยที่ดินพิพาทจากการรถไฟฯ และการรถไฟฯ ตกลงยินยอมให้อาศัย ซึ่งจะได้ทำสัญญาอาศัยกันต่อไป

รับรองว่าบันทึกนี้ถูกต้องตามความประสงค์ของทุกฝ่าย และต่างได้ลงนามไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยาน

ลงนามโดย นายชัย ชิดชอบ คู่กรณี”


เช่นเดียวกับเอกสารบันทึกความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 106/2541 เรื่อง กรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณเขากระโดง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยระเบิดหินเพื่อใช้ในการก่อสร้างรถไฟ ลงนามโดย นายอักขราทร จุฬารัตน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (ซึ่งในเวลาต่อมา นายอักขราทร ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด) โดยในขณะนั้นบันทึกความเห็นไว้ว่า

“เมื่อปรากฏว่าการสำรวจที่ดินเพื่อกำหนดแนวเขตที่ดินที่ใช้สร้างทางรถไฟในปี พ.ศ. 2464 ได้ดำเนินการโดยครบถ้วน รวมทั้งกรมรถไฟแผ่นดินได้จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟแสดงไว้โดยชัดแจ้งแล้ว และโดยที่ที่ดินบริเวณที่หารือซึ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในแนวเขตที่ดินของกรมรถไฟในขณะนั้นมีสภาพเป็นที่ป่ายังไม่มีผู้ใดครอบครองทำประโยชน์ และเมื่อกรมรถไฟแผ่นดินได้เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นแหล่งวัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟ จึงถือได้ว่าเป็นการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้ใช้ในราชการตามกฎหมายแล้ว ที่ดินนั้นจัดเข้าลักษณะเป็นที่ดินรถไฟตามมาตรา 3(2) และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พระพุทธศักราช 2464”


จากเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยได้สำรวจแนวเขตที่ดินเรียบร้อยแล้ว และที่ดินที่ถูกกำหนดแนวเขตรถไฟแล้ว เท่ากับว่าที่ดินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยตามกฎหมายทุกประการ

ไม่เพียงเท่านี้ ยังเคยมีกรณีที่กรมที่ดินทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดว่าควรจะต้องดำเนินการอย่างไรในกรณีที่กรมที่ดินไม่อาจเพิกถอนโฉนดที่ดิน เลขที่ 3466 และ 8565 ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ ตามมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งในประเด็นนี้สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นกลับมายังกรมที่ดินตามหนังสือลง วันที่ 12 มิถุนายน 2555 ระบุว่า

“กรมที่ดินมีหน้าที่ต้องแจ้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อทราบผลการพิจารณาของอธิบดีกรมที่ดินที่ไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท และแจ้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล เพื่อขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 99 ต่อไป”


สรุป หลักฐานทั้งหมดนี้ได้ทำให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าที่ดินเขากระโดงเป็นสมบัติของชาติ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่ใช่ของตระกูลชิดชอบ หรือของเอกชนหน้าไหนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ ย่อมต้องทำหน้าที่ในการรักษาสมบัติดังกล่าวได้ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและประชาชน กรณีที่ชัดเจนแจ่มแจ้งเช่นนี้ ถ้าผู้มีอำนาจยังตะแบง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย บ้านเมืองมันต้องลุกเป็นไฟแน่นอน

“ท่านผู้ชมครับ ผมยุติเรื่องนี้ด้วยข้อมูลหลักฐานการยอมรับของนายชัย ชิดชอบ บิดาของนายเนวิน-นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ และขอเช่า ขออาศัยอยู่ เปิดเผยออกมาให้เห็นเป็นครั้งแรก

ท่านอธิบดีกรมที่ดินครับ ท่านเลิกตะแบงเสียทีได้ไหม ผมนี่อับอายขายหน้าเพื่อนฝูงพี่น้องคุณ หรือตระกูลคุณ หรือชาวบ้านที่เขารู้ความจริง ว่าคุณเป็นถึงอธิบดีกรมที่ดิน คุณทำไมตะแบง จะยกสมบัติ หรือจะป้องกันสมบัตินี้ไม่ให้ตกเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย และยังให้คงอยู่ในมือของเอกชนต่อไป ท่านอธิบดีกรมที่ดินครับ ทุเรศสิ้นดี
” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น