“…เกษตรยั่งยืนคือเกษตรที่เราทำกินแล้วยั่งยืนไปชั่วลูกชั่วหลาน เมื่อเราไม่เบียดเบียนดิน น้ำ ป่า สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศต่างๆ ไม่ให้มันแย่ลง ลูกหลานของเราก็จะได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี…”
“…การเกษตรยั่งยืนอาจจะดูเป็นสิ่งที่ทวนกระแส สวนกระแส แต่ว่ามันก็ยังมีโอกาส ท่ามกลางวิกฤติโอกาสเหล่านี้ นั่นคือทำอย่างไรที่คนสมัยนี้ซึ่งมีความรู้ความสามารถแตกต่างกันจะมาร่วมมือกันได้…
“หากถามว่าไบโอไดนามิกพูดถึงอะไร พูดถึงการทำเกษตรที่เกี่ยวกับจังหวะพลังชีวิตตามธรรมชาติ
‘ไบโอ’ คือชีวิต ‘ไดนามิก’ คือจังหวะหรือพลัง ถ้าเราทำงานสอดคล้องกับจังหวะธรรมชาติ เช่น ไม่ปลูกพืชฝืนตามฤดูกาล แล้วก็ปลูกพืชแบบให้ใช้พลังจากธรรมชาติมากที่สุด เตรียมดินให้ดี แล้วสามารถใช้แสงอาทิตย์ให้เต็มประสิทธิภาพที่สุด เหล่านี้ก็จะทำให้พืชมีพลังชีวิตที่ดีได้…”
กำแพงดอกขจรสีเขียวชวนรื่นรมย์สบายตา หน้าฝนเขียวชอุ่ม หน้าร้อนออกดอกให้เก็บไปรับประทานได้
อีกทั้งแปลงดอกไม้หลากสีสัน ผักพื้นบ้าน สมุนไพร พืชผักนานาพันธุ์ล้วนถูกเพาะเลี้ยงดูแลอย่างดี สมกับเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเกษตรยั่งยืนที่ได้รับความเชื่อถือมานาน
‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘นคร ลิมปคุปตถาวร’ หรือ ‘ปรินซ์’ ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง ‘บ้านเจ้าชายผัก’ และเป็นผู้ที่ได้รับฉายาจากเพื่อนๆ ในแวดวงเกษตรยั่งยืนว่า ‘เจ้าชายผัก’
เขาจบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการเกษตร ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รวมทั้งการที่มีโอกาสได้ไปดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้นครเกิดแรงบันดาลใจ
มุ่งหวังพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการเกษตรแบบยั่งยืนให้หยั่งรากลึกยิ่งขึ้นในเมืองไทย
ยินดีต้อนรับสู่ ‘บ้านเจ้าชายผัก’ รู้จักกับ ‘ไบโอไดนามิก’ (Biodynamic)
นครกล่าวว่าที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง ‘บ้านเจ้าชายผัก’ มีกิจกรรมหลากหลาย นอกจากที่ผ่านมาจะมีการจัดอบรมปลูกผัก มีการจัดอบรมเรียนรู้หลายเรื่อง เช่น เรื่องการเกษตรแบบที่ไม่ใช้สารเคมี การเกษตรแบบที่ทำให้ดีต่อสุขภาพ ดีต่อพลังชีวิต มีทั้งเกษตรอินทรีย์ เกษตรคุณภาพ รวมทั้งเกษตรชีวพลวัตรหรือไบโอไดนามิก (Biodynamic)
สำหรับ การเกษตรแบบชีวพลวัตรหรือไบโอไดนามิก เป็นการเกษตรยั่งยืนซึ่งแนวคิดดังกล่าว มีมานานแล้ว ก่อนที่จะมีการใช้คำว่าเกษตรยั่งยืนเสียอีก
“แนวคิดของไบโอไดนามิกเป็นแนวคิดแรกๆ เลย นับตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ในสากลไม่ว่าจะเป็นในยุโรปที่เป็นต้นกำเนิดของไบโอไดนามิกหรือในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา ออสเตรเลียและในหลากหลายทวีป หลากหลายประเทศทั่วโลกก็สามารถทำการเกษตรแบบนี้ได้”
หากถามว่าไบโอไดนามิกพูดถึงอะไร นคร กล่าวว่า พูดถึงการทำเกษตรที่เกี่ยวกับจังหวะพลังชีวิตตามธรรมชาติ ไบโอคือชีวิต ไดนามิกคือจังหวะหรือพลัง ถ้าเราทำงานสอดคล้องกับจังหวะธรรมชาติ เช่น ไม่ปลูกพืชฝืนตามฤดูกาล แล้วก็ปลูกพืชแบบให้ใช้พลังจากธรรมชาติมากที่สุด เตรียมดินให้ดี แล้วสามารถใช้แสงอาทิตย์ให้เต็มประสิทธิภาพที่สุด เหล่านี้ก็จะทำให้พืชมีพลังชีวิตที่ดีได้ ซึ่งเครื่องไม้เครื่องมือในระบบไบโอไดนามิกมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตัวยา หรือตำรับยาที่ทำจากธรรมชาติ หรือมูลวัวทำจากสมุนไพรหรือแร่ธาตุธรรมชาติ เช่น แร่ควอตซ์ Quartz ซึ่งเป็นตัวยาที่จะทำให้พืชทำงานกับแสงสว่างและทำงานกับพื้นดินได้ดีมากขึ้น
การปลูกพืชที่คล้อยตามจังหวะธรรมชาติ
“ส่วนหนึ่งก็คือไบโอไดนามิคซึ่งคล้อยตามจังหวะธรรมชาติที่ละเอียดลออ นอกจากจะเลือกปลูกพืชตามฤดูกาลแล้ว ยังเลือกปลูกพืชตามจังหวะเวลาในแต่ละวันด้วย"
"จังหวะในแต่ละวันนั้น เป็นจังหวะของดวงดาว ไม่ว่า ดวงจันทร์ ดวงดาว กลุ่มดาวจักรราศีต่างๆ อยู่ในตำแหน่งไหน แล้วเหมาะกับการเพาะปลูกพืชอะไร อันนี้ก็เป็นแนวทางที่ไบโอไดนามิกนั้น รักษาเอาไว้ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่ของใหม่ เป็นของเดิม แต่ไบโอไดนามิกได้รักษาแนวทางไว้แล้วก็พัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น”
หากถามว่า ทำไมเราจึงควรสนใจเกษตรกรรมยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นคนทุกเพศทุกวัย เนื่องมาจากว่าการเกษตรนั้น ก็คือผืนดินของเรานั่นเอง คือผืนดินที่ก่อเกิดพืชต่างๆ ให้เติบโตขึ้นมา เป็นทั้งอาหารของเรา เป็นทั้งอาหารของสัตว์ต่างๆ ที่เรานำมาบริโภคอีกทีหนึ่ง เกษตรที่ยั่งยืนก็จะอยู่กับเราไปถึงชั่วลูกชั่วหลาน
“เพราะฉะนั้น ถ้าเรา ช่วยกันฟื้นฟูผืนดิน ฟื้นฟูการเกษตร อาหารการกินของเรา สุขภาพของเรา ชีวิตของเรา เมื่อถึงรุ่นถัดๆ ไป ก็จะยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่ การเกษตรยั่งยืนก็เป็นแนวทางและเป็นหลักประกันที่นำไปสู่ความผาสุข ความยั่งยืนในชีวิตของเราต่อไปได้ครับ”
นครกล่าวว่า ปัจจุบัน เขาเป็นที่ปรึกษา ทำงานให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่มีความสนใจในการทำฟาร์มเกษตรยั่งยืน
ในแบบที่เป็นเกษตรธรรมชาติ เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ หรือ เกษตรชีวพลวัตรในแบบต่างๆ เขาก็สามารถให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาได้
ส่วนงานอื่นๆ ทางวิชาการนั้น มีงานไปบรรยายที่ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับประเด็นสุขภาพ
นครกล่าวด้วยว่า นอกจากจะมีเครือข่ายสุขภาพแบบพึ่งตนเองที่เขากับภรรยาทำอยู่แล้วก็มีเครือข่ายของคุณหมอๆ ที่เขาสนใจ มีความต้องการอาหารที่ดี อาหารเพื่อสุขภาพ
การเกษตรที่เขาทำอยู่นี้ก็เป็นหนทางหนึ่งที่นำไปสู่การดูแลการรักษาและเยียวยาสุขภาพ ดูแลสุขภาพให้กลับมาปกติได้ โดยทำงานร่วมกับคุณหมอในอีกหลายพื้นที่ หลายแห่ง
มุ่งหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบชุมชน
นคร กล่าวถึงความมุ่งหวังในอนาคตด้วยว่า “ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มีเครือข่ายที่เหมือนเป็นชุมชนที่เรามีอยู่ แต่เราก็อยากมีชุมชนที่มีพลังในการขับเคลื่อน ในหลายๆ มิติ ที่อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของการเกษตร แต่ยังเป็นเรื่องของเศรษฐกิจแบบชุมชน”
“เศรษฐกิจแบบชุมชนที่มีความสนใจร่วมกัน มีพื้นที่ใกล้เคียงกันหรือห่างกันไปก็เกื้อกูลกันได้ เพราะว่าในปัจจุบันนี้ เราจะพบว่างานขับเคลื่อนต่างๆ ที่เป็นเรื่องของความยั่งยืนหรืองานทางสังคมต่างๆ โดยเฉพาะในระดับชาวบ้าน หรือ ‘ชุมชนเมือง’ ในแบบที่ไม่ใช่ชุมชนที่ร่ำรวยอาจจะขับเคลื่อนได้ยาก
ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีมิติ มีเครื่องไม้เครื่องมือในการขับเคลื่อนที่แตกต่าง”
คำถาม คือ “เราจะพึ่งพาตนเองได้อย่างไร ในเมื่อความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างในประเด็นเรื่องของเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่าง ถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ เราจำเป็นที่จะต้องพัฒนาแนวทางเหล่านี้ขึ้นมาครับ
การเกษตรยั่งยืน อาจจะดูเป็นสิ่งที่ทวนกระแส สวนกระแส
แต่ว่า มันก็ยังมีโอกาส ท่ามกลางวิกฤติโอกาสเหล่านี้ ทำอย่างไรที่คนสมัยนี้ ที่มีความรู้ความสามารถที่แตกต่างกันจะมาร่วมมือกันได้ พูดง่ายๆ คือเปิดให้มาเจอกันได้ในยุคของการสื่อสารไร้พรมแดน”
นครกล่าวว่า “มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ว่องไวและรวดเร็ว มากยิ่งขึ้น
แต่ในความเร็ว ความไวนั้น ก็เป็นทั้งข้อดีและข้อจำกัดในตัวเอง
จะทำอย่างไรให้สิ่งที่ดีและมีคุณค่าในตัวเองเรื่องเกษตรยั่งยืน สามารถเติบโต และขยับขยายเข้าไปสังคมเหล่านี้ได้ ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายตัวผมเองด้วยในอนาคต”
ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง ‘บ้านเจ้าชายผัก’ ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิด
…………
Text and Photo By : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล