xs
xsm
sm
md
lg

"WHO" จับมือประเทศไทย และ 194 ประเทศ เร่งสร้างฉันทมติดันความเสมอภาคสุขภาพช่องปากเป็นวาระโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมสุขภาพช่องปากโลกครั้งแรก (WHO Global Oral Health Meeting) เพื่อให้เป็นเวทีสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ พร้อมเชิญผู้แทนด้านสุขภาพช่องปากและหลักประกันสุขภาพจากประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก กว่า 194 ประเทศร่วมกันผลักดันการประกาศ "ปฏิญญากรุงเทพฯ"

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. แพทย์หญิง อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า "ปัญหาสุขภาพช่องปากเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นความท้าทายระดับโลก ประชากรกว่า 3.5 พันล้านคนทั่วโลก หรือร้อยละ 45 ของประชากรโลกได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพช่องปาก ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนยากจน กลุ่มเปราะบาง หรือผู้ด้อยโอกาส 

ซึ่งมักประสบปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ องค์การอนามัยโลกได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นผู้นำด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งเป็นประเทศต้นแบบด้านสุขภาพช่องปาก และเป็นหนึ่งในประเทศ ที่สนับสนุนมติด้านสุขภาพช่องปากในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก รวมถึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพช่องปากและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติผ่านการจัดประชุมสุขภาพช่องปากโลก (WHO Global Oral Health Meeting) ครั้งแรกของโลกขึ้น เพื่อยกระดับผลลัพธ์ทางสุขภาพ และร่วมกันผลักดันการประกาศ “ปฏิญญากรุงเทพฯ” ซึ่งจะเป็นพันธสัญญาร่วมกันในการสร้างระบบสุขภาพช่องปากที่ยั่งยืนและเท่าเทียม โดยมีผู้เข้าประชุมฯ จากผู้แทนด้านสุขภาพช่องปากและหลักประกันสุขภาพจากประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก กว่า 194 ประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศและผู้เชี่ยวชาญ รวมกว่า 400 ท่าน เข้าร่วมประชุม

“ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้จึงเป็นเวทีสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ มีวัตถุประสงค์ในการผนวกสุขภาพช่องปากให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเร่งรัดความพยายามระดับชาติในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาพ ช่องปาก เพื่อผลักดันการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านสุขภาพช่องปากโลก พ.ศ. 2566-2573 (Global Oral Health Action Plan 2023-2030) ซึ่งเป้าหมายหลักสองประการ ประการแรกคือ ภายใน พ.ศ. 2573 (ปี 2030) ร้อยละ 80 ของประชากรโลกมีสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากที่จำเป็น และประการที่สองคือ ภายใน พ.ศ. 2573 (ปี 2030) ความชุกของการเกิดโรคในช่องปากตลอดชีวิตของประชากรโลก ลดลงร้อยละ 10 ด้วยความมุ่งมั่นให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากที่มีคุณภาพ พร้อมสนับสนุนการป้องกันโรคในช่องปาก เพื่อยกระดับผลลัพธ์ทางสุขภาพต่อไป” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น