xs
xsm
sm
md
lg

ครบ 7 เดือนไฟไหม้โรงงาน "วิน โพรเสส" ระยอง พื้นที่ปนเปื้อนมลพิษร้ายแรงที่รัฐบาลเพิกเฉย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

ทันทีที่ย่างเท้าเข้าไปรัศมีของโรงงาน กลิ่นสารเคมีรุนแรงก็จะลอยมาแตะจมูกทันที ผืนดินที่อยู่ใกล้โรงงานแห่งนี้ส่วนใหญ่ เปลี่ยนจากดินสีดำเป็นสีเหลืองทอง และกินพื้นที่กว้างออกไปจากเดิม บางจุดที่มีร่องรอยของน้ำที่ซึมออกมากลายเป็นสีเขียวสด ดูไม่เหมือนกับดินที่คนทั่วไปเคยเห็น น้ำในบ่อที่มีสภาพเป็นกรดเข้มข้นยังเป็นสีดำสนิท ส่วนเศษซากของอาคารที่ถูกไฟไหม้ ยังมีสภาพไปต่างไปจากเมื่อ 7 เดือนก่อน เสียงหลังคาที่ทำสังกะสีซึ่งถูกเปลวเพลิงทำลายจนเปิดโล่ง ยังถูกลมพัดดังเอี๊ยดอ๊าดอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับถับถังบรรจุสารเคมีขนาด 200 ลิตร และ 1,000 ลิตร ทั้งที่ถูกไฟไหม้และไม่ถูกไฟไหม้ ยังวางอยู่ในจุดเดิม รวมทั้งกองกากอุตสาหกรรมอันตรายที่มีชื่อเรียกว่า อลูมิเนียมดอส ก็ยังกองสูงเป็นภูเขาตระหง่านอยู่เช่นเดิม

อาคารโกดังที่ถูกใช้เป็นสถานที่ลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย ซึ่งมีสถานะเป็นโรงงาน ชื่อ "วิน โพรเสส" ที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ถูกไฟไหม้เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2567 มาถึงวันนี้ (26 พ.ย. 2567) ก็ผ่านมากว่า 7 เดือนแล้ว


“7 เดือน ที่ผ่านมา ไม่ได้ทำอะไรเลย”

สนิท มณีศรี ชาวบ้านหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ผู้ได้รับผลกระทบและเป็นหนึ่งในผู้ร้องเรียนโรงงานแห่งนี้มาตลอดหลายปีตั้งแต่ก่อนไฟไหม้ บอกถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหา ด้วยถ้อบคำสรุปง่ายๆ ว่า “ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งสิ้น” นอกจากการจับกุมดำเนินคดีกับนายโอภาส บุญจันทร์ เจ้าของโรงงาน ซึ่งยังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ

เมื่อถูกตั้งคำถามว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ได้รับการติดต่อหรือได้รับแจ้งความคืบหน้าเพิ่มเติมใดๆ จากหน่วยงานที่รับผิดชอบบ้าง สนิท ตอบรับว่าได้รับแจ้งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ในคำตอบของเขาเคลือบไว้ด้วยด้วยสีหน้าเรียบเฉย

“อุตสาหกรรมมาบอกว่า เดี๋ยวจะเริ่มเข้ามาขนกากออกไปบ้างในช่วงเดือนธันวาคมนี้ครับ แต่ฟังแล้วผมก็ไม่ได้รู้สึกมีความหวังอะไร เพราะเขาบอกแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว ตั้งแต่หลังเกิดไฟไหม้ใหม่ๆ บอกแล้วก็เงียบหายไป แล้วก็หายไปนานขึ้นเรื่อยๆ”


หลังจากชาวบ้านพยายามต่อสู้ร้องเรียนมาหลายปี เพื่อขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งกำจัดของเสียอันตรายใน “วิน โพรเสส” ออกไป โดยเฉพาะตั้งแต่เริ่มมีผลกระทบกับพืชผลและแหล่งน้ำอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2562 มีหน่วยงานต่างๆ ลงมาตรวจสอบหลายครั้ง ไปจนถึงการที่ชาวหนองพะวา 15 คน ตัดสินใจฟ้องร้องคดีทางแพ่งให้โรงงานชดเชยค่าเสียหาย และศาลพิพากษาให้โรงงานต้องจ่ายเงินชดเชยเยียวยารวม 20.8 ล้านบาท แต่เสียงของชาวบ้านก็ยังไม่ดังมากพอที่จะทำให้ปัญหาของพวกเขาได้รับการแก้ไข ทั้ง 15 คน ยังไม่ได้เงินตามคำพิพากษามาแต่บาทเดียว ของเสียอันตรายในโรงงานยังอยู่ที่เดิม ...

จนกระทั่งเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เมื่อ 22 เม.ย. 2567 ไฟโหมลุกไหม้สารเคมีนานาชนิดอยู่หลายวัน ควันสีดำและเสียงถังสารเคมีระเบิดดังต่อเนื่องแทบจะทุกวินาที จึงทำให้ชื่อของ “วิน โพรเสส” และ “ความเดือดร้อนของคนหนองพะวา” ได้รับความสนใจจากทุกหน่วยงาน และเหตุการณ์เลวร้ายครั้งนั้น ก็กลายเป็นความหวังของชาวบ้านว่าอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ภาครัฐต้องเร่งแก้ปัญหาให้พวกเขาทันที ... แต่ความหวังนั้นดูเหมือนจะเลือนรางลงไปทุกที ด้วยคำอธิบายซ้ำซากว่า “ติดขัดที่ระบบราชการ ไม่มีงบประมาณนำมาแก้ไข บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ โรงงานไม่เหลือเงินในบัญชีเลย ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย”

“ผมมั่นใจว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาที่นี่หมดแล้ว กรมโรงงานฯ กรมควบคุมมลพิษ กรมน้ำบาดาล สาธารณสุข ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองท้องถิ่น ตำรวจ กรรมการสิทธิมนุษยชน หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบทุจริต ทุกหน่วยลงมาดูหมดแล้ว”

“รัฐมนตรีอุตสาหกรรมก็มาแล้ว ทั้งรัฐมนตรีคนเก่าและรัฐมนตรีคนใหม่ นายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน) ในขณะนั้นก็มาแล้ว นายกฯ ก็สั่งการให้เร่งแก้ ให้เอาของเสียไปกำจัด รัฐมนตรีก็สั่งการ แต่เหลือเชื่อมั้ยครับว่า ผ่านมา 7 เดือนแล้ว ของทุกอย่างในโรงงานยังอยู่ในสภาพเดิม ราวกับคำสั่งของผู้มีอำนาจสูงสุดในบ้านเมืองไม่มีราคาค่างวดอะไรเลย ... และอีกไม่นานชาวบ้านก็จะได้ข่าวใหม่ว่า เดี๋ยวจะทำ เป็นเรื่องเดิมซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ”

“แต่จริงๆ แล้ว จะบอกว่า เหมือนเดิมทุกอย่างก็ไม่ถูกนะครับ ... ที่ถูกควรจะต้องบอกว่า มันแย่กว่าเดิม” สนิท เปลี่ยนคำพูดของเขา พร้อมกับเดินเข้าไปชี้ที่ถังบรรจุสารเคมีขนาด 1,000 ลิตรจำนวนมาก ที่อยู่ในจุดที่ยังไม่ถูกไฟไหม้


และเมื่อตามเข้าไปสังเกตใกล้ๆ ก็พบว่า ถังขนาด 1,000 ลิตร ที่วางเรียงรายอยู่หลายร้อยใบภายใต้โครงเหล็ก บางส่วนมีสภาพบุบบู้บี้ บางถังถึงขนาดเปลี่ยนรูปจนเพี้ยนไปจากที่เคยเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม และมีจำนวนมากที่มีรอยแตก สารเคมีที่อยู่ด้านในรั่วซึมออกมาในบางถังด้วย

“นี่คือสิ่งที่แย่กว่าเดิมครับ ชาวบ้านเราเข้ามาสำรวจดูอยู่เรื่อยๆ เราพบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับถังพวกนี้ มันบุบ เปราะบาง และกำลังจะแตก ถ้ายังปล่อยไว้แบบนี้ไปเรื่อยๆ มันจะต้องทยอยแตกอย่างแน่นอน และสารเคมีก็รั่วไหลออกมาปนเปื้อนมากขึ้นไปอีก”

“ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรงงานหรือสารเคมี แต่มาที่นี่บ่อยมาก ผมบอกได้เลยว่า สภาพของถังที่เราเห็นตอนนี้อาจจะไม่สามารถขนย้ายด้วยการยกไปทั้งถังได้แล้วด้วยซ้ำ น่าจะต้องมีกระบวนการดูดเอาของเหลวในถังออกไปก่อน เพราะถ้ายกไปทั้งถัง มันจะต้องแตกระหว่างยกอย่างแน่นอน” สนิท วิเคราะห์สถานการณ์จากสภาพที่เขาคอยสังเกตมาตลอด 7 เดือน

“ไอ้ตอนที่ถังยังไม่แตก ยังขนย้ายได้ง่ายๆ เขาก็ยังไม่ทำเพราะบอกว่าไม่มีงบประมาณ แล้วถ้าจะทำหลังจากนี้ จะต้องมาเพิ่มขั้นตอนการดูดของเหลวออก ก็จะมีเงื่อนไขอีกว่า จะต้องใช้เงินมากกว่าเดิม ... คิดไม่ออกเลยว่า เมื่อไหร่จะได้ทำ” สนิท กล่าวลอยๆ ด้วยแววตาที่เรียบเฉยเช่นเดิม






































กำลังโหลดความคิดเห็น