xs
xsm
sm
md
lg

กรมอุตุฯ เผยอาจได้สัมผัสอากาศเย็น 2-3 วัน เตือนภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกสะสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 25 พ.ย.-4 ธ.ค. 67 เผยพอมีความหวังได้สัมผัสอากาศเย็นถึงหนาว 2-3 วัน เตือนภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกสะสมอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

วันนี้ (25 พ.ย.) กรมอุตุนิยมวิทยาอัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 25 พ.ย.-4 ธ.ค. 67 init. 2024112412 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) (วิเคราะห์ตามผลจากแบบจำลองฯ) เฉดสีแดงหมายถึงฝนหนัก สีเขียวหมายถึงฝนเล็กน้อย

ช่วง 25-26 พ.ย. 67 มวลอากาศเย็นยังคงแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ลมหนาว) ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย แต่มีกำลังอ่อนลงบ้าง และมีลมตะวันออก ตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความชื้นพัดปกคลุมบางเวลา ตอนเช้าอากาศเย็น และมีหมอกบางพื้นที่ กลางวันเมฆบางส่วนอากาศร้อน ยอดดอย ยอดภู อากาศเย็นถึงหนาว

ส่วนภาคใต้ ตั้งแต่ จ.ชุมพรลงไปยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ต้องเฝ้าระวังฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และอาจจะยาวไปถึงสิ้นเดือน สภาวะฝนมีตกหนักเบาสลับกัน คลื่นลมแรงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ส่วนมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางยังคงแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้เป็นระลอกๆ ลมหนาวพัดเป็นระบบมากขึ้น

ช่วง 27 พ.ย.-4 ธ.ค. 67 มวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมอีกระลอก ทำให้ลมหนาวจะพัดแรงขึ้น อากาศจะเริ่มเย็นลงในตอนเช้า อุณหภูมิลดลงมากหน่อยบริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ส่วนภาคอื่นๆ ลดลงเช่นกัน และมีลมแรง

พอมีความหวังได้สัมผัสอากาศเย็นถึงหนาว 2-3 วัน ฝนมีน้อยลงบริเวณประเทศไทยตอนบน แสงแดดแรงในช่วงกลางวัน วางแผนเดินทางท่องเที่ยว สัมผัสอากาศเย็นถึงหนาว ได้ในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก (บางพื้นที่) ระมัดระวังรักษาสุขภาพช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง และระวังอัคคีภัยจากลมแรง

ส่วนภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ฝนจะกลับมาเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง และคลื่นลมแรงขึ้น เตรียมรับมือกันอีกช่วง

(ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามข้อมูลนำเข้าและประมวลผลใหม่ ใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจและติดตามสภาพอากาศ )




กำลังโหลดความคิดเห็น