“ทนายตั้ม” นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ส่อโดนอีกคดีหลังพบมีการทำลายพินัยกรรมของพี่อ้อย นักกฎหมายออกมาเผยเอง พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 188 เสี่ยงคุก 5 ปี
วันนี้ (25 พ.ย.) ราการ "สนธิเล่าเรื่อง" ออกอากาศทางช่องยูทูบคุยทุกเรื่องกับสนธิ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ดำเนินรายการกล่าวถึงกรณีพฤติกรรมในการฉ้อโกงของ “ทนายตั้ม” นายษิทรา เบี้ยบังเกิด ต่อ “พี่อ้อย” นางจตุพร อุบลเลิศ อดีตลูกความว่า
เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร นายอาคม คงสวัสดิ์ หรือ “ทนายอาคม” ได้เข้าเยี่ยม นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ “ทนายตั้ม” กรณีแต่งตั้งนายอาคมเป็นทนายความดูแลคดีให้ นางปทิตตา เบี้ยบังเกิด หรือเดือน ภรรยาของทนายตั้ม กรณีฉ้อโกงเงิน “พี่อ้อย” จตุพร อุบลเลิศ คิดเป็นมูลค่านับร้อยล้านบาท
โดยตอนหนึ่งนายอาคมให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพินัยกรรมของ “พี่อ้อย” จตุพร อุบลเลิศ โดยระบุว่า “ทนายตั้ม” ษิทรา ยอมรับว่ามีชื่อตัวเองเป็นผู้จัดการมรดกจริง แต่จำไม่ได้ว่าเป็นฉบับที่ 1 หรือฉบับที่ 2 เนื่องจากมีการแก้ไขหลายครั้ง อีกทั้ง “ทนายตั้ม ษิทรา” อ้างว่าได้ฉีกทำลายพินัยกรรมไปแล้ว แต่ไม่ทราบฉบับไหน
ประเด็นข้อเท็จจริงเรื่องพินัยกรรมของพี่อ้อย จตุพร และข้อพิรุธต่างๆ รวมไปถึงการใส่ชื่อตัวเองเป็นผู้จัดการมรดก, การชวนไปเที่ยวที่ไกลๆ เช่น จังหวัดเชียงราย, เขื่อนเชี่ยวหลาน รวมไปถึงการแอบติด GPS ในรถเมอร์เซเดสเบนซ์ G400d ที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้เปิดออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรื่องดังกล่าวจริงๆ มิใช่ ข้อสังเกต หรือข้อสงสัย เกี่ยวกับพฤติกรรมฉ้อโกงเป็นปกติธุระของ “ทนายตั้ม ษิทรา” เท่านั้น
เพราะล่าสุดมี “นักกฎหมาย” ออกมาชี้ให้เห็นแล้วว่า การที่ “พี่อ้อย” จตุพร พยายามทวงถาม “พินัยกรรม” ฉบับที่ 2 ที่มีชื่อ “ทนายตั้ม” ษิทรา เป็นผู้จัดการมรดกคืน แต่นายษิทราก็ไม่ยอมให้คืน โดยอ้างว่าได้เพิกถอน และทำลายไปหมดแล้วนั้น เป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาอย่างชัดเจน โดยที่ว่านั้นคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ที่ระบุไว้ว่า
“ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท”
ทั้งนี้ นักกฎหมายที่ออกมาชี้ให้เห็นเรื่องดังกล่าวก็คือ ทนายนิทัศน์ ประเสริฐเนติกุล ที่พูดเลยว่า
“อย่าลืมนะครับว่า แม้พินัยกรรมจะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่อาจจะเอามาเป็นข้ออ้างหรือเอามาใช้อะไรก็ได้ แล้วคนที่จะเกิดความเสียหายก็คือ คุณอ้อย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดก็คือ มันต้องคืนเขา คืนคุณอ้อย แล้วให้คุณอ้อยไปทำลาย หรือคุณอ้อยยินยอมให้ทำลายต่อหน้า เช่น หยิบมาฉีกทิ้งกันต่อหน้า ไม่เป็นไร แต่การที่คุณอ้อยเจตนาที่จะเอาพินัยกรรมฉบับนี้คืน แต่ (ทนายตั้ม) อ้างว่าเอาไปฉีกทำลายทิ้ง โดยไม่ได้ขอ หรือได้รับความยินยอม หรืออนุญาตจากคุณอ้อย มันเข้าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 188 อย่างชัดเจน” (สนธิเล่าเรื่อง - “ตั้ม” ทำลาย “พินัยกรรมพี่อ้อย” เสี่ยงคุก !?! 25-11-67)
ด้วยเหตุนี้ นายสนธิจึงระบุด้วยว่า เรื่องความสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 188 ของ “ทนายตั้ม” ษิทรา นั้นค่อนข้างชัดเจน และอาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาเพิ่มเติมได้อีก ทั้งนี้ ตนไม่เข้าใจเช่นกันว่าหากนายษิทราในฐานะที่เป็นทนาย รวมถึงนายอาคมด้วย ทำไมจึงไม่รู้ว่าการกระทำดังกล่าวของนายษิทรานั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญา หากรู้แล้วทำไมจึงลงมือทำอีก?