xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยหมอบุญ จ้อสื่อทุ่ม 1.6 หมื่นล้านรุกธุรกิจเฮลท์แคร์ สุดท้ายฉ้อโกง-ฟอกเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถอดบทเรียนนักลงทุน หมอบุญคนดี ฮีโร่ของคนไทย อัศวินม้าขาวผู้จัดหาวัคซีนไฟเซอร์ทิพย์ เคยออกฐานเศรษฐกิจเมื่อ 2 ปีก่อน เตรียมแผนลงทุน 1.6 หมื่นล้าน สยายปีกลงทุนรับอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์โตแรง ทั้งศูนย์มะเร็งย่านปิ่นเกล้า เวลเนสเซ็นเตอร์ย่านพระราม 3 รพ.ในลาวและเวียดนาม ทำนักธุรกิจชั้นนำระดับประเทศ และหมอหลายร้อยรายลงทุน สุดท้ายหนี สูญเงิน 7,500 ล้านบาท

วันนี้ (23 พ.ย.) จากกรณีที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ขออนุมัติศาลอาญาออกหมายจับ นพ.บุญ วนาสิน อายุ 86 ปี ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลธนบุรี ตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 5645/2567 ลงวันที่ 22 พ.ย. 2567 ข้อหา ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ, สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันฟอกเงิน, ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และธนาคารปฏิเสธไม่ให้ใช้เงินตามเช็คนั้น พร้อมด้วย นางจารุวรรณ วนาสิน อายุ 79 ปี ภรรยาของ นพ.บุญ น.ส.นลิน วนาสิน อายุ 51 ปี บุตรสาวของ นพ.บุญ และพวก รวม 9 คน โดยพบว่า นพ.บุญเดินทางออกนอกประเทศเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2567 เวลา 14.25 น. โดยสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค เที่ยวบินที่ CX712 ไปยังฮ่องกง

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,842 วันที่ 8-10 ธ.ค. 2565 หน้า 15 ตีพิมพ์ข่าวพาดหัว "‘หมอบุญ’ ทุ่ม 1.6 หมื่นล้าน รุกธุรกิจเฮลท์แคร์ ไทย-ต่างประเทศ" โดยเนื้อหาข่าวระบุว่า “หมอบุญ” เปิดแผนลงทุนปี 66 ทุ่มงบกว่า 1.6 หมื่นล้าน สยายปีกลงทุนรับอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์โตแรง ทั้งศูนย์มะเร็งย่านปิ่นเกล้า, เวลเนส เซ็นเตอร์ย่านพระราม 3, รพ.ใน สปป.ลาว และเวียดนาม

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด (TMG) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2566 บริษัทเตรียมแผนลงทุนต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยการสร้างศูนย์มะเร็งที่ทันสมัยที่สุดในเอเชีย ตั้งอยู่บนพื้นที่ 7 ไร่ ติดถนนใหญ่ ย่านปิ่นเกล้า ใช้งบลงทุนราว 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นความร่วมมือกับกลุ่มบริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด (มหาชน) หรือ CMC ซึ่งที่นี่จะมีศูนย์ดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยหลังผ่าตัดและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจร โดยศูนย์มะเร็งแห่งนี้จะให้บริการรักษามะเร็งแบบองค์รวม ตั้งแต่ขั้นค้นหา ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง (Cancer Screening) เช่น การตรวจพันธุกรรม การใช้ X-Ray MRI CT Scan ความเร็วสูง การวินิจฉัยโรค และการจัดระยะของโรคมะเร็ง (Staging) จาก Tumor Board

ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการวางแผนการรักษา ด้านเคมีบำบัด ด้านค้นหาพันธุกรรมเพื่อพิจารณาใช้ยา (Targeted Gene Therapy (HyperPersonalize Medicine) การฉายแสงด้วยเครื่องเร่งอนุภาค Linac หรือ Proton Beam รวมถึงการผ่าตัดด้วยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละโรค รักษามะเร็งด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone Marrow Transplantation)

โดยการปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อรักษามะเร็งเม็ดเลือดจะทำร่วมกับการฉายแสงเพื่อหยุดการทำงานของไขกระดูก และเป็นการใช้เซลล์สร้างเม็ดเลือดปลูกถ่ายเข้าไปในไขกระดูกเพื่อรักษามะเร็งเม็ดเลือด และโรคเลือดต่างๆ ตลอดจนการดูแลผู้ป่วยที่ครบวงจรทั้งด้านสุขภาพ (wellness) อาหารและยา ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถในการรักษามะเร็งโดยการใช้อาหารและวิตามิน

นอกจากนี้ จะร่วมกันศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการร่วมทุนสร้างศูนย์ให้บริการการรักษาด้านอื่นๆ เช่น ศูนย์รักษาจอประสาทตา ซึ่งรวบรวมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อแก้ปัญหาด้านจอประสาทตาที่ผันตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ รวมถึงโรคเรื้อรังต่างๆ ที่นำไปสู่การลดทอนความสามารถในการมองเห็นของจอประสาทตา โดยจะเริ่มก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2-3 ปีข้างหน้า

อีกโครงการเป็นโครงการศูนย์ดูแลสุขภาพ หรือเวลเนส เซ็นเตอร์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 5 ไร่เศษ ย่านพระราม 3 ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยก่อสร้างเป็นอาคารสูง 52 ชั้น รองรับกลุ่มผู้สูงอายุ จำนวน 400 ห้อง พร้อมศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจร บริหารจัดการโดยบมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ใช้งบลงทุนทั้งหมดราว 4,000-5,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีแผนลงทุนตั้งโรงพยาบาลใน สปป.ลาวอีก 3 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลในเวียงจันทน์ 2 แห่ง ขนาด 150 เตียงและ 200 เตียง พร้อมศูนย์มะเร็ง และในจำปาสัก 1 แห่ง ใช้งบลงทุนรวม 2,000 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้ร่วมทุนกับดาวเรือง กรุ๊ป จัดทำ Lao Duty Free 4-5 แห่งใน สปป.ลาวด้วย

นพ.บุญกล่าวอีกว่า นอกจาก สปป.ลาวแล้ว บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าร่วมทุนกับโรงพยาบาลในประเทศเวียดนาม จากก่อนหน้านี้ที่รับบริหารจัดการให้ ทำให้มองเห็นโอกาสและศักยภาพในการเติบโต รองรับกับเศรษฐกิจของเวียดนามที่เติบโตต่อเนื่องและรวดเร็ว ทำให้บริษัทสนใจเข้าร่วมทุน ซึ่งหลังจากที่เจรจามานาน 2 ปี คาดว่าจะสรุปได้ในปีหน้า ทำให้บริษัทต้องเตรียมใช้เงินลงทุนอีก 4,000-5,000 ล้านบาท

“การลงทุนในวันนี้ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของ TMG เมื่อลงทุนเสร็จจะให้ THG เข้ามาช่วยบริหารเพราะมีความชำนาญ มีแพทย์และพยาบาลที่เชี่ยวชาญมากกว่า อีกทั้งยังคล่องตัวกว่า ขณะเดียวกันก็จะมีการลงทุนต่อเนื่องในโรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมือง ซึ่งล่าสุดได้ลงทุนจัดตั้ง “TH Health” ทำหน้าที่โลจิสติกส์ ดูแลด้านการจัดซื้อยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ พร้อมกระจายจัดส่งให้กับบริษัทในรูปแบบ B2B รวมถึงผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาด้วย”

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ถือเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่ง เพราะปีหน้าที่แนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย การจะดำเนินธุรกิจแบบปกติคงไม่ได้ ต้องปรับเปลี่ยนทุกอย่างเพื่อให้ได้ไปต่อ โดยสิ่งสำคัญที่จะเข้ามาคือเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งวันนี้เราลงทุนไปมาก แต่ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องของ บุคลากร

โดยเฉพาะด้านไอที ที่ขาดแคลนมาก ซึ่งวันนี้บริษัทใช้งบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ในการสร้าง medical intelligence เพื่อทำหน้าที่บริหารด้านไอทีให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อลดต้นทุนและปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญต่อ 3 สิ่ง คือ 1. คุณภาพ 2. ราคา และ 3. บริการ

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2567 หลังจากที่มีผลประกอบการที่ดีและมีกำไรกว่า 700 ล้านบาทในปี 2566 และเพิ่มเป็นกว่า 1,000 ล้านบาทในปีถัดไป"


อย่างไรก็ตาม ในการนำเสนอข่าวซึ่งมีอินโฟกราฟิกหัวข้อ "สยายปีกลงทุน" พบว่าในเอกสารประกอบการนำเสนอข่าวจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้นำมาประกอบข่าวเพื่อให้เห็นว่าเป็นเครือข่ายผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชน ประกอบด้วย 1. โครงการศูนย์มะเร็งย่านปิ่นเกล้า 2. เวลเนสเซ็นเตอร์ ย่านพระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 3. โรงพยาบาลใน สปป.ลาว 4. เจรจาเข้าร่วมทุนโรงพยาบาลในเวียดนาม 5. สร้าง Medical Intelligen ทำหน้าที่ด้านไอที ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท โดยแบ่งผู้ต้องหาออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ครอบครัว 2. เลขานุการและผู้จัดการ 3. โบรกเกอร์และผู้ชักชวนลงทุน


สำหรับพฤติการณ์การออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 9 ราย เนื่องจากก่อนหน้านี้ ในห้วงวันที่ 2-4 ก.พ. 2566 นพ.บุญได้สร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวเอง โดยออกสื่อสาธารณะแพร่ข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์สาธารณะ โดยกล่าวอ้างการลงทุนที่น่าสนใจ จำนวน 5 โครงการ จากนั้นจึงมีผู้เสียหายซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจชั้นนำระดับประเทศ และบุคลากรวงการแพทย์หลายร้อยราย หลงเชื่อเพราะ นพ.บุญ และครอบครัวมีบริษัทหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหลายแห่ง จึงเข้าร่วมลงทุน ผ่านการติดต่อจากตัวแทน (โบรกเกอร์) บริษัทหลักทรัพย์ เป็นตัวแทนการระดมเงินลงทุนให้ นพ.บุญ และครอบครัว ตลอดจนการลงทุนในลักษณะโครงการที่เสนอให้ลงทุนในรูปแบบที่ นพ.บุญทำสัญญากู้ยืมเงินโดยให้ดอกเบี้ยกับผู้เสียหาย และได้จ่ายเช็คให้ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ พร้อมทั้งเช็คเพื่อชำระค่าดอกเบี้ยล่วงหน้าในชื่อ นพ.บุญ วนาสิน พร้อมทั้งมี นางจารุวรรณ วนาสิน และนางณวรา วนาสิน บุคคลในครอบครัวเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญา

นอกจากนี้ นางจารุวรรณ และนางณวรา ทั้งสองคนยังเซ็นสลักหลังในเช็คทุกใบของ นพ.บุญ มอบให้แก่ผู้ให้กู้ โดยในช่วงแรกมีการให้ดอกเบี้ย แต่ต่อมาไม่มีการชำระแต่อย่างใด ในส่วนเช็คที่ออกไว้ เมื่อผู้เสียหายนำเช็คไปขึ้นเงินตามวันเวลาที่สั่งจ่าย ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จนกระทั่งต่อมาจากการตรวจสอบ พบว่า นพ.บุญได้เดินทางออกไปจากประเทศไทย ในวันที่ 29 ก.ย. 67 เวลา 14.25 น. โดยสายการบินคาเธย์ฯ ออกไปประเทศจีน โดยมีพฤติการณ์หลบหนี ซึ่งในกรณีตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค. 66 ถึง ต.ค. 67 มีกลุ่มผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค 2534 แล้วจำนวน 527 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 7,564,433,637 บาท

อนึ่ง นพ.บุญเคยถูกยกย่องจากสังคมไทยส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นผลมาจากนักการเมืองบางพรรค สื่อมวลชนกระแสหลักบางค่ายของประเทศไทย และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังในประเทศไทย ต่างยกย่องในฐานะที่ นพ.บุญเป็นผู้ประกาศตนว่าจะจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ชนิด MRNA ที่สังคมไทยส่วนหนึ่งถูกทำให้เชื่อว่าเป็นวัคซีนที่ดีที่สุด จำนวน 20 ล้านโดส แต่สุดท้ายนอกจากไม่มีการลงนามในสัญญานำเข้าวัคซีนภายในเดือนดังกล่าวจริงแล้ว ในช่วงที่เป็นข่าวเคยทำให้มีผลต่อหุ้น THG สุดท้ายเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ลงโทษทางแพ่ง นพ.บุญ ในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ คือ 2 ล้านบาท และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดเป็นเงิน 2,348,834 บาท และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 42 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น