กลุ่มจี 20 (G20) ซึ่งมีสมาชิกเป็นประเทศและภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก ถือเป็นเวทีสำคัญที่โลกจับตามอง ณ ห้วงยามเผชิญความวุ่นวายและวิกฤตทางเศรษฐกิจระดับโลก
สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้สนับสนุนความพยายามร่วมกันของกลุ่มจี 20 ในการดำเนินการตามเจตนารมณ์ “ล่องเรือลำเดียวกัน” และร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง
ครั้งหนึ่งสีจิ้นผิงกล่าวว่าสมาชิกกลุ่มจี 20 ควรแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค และควรเป็นตัวอย่างในการส่งเสริมการพัฒนาของทุกประเทศ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติ และขับเคลื่อนความก้าวหน้าของโลกทั้งใบ
ทั้งนี้ สีจิ้นผิงได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 20 ครั้งที่ 19 ในบราซิล ที่ซึ่งประชาคมระหว่างประเทศจับจ้องสนใจว่ากลุ่มจี 20 จะจัดการกับความไม่แน่นอนที่โลกกำลังประสบพบเจออย่างไร โดยเฉพาะจีนจะนำเสนอแนวทางอะไรเพื่อสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้น
ลุกขึ้นเผชิญความท้าทาย
เมื่อครั้งคณะผู้นำกลุ่มจี 20 เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งแรกที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในเดือนพฤศจิกายน 2008 พวกเขากำลังดิ้นรนต่อสู้กับการล่มสลายทางการเงินระดับโลกที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทว่าความพยายามร่วมกันของกลุ่มจี 20 ได้ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจโลกออกจากหุบเหวจนเข้าสู่วิถีการฟื้นตัว
ขณะช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้ร่วมมือกับสมาชิกกลุ่มจี 20 ในการแก้ไขวิกฤตใหญ่อีกหนึ่งประการ โรคระบาดใหญ่ที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบศตวรรษ และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งการต่อสู้ครั้งนี้ลำบากยากเย็นกว่าเดิม และสีจิ้นผิงมองว่าส่งผลกระทบเลวร้ายยิ่งกว่าห้วงมหาภัยในปี 2008
สีจิ้นผิงเรียกร้องสมาชิกกลุ่มจี 20 ลุกขึ้นเผชิญความท้าทาย เพิ่มการประสานนโยบายเศรษฐกิจมหภาคระหว่างประเทศ ร่วมรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และลดทอนกำแพงการค้า รวมถึงกำแพงภาษีศุลกากร เพื่อชุบชูการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกในยุคหลังโรคระบาดใหญ่
“สิ่งสำคัญคือเราต้องจัดยาให้ถูกกับอาการและรากเหง้าของปัญหาที่กำลังเผชิญ” สีจิ้นผิงกล่าวที่การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 20 ในปี 2021
หลูเฟิง ศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มองว่ามาตรการแบบหลากหลายแนวทางของสีจิ้นผิงมีความเป็นระบบ ความครอบคลุม และจุดรวมศูนย์ ทำให้ชุดเครื่องมือทางนโยบายของกลุ่มจี 20 สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมกำกับดูแลเศรษฐกิจโลกเชิงรุกและมองการณ์ไกลยิ่งขึ้น
หนึ่งในปัญหาหลักที่สมาชิกกลุ่มจี 20 ร่วมแก้ไขคือภาระหนี้สินที่รีดเค้นทรัพยากรของกลุ่มประเทศรายได้ต่ำในการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่และคุ้มครองชีวิต โดยเดือนเมษายน 2020 กลุ่มจี 20 ประกาศแผนริเริ่มผัดผ่อนการชำระหนี้สิน (DSSI) เพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศเปราะบาง ซึ่งถือเป็นตาข่ายความมั่นคงทางการเงินพิเศษที่ดำเนินงานจนถึงเดือนธันวาคม 2021
จีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิงได้ดำเนินการตามแผนริเริ่มผัดผ่อนการชำระหนี้สินของกลุ่มจี 20 ในทุกด้าน และระงับการชำระหนี้สินที่คิดเป็นมูลค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับเหล่าสมาชิกกลุ่มจี 20 ด้วยกัน
รายงานจากโครงการริเริ่มวิจัยจีน-แอฟริกา (CARI) ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งทำความเข้าใจมิติทางการเมืองและเศรษฐกิจของความสัมพันธ์จีน-แอฟริกา ระบุว่าจีนดำเนินบทบาทของตัวเองได้ค่อนข้างดีในการช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศต่างๆ ในแอฟริกา สมกับการเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความรับผิดชอบของกลุ่มจี 20
สร้างสวนเพื่อทุกคน
สีจิ้นผิงนั้นสนับสนุนกิจการการพัฒนาร่วมกันอย่างเสมอต้นเสมอปลาย แสดงความมุ่งมั่นว่าจีนจะสร้าง “สวนเพื่อทุกประเทศ” โดยสีจิ้นผิงเคยกล่าวว่า “งานของกลุ่มจี 20 ไม่ใช่เพียงสร้างผลประโยชน์แก่สมาชิกทั้งยี่สิบรายเท่านั้น แต่เพื่อโลกทั้งใบ”
ผู้นำจีนสนับสนุนการมีสิทธิในการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยสีจิ้นผิงยืนกรานว่าการพัฒนาจะกลายเป็นจริงเมื่อทุกประเทศพัฒนาไปด้วยกันเท่านั้น และผู้อยู่แถวหน้าควรช่วยเหลือผู้อื่นพัฒนาอย่างจริงใจ
เดือนกันยายน 2016 สีจิ้นผิงเป็นประธานการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 20 ในนครหางโจว มณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน โดยจีนเชิญกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเข้าร่วมมากกว่าการประชุมทุกครั้งก่อนหน้า และเปลี่ยนแปลงจุดสนใจของกลุ่มจี 20 จากการรับมือวิกฤตระยะสั้นเป็นธรรมาภิบาลระยะยาว
การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 20 ในนครหางโจวได้เกิดแบบอย่างอันมีอิทธิพลต่อการพัฒนาภายหลัง 3 ประการ โดยการพัฒนากลายเป็นส่วนสำคัญในกรอบนโยบายมหภาคระดับโลกครั้งแรก มีการรับรองแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 และกลุ่มจี 20 สนับสนุนการสร้างความเป็นอุตสาหกรรมในแอฟริกาและกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งสีจิ้นผิงชี้ว่าแบบอย่างทั้งสามเป็นการดำเนินการอันมีนัยสำคัญโดดเด่น
สีจิ้นผิงยังสนับสนุนการเพิ่มบทบาทการเป็นตัวแทนของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแห่งอื่นๆ ในระบบธรรมาภิบาลเศรษฐกิจโลก เพื่อช่วยเหลือประเทศเหล่านี้พานพบปณิธานการพัฒนาของตัวเอง โดยแม้ประเทศซีกโลกใต้ (Global South) มีความโดดเด่นเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนายังคงมีบทบาทน้อยในธรรมาภิบาลโลก
สวีเฟยเปียว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) และกลุ่มจี 20 ประจำสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยแห่งประเทศจีน (CICIR) กล่าวว่าระบบธรรมาภิบาลโลกที่ครอบงำโดยชาติตะวันตกมีความไม่ยุติธรรมอย่างเห็นได้ชัด ขัดขวางความมั่นคงของโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ณ การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 20 ในจังหวัดบาหลีของอินโดนีเซียเมื่อปี 2022 จีนเป็นผู้นำการสนับสนุนสหภาพแอฟริกา (AU) เข้าร่วมกลุ่มจี 20 โดยการหารือนอกรอบการประชุมสุดยอดครั้งนั้น แม็กกี แซลล์ ประธานาธิบดีเซเนกัลในตอนนั้น ซึ่งเป็นประธานสหภาพแอฟริกาในปีนั้น ขอบคุณสีจิ้นผิงที่เป็นคนแรกที่สนับสนุนสหภาพแอฟริกาเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มจี 20 อย่างเปิดเผย ทำให้สหภาพแอฟริกากลายเป็นองค์กรระดับภูมิภาคแห่งที่ 2 ต่อจากสหภาพยุโรป (EU) ที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกถาวรของกลุ่มจี 20 ในปี 2023
ปิแอร์ เดอเฟรน กรรมการบริหารมูลนิธิยุโรปแห่งมาดาเรียกา เคยแสดงความคิดเห็นว่าคุณูปการของสีจิ้นผิงต่อกลุ่มจี 20 เป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ระยะยาวอันว่าด้วย “ระเบียบโลกที่ยุติธรรมยิ่งขึ้น เป็นหนึ่งเดียวกันยิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยั่งยืนยิ่งขึ้น”
สร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้นร่วมกัน
“เกิดความผิดปกติอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ เราควรแก้ไขมันอย่างไร” สีจิ้นผิงตั้งคำถามแห่งยุคสมัย ณ การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 20 ในจังหวัดบาหลี หลังจากเคยตั้งคำถามนี้ครั้งแรกที่การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ในเมืองดาวอสของสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2017
“เศรษฐกิจโลกกำลังเปราะบางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ยังคงตึงเครียด ธรรมาภิบาลโลกตกต่ำอย่างรุนแรง วิกฤตอาหารและพลังงานผสมปนเปกัน ทั้งหมดนี้กลายเป็นความท้าทายอันน่าสะพรึงกลัวต่อการพัฒนาของเรา” สีจิ้นผิงกล่าว
กลุ่มจี 20 ครองสัดส่วนประชากรโลกราวสองในสาม ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลกเกือบร้อยละ 90 และการค้าทั่วโลกราวร้อยละ 80 ทำให้สีจิ้นผิงมองว่ากลุ่มจี 20 มีหน้าที่ดำเนินบทบาทนำในการประคับประคองโลกฟันฝ่ากระแสคลื่นแห่งความยากลำบากและสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้นแก่มนุษยชาติ
สวี นักวิชาการประจำสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยแห่งประเทศจีน กล่าวว่ายามเผชิญสารพัดความท้าทายระดับโลก ทุกประเทศต่างลงเรือลำเดียวกัน ทางออกเดียวคือทำงานร่วมกันและเสริมสร้างความร่วมมือ โดยตราบเท่าที่สมาชิกกลุ่มจี 20 ยืนเคียงข้างกันย่อมมีหวังในการแก้ไขปัญหาระดับโลก
ด้วยฐานะผู้นำประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก สีจิ้นผิงพูดแล้วทำเสมอ และแม้ลัทธิกีดกันทางการค้าพุ่งทะยานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่สีจิ้นผิงยังคงยืนหยัดปกป้องโลกาภิวัฒน์และสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง
ณ การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 20 ในจังหวัดโอซากาของญี่ปุ่นเมื่อปี 2019 สีจิ้นผิงประกาศมาตรการสำคัญ 5 ประการ เพื่อเปิดกว้างตลาดจีนยิ่งขึ้น เช่น เพิ่มการนำเข้าและกำกับควบคุมธุรกิจทุกประเภทอย่างเท่าเทียมกัน โดยจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิงยังคงเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก มีส่วนส่งเสริมการเติบโตของโลกราวร้อยละ 30 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
สำหรับคำถามแห่งยุคสมัย สีจิ้นผิงมีคำตอบของตนเอง นั่นคือสร้างประชาคมมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน โดยสีจิ้นผิงเรียกร้องทุกประเทศส่งเสริมวิสัยทัศน์ข้างต้นในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 20 ในจังหวัดบาหลี พร้อมสนับสนุนสันติภาพ การพัฒนา และความร่วมมือที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา จีนใช้ความแข็งแกร่งของตัวเองมาสนับสนุนวิสัยทัศน์สำคัญนี้ด้วยความเชื่อมั่นอันแน่วแน่และการลงมือทำอย่างจริงจัง ซึ่งมีแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) เป็นตัวอย่างสำคัญ โดยปัจจุบันมีนานาประเทศกว่า 150 แห่ง และองค์กรระหว่างประเทศกว่า 30 แห่ง ลงนามเอกสารความร่วมมือกับปักกิ่งภายใต้แผนริเริ่มนี้
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ สีจิ้นผิงได้เสนอแผนริเริ่มระดับโลก 3 รายการ ได้แก่ แผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (GDI) แผนริเริ่มความมั่นคงระดับโลก (GSI) และแผนริเริ่มอารยธรรมระดับโลก (GCI) เป็นรากฐานสำคัญของการสร้างประชาคมมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน และเป็นแนวทางของจีนในการจัดการความท้าทายระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพและการพัฒนา
เดวิด กอสเซ็ต ผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสด้านกิจการระหว่างประเทศและผู้ก่อตั้งการประชุมยุโรป-จีน (Europe-China Forum) กล่าวว่า ห้วงยามแห่งความหวาดกลัว ความไร้เหตุผล และความสับสนวุ่นวาย สีจิ้นผิงกำลังเรียกร้องแนวทางอันมีเหตุมีผลในการแก้ไขสารพันปัญหาที่เราเผชิญร่วมกันอย่างถูกต้อง โดยการเปิดกว้างและความมั่นคงของจีนกลายเป็นปัจจัยสร้างเสถียรภาพสำคัญในโลกที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงและความไม่แน่นอน