รายการสนธิเล่าเรื่องเช้านี้ พบทนายตั้มเป็นผู้จัดการมรดก เขียนพินัยกรรมเอง ก่อนเริ่มซื้อรถเบนซ์ พบให้พยานเซ็นเฉพาะหน้าสุดท้าย ไม่คืนคู่ฉบับ ซื้อรถเบนซ์คุณอ้อย ติด GPS ดูทุกความเคลื่อนไหว แถมชักชวนไปเที่ยวไกลๆ ไปเชียงราย แม้กระทั่งไปเขื่อนเชี่ยวหลาน สุราษฎร์ธานี ไม่มีสัญญาณมือถือ ผวาหากตายไปอ้างได้ว่าอุบัติเหตุ สุดท้ายทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองสกัดกั้น
วันนี้ (20 พ.ย.) นายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวในรายการสนธิเล่าเรื่อง ทางยูทูบ Sondhitalk ถึงความคืบหน้าคดีที่ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือคุณอ้อย เศรษฐีชาว อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา แจ้งความดำเนินคดีต่อ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ไฮไสต์สำคัญอยู่ที่การที่ทนายตั้มเป็นผู้จัดการมรดก โดยสรุปดังนี้
- คุณอ้อยกล่าวว่า ทนายตั้มต้องการเป็นผู้จัดการมรดกในการเขียนพินัยกรรม พอได้รับการแต่งตั้งก็พยายามชวนคุณอ้อยไปเที่ยวไกลๆ เช่น เขื่อนรัชชประภา หรือเขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งอะไรก็เกิดขึ้นได้โดยไม่มีใครคาดคิด หากคุณอ้อยเสียชีวิต ทนายตั้มจะได้เป็นผู้จัดการมรดก มีอำนาจเด็ดขาดแต่ผู้เดียว แต่โชคดีที่คุณอ้อยไหวตัวทัน
- ก่อนหน้านี้บริษัท ษิทรา ลอว์เฟิร์ม จำกัด ได้รับว่าจ้างจากคุณอ้อยเดือนละ 300,000 บาทให้เป็นที่ปรึกษาดูแลผลประโยชน์ธุรกิจเมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากนั้นทนายตั้มอาศัยความไว้ใจจากพี่อ้อยช่วยเหลือดำเนินการ เช่น ยกลูกตัวเองคนหนึ่งให้เป็นลูกบุญธรรม แต่ลูกชายคุณอ้อยไม่เห็นด้วย
- เมื่อรู้ว่าคุณอ้อยร่ำรวยเป็นหมื่นล้านบาท และการศึกษาน้อย ร่ำรวยจากการเสี่ยงโชค คุณอ้อยพลาดตรงที่หาทนายความจากเฟซบุ๊ก เห็นว่าทนายตั้มหน้าตาดี เป็นทนายความเพื่อประชาชน แต่คนเรารู้หน้าไม่รู้ใจ นึกไม่ถึงว่าเป็นคนเลวถึงขนาดนั้น
- พอได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแค่ 9 วัน ทนายตั้มก็คิดจะฮุบเงินฮุบทอง ทำพินัยกรรมที่สำนักงาน ษิทรา ลอว์เฟิร์ม มีทั้งหมด 7 ข้อ โดยมีทนายตั้มเป็นผู้เขียนและพิมพ์พินัยกรรม คุณเดวิดสามีคุณอ้อย และคุณน้อย เป็นพยาน ทีแรกไม่ผิดสังเกต แต่ภายหลังพบว่าทนายตั้มไม่ได้ทำงานสมค่าจ้าง ยกครอบครัวเที่ยวหรูอยู่สบาย รวมทั้งสำนักงาน ษิทรา ลอว์เฟิร์ม จัดทริปพาพนักงาน 20 คนเที่ยวญี่ปุ่น ก็ขอเงินคุณอ้อยหลายล้านบาท และขอเงินยิบย่อย
- ผ่านไป 1 ปี คุณอ้อยเห็นว่าทำงานไม่คุ้ม ไม่ไหว เลยยกเลิกสัญญาเป็นที่ปรึกษา แต่ทนายตั้มยังตื๊อขอต่อสัญญาอีก 1 ปี พร้อมข้อเสนอการลงทุนตามมา เป็นที่มาของเงิน 2 ล้านยูโร ทำแอปฯ นาคี ต่อด้วยคดีสมคบกับนายนุวัฒน์และ น.ส.สาริณีหลอกลวงว่าถูกแฮกคริปโตฯ สูญ 39 ล้านบาท ฉ้อโกงเขียนแบบโรงแรม และอื่นๆ
- ทนายตั้มร่างพินัยกรรมคุณอ้อยฉบับใหม่ ทำที่บ้านชีวา ลงวันที่ 7 ส.ค. 2566 แก้ไขจากฉบับแรก แต่พินัยกรรมมีปัญหารายละเอียดสำคัญว่า สินทรัพย์ที่อยู่ต่างประเทศให้ลูกชายคนเดียว แต่ทนายตั้มเป็นผู้จัดการมรดก ก่อนเริ่มซื้อรถเบนซ์ ติด GPS เอาไว้ โดยทนายตั้มติดเอง แสดงว่าจะตามว่ารถคันนี้ไปที่ไหนบ้าง จึงสงสัยว่าทำไมถึงติด GPS เอาไว้ แต่ทนายตั้มยังโกหก
- คุณอ้อยกล่าวว่า ทนายตั้มเคยชวนไปเชียงราย อ้างว่าทำบุญที่วัดห้วยปลากั้ง แต่ไม่ไปเพราะไกล เป็นห่วงความปลอดภัยของแฟน และไม่ได้รู้จักคนทางโน้น และชวนไปล่องแพที่ภาคใต้ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี แต่ไม่ไปเพราะกลัวน้ำ ไปลำบากเลยปฏิเสธ ไม่ได้คิดเบื้องหน้าเบื้องหลัง พอรู้จากคนใกล้ชิดก็กลัวว่าอยู่ใต้แพ
- ในสัญญาติดตั้ง GPS ใช้ชื่อทนายตั้ม ทำสัญญารายปี และมีหลักฐานว่าทนายตั้มแอบดูข้อมูลการเดินทางว่าไปไหนบ้าง เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาหลังมีเรื่อง นางปทิตตา เบี้ยบังเกิด ภรรยาทนายตั้มยังแอบเข้าไปดู GPS ว่ารถคุณอ้อยเดินทางไปที่ไหน
- คุณอ้อยและคุณน้อยพบว่าหลังทำพินัยกรรมฉบับที่ 2 ทนายตั้มยังชักชวนไปเที่ยวแพที่เขื่อนรัชชประภา อ้างว่าจะพาไปรู้จักนายตำรวจนายหนึ่งซึ่งเป็นคนใต้ คือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือโจ๊ก เหมือนกับที่ไปฮ่องกง ไปเจอนายอนุทิน ชาญวีรกูล และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ แต่คุณอ้อยไม่อยากไป เพราะไม่อยากลำบาก และไม่อยากรู้จักใคร
- เขื่อนรัชชประภา หรือเขื่อนเชี่ยวหลาน เหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต ใครจะทำอะไรก็ไม่มีใครรู้ สมมติกรณีที่จัดการกับเจ้าของมรดกก็ไม่มีใครรู้ อ้างได้ว่าอุบัติเหตุทางน้ำ
- หลังจากทำพินัยกรรมฉบับที่ 2 คุณอ้อยและคุณน้อยพยายามทวงถามพินัยกรรมคู่ฉบับก็ไม่นำมาให้ กระทั่งแตกหักเรื่องรถเบนซ์ ได้ทำหนังสือทวงถามพินัยกรรม แต่ทนายตั้มตอบกลับว่าทำลายไปหมดแล้ว ทั้งที่ไม่ได้ถามหรือทำลายต่อหน้า และพบว่าสัญญามีช่องโหว่ อีกทั้งให้ลงนามเฉพาะหน้าสุดท้าย แทนที่จะลงนามสัญญาทุกหน้า เพราะฉะนั้นเป็นพินัยกรรมปลอมและพินัยกรรมสอดไส้
- ต้นปี 2567 หลังจากคุณอ้อยใจสลาย ก็ได้ยกเลิกพินัยกรรมกับทนายตั้มทุกฉบับ แล้วไปทำพินัยกรรมฝ่ายเมือง จัดทำที่อำเภอ มีเจ้าหน้าที่รัฐรับรอง