การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2567 ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ “Peak” ทั้งจับ แปรรูป ปล่อยปลาผู้ล่า ตามแนวปฏิบัติของกรมประมงและเป้าประสงค์ในการลดปริมาณปลาในแหล่งให้มากที่สุดและเร็วที่สุด ซึ่งกรมฯ ได้รายงานว่าจับปลาไปแล้วมากกว่า 3 ล้านกิโลกรัม และส่งไปแปรรูปเป็นปลาป่นเพื่อนำไปผลิตอาหารสัตว์และน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้เป็นปุ๋ยในส่วนยางพารา ช่วงต่อจากนี้ไปจะเห็นการปล่อยปลาผู้ล่าทั้งปลากะพงและปลาอีกงในหลายพื้นที่ลงไปกำจัดลูกปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ
การเดินหน้าตามแนวทางปฎิบัติของกรมประมงส่งผลให้หลายจังหวัดมีปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำลดลง จากผลของการสุ่มตรวจของประมงจังหวัดที่ทำการ “ลงแขก” จับปลาในแหล่งน้ำที่เคยจับไปแล้วซ้ำ พบปริมาณปลาหมอคางดำลดลงทั้งที่จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี นครศรีธรรมราช เป็นต้น และกำลังเดินหน้าปล่อยปลาผู้ล่าเพื่อลงไปกำจัดลูกปลาหมอคางดำเพื่อหยุดการแพร่พันธุ์ สำหรับการปล่อยปลาผู้ล่าต้องปล่อยในปริมาณที่เหมาะสมไม่ให้เกิดผลกระทบกับสัตว์น้ำชนิดอื่นในธรรมชาติ
ปัญหาใหญ่ในการกำจัดปลาหมอคางดำขณะนี้ คือ “บ่อร้าง” ที่ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาหมอคางดำที่สำคัญ ตลอดจนแหล่งน้ำที่ภาครัฐยังเข้าไปสำรวจไม่ถึง จำเป็นที่เจ้าของบ่อร้างและชุมชนทั้งหลายต้องร่วมกันแจ้งกรมประมง เพื่อกำจัดปลาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่อาจมีปลาหมอคางดำหลุดรอดเข้ามาในบ่อเลี้ยง ต้องสุ่มตรวจปริมาณสัตว์น้ำหลัก (กุ้งหรือปลา) ในบ่อเปรียบเทียบกับปริมาณปลาหมอคางดำที่จับได้ และจับออกโดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำหลักเพื่อหาทางป้องกันด้วยการตากบ่อและโรยกากชากำจัดปลาและลูกปลาที่ตกค้างในบ่อ ก่อนเลี้ยงสัตว์น้ำรุ่นใหม่ในบ่อเลี้ยง
การชี้เป้าหมายแหล่งเพาะพันธุ์และแหล่งแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกรมประมงและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องได้รับความร่วมมือทั้งจากภาคประชาชน ชุมชน และเกษตรกร ต้องช่วยกันแจ้งเบาะแสในฐานะเจ้าของพื้นที่ ตัวอย่างเช่นที่จังหวัดสงขลา พบการระบาดของปลาหมอคางดำที่อำเภอระโนด ส่วนที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พบที่อำเภอหัวไทรและอำเภอปากพนัง ขณะที่จังหวัดจันทบุรี พบที่อำเภอขลุง และอ่าวคุ้งกระเบน หากมีการผนึกกำลังกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนอย่างเข้มแข็งเพื่อดำเนินการตามหลักวิชาการก็จะสามารถควบคุมให้ปลาอยู่ในพื้นที่จำกัดได้ และการดำเนินมาตรการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องจะช่วยให้ปริมาณปลาลดลงอย่างมีนัยสำคัญได้
ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคเอกชน เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการไล่ล่าปลาหมอคางดำอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ไม่ให้ข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะ “บ่อร้าง” ควรจับปลาออกจากบ่อให้หมด และหากไม่ประสงค์จะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อควรตากบ่อให้แห้งและกำจัดปลาที่ตกค้างตามหลักวิชาการ ซึ่งพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดใน19 จังหวัด จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
สำหรับภาครัฐจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนการจับปลาและปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อจูงใจให้มีการจับปลาและนำไปแปรรูปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อน ตลอดจนการให้ความรู้กับชุมชนในการจับและกำจัดปลาหมอคางดำอย่างถูกต้อง ช่วยเฝ้าระวังและป้องกันระบบนิเวศไม่ให้ปลาแพร่ระบาดไปยังแหล่งน้ำอื่นๆ
ชาญศึก ผดุงความดี
นักวิชาการอิสระ