วันนี้ (18 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (17 พ.ย.) นายธวัชชัย ไทยเขียว หนึ่งในคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. และรองโฆษก ก.พ.ค.ตร. โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า "ด้วยการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ผบ.ตร.ลงไปถึงตำแหน่งผู้บังคับการต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด คือ การแต่งตั้งตำแหน่ง ผบ.ตร. นายกรัฐมนตรีต้องคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจผู้มีคุณสมบัติตามกฎหมาย โดยต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปรามเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
การแต่งตั้งตำแหน่งรอง ผบ.ตร. และจเรตำรวจแห่งชาติ ผบ.ตร.ต้องคัดเลือกจากรายชื่อข้าราชการตำรวจเสนอ ก.ตร.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
การแต่งตั้งตำแหน่ง ผช.ผบ.ตร.และรองจเรตำรวจแห่งชาติ และตำแหน่งผู้บังคับการ ผบ.ตร. ต้องคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจตามที่คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตามกฎหมายเสนอแนะ แล้วเสนอ ก.ตร.ให้ความเห็นชอบ แล้วจึงนำเสนอนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
การแต่งตั้งตำแหน่งรองผู้บัญชาการและจเรตำรวจ และตำแหน่งผู้บังคับการ ผบ.ตร. ต้องคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจตามที่คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตามกฎหมายเสนอแนะก่อน โดยให้นำข้อมูลการเสนอแต่งตั้งของหัวหน้าส่วนราชการระดับกองบัญชาการที่ได้มีการพิจารณาเสนอในรูปคณะกรรมการตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร. มาประกอบการพิจารณาด้วย หากมีความเห็นแตกต่างจากข้อมูลการเสนอแต่งตั้งของหัวหน้าส่วนราชการ ให้ชี้แจงเหตุผลต่อคณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตามกฎหมายก่อนเสนอ ก.ตร.พิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วจึงนำเสนอนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
การจัดทำข้อมูลการเสนอแต่งตั้งรองผู้บัญชาการและรองจเรตำรวจของหัวหน้าส่วนราชการ ให้พิจารณาเสนอรายชื่อได้เฉพาะข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งในสังกัดเท่านั้น
ในกรณีที่ ก.ตร.ตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่พระราชบัญญัตินี้กำหนด ให้แจ้งให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป
ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่า ก.ตร.จำเป็นอย่างยิ่งต้องตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อมีความเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ จึงถือว่าได้ว่าการลงมติเห็นชอบของ ก.ตร.ต่อกรณีดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องสำคัญหรือกระทบต่อส่วนได้เสีย ซึ่งอาจเพิกถอนมติที่ประชุมอันผิดระเบียบนั้นได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1175 วรรคสอง ซึ่งเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3413/2560 เป็นแนวทางไว้เพราะเป็นเหตุให้ผู้ที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งนำไปอุทธรณ์ยัง ก.พ.ค.ตร. ตามมาตรา 141 (2) แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และหากคำอุทธรณ์รับฟังได้ ผู้มีอำนาจอาจมีความผิดตามมาตรา 87 วรรคสี่ ที่ต้องรับโทษทางวินัยโดยไม่ต้องสอบสวน หรือรับโทษทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ตามมาตรา 87 วรรคห้า ครับ"