xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนดูแผนประทุษกรรม “แก๊งตั้ม” กุโอนคริปโตทิพย์ ตุ๋น “พี่อ้อย” 39 ล้าน “ษิทรา” โทร.ประสานถอนเงินขอเป็นแบงก์ใหม่ๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดแผนประทุษกรรม “นุ-แซน” เพื่อนร่วมแก๊ง “ทนายตั้ม” กุเรื่องโอนบิตคอยน์ให้ “เฉินคุนตัวปลอม” ตามคำขอของ “พี่อ้อย” ทำให้กระเป๋าเงินคริปโตของตัวเองถูกระงับ ก่อนไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.บางซื่อที่มี “เพื่อนโจ๊ก” เป็น ผกก.เอาไปเป็นหลักฐานบอกพี่อ้อยว่าเสียหาย 39 ล้าน แถมเล่นละครทะเลาะเบาะแว้ง จนพี่อ้อยสงสารซื้อแคชเชียร์เช็คให้ชดเชยความเสียหาย ไม่กี่วันต่อมาก็ถอนเป็นเงินสดจากธนาคาร โดยมี “ทนายตั้ม” โทร.ประสานขอเป็นธนบัตรใหม่ๆ



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมกรณีนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม และพวกสร้างเรื่องการโอนเงินคริปโตเคอร์เรนซีหลอกให้ “พี่อ้อย” จตุพร อุบลเลิศ โอนเงินให้ 39 ล้านบาท ซึ่งทำให้ทนายตั้มถูกพี่อ้อยดำเนินคดีฐานฉ้อโกงรวมแล้ว 4 คดี จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินคดี “ฉ้อโกงเป็นปกติธุระ” ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการรวมกฎหมายอาญาเข้ากับกฎหมายฟอกเงินเพื่อให้สามารถยึดอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดได้


โดย “พฤติกรรมการฉ้อโกง” ที่มีการเปิดเผยกันในตอนนี้มีอย่างน้อย 4 คดี คือ 1. หลอกทำแพลตฟอร์มสลากออนไลน์ จำนวน 71 ล้านบาท 2. เงินส่วนต่างซื้อรถเบนซ์ G400 จำนวน 1.5 ล้านบาท 3. อ้างกรณีสแกมเมอร์คริปโต จำนวน 39 ล้านบาท 4. ค่าจ้างออกแบบโรงแรม จำนวน 9 ล้านบาท


ทั้งนี้ หลักฐานหลายอย่างเป็นที่ประจักษ์แล้ว โดยเฉพาะหลังจากที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ไปออกรายการโหนกระแส กับ “หนุ่ม” กรรชัย กำเนิดพลอย ทางช่อง 3 เมื่อวันพุธที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา และได้เปิดเผนเอกสาร “หนังสือสัญญาจ้างเขียนและพัฒนาโปรแกรม” มีชื่องานว่า โครงการพัฒนาเว็บไซต์และระบบโปรแกรม Application ซื้อขายสลากกินแบ่งรัฐบาลออนไลน์ จัดทำขึ้นใน วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ระหว่างคู่สัญญาคือ “พี่อ้อย” น.ส.จตุพร อุบลเลิศ กับบริษัทผู้จัดทำแอปพลิเคชันนาคี




สัญญาฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2567 หน้าแรกของสัญญาเขียนชัดเจนทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญาจ้างเหมากัน โดยมีรายละเอียดการจ่ายค่าจ้าง คือ ผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายค่าสินจ้างเหมาตามสัญญานี้ให้แก่ผู้รับจ้างเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 2,000,000 EUR (สองล้านยูโร) กำหนดชำระครั้งเดียว ก่อนเริ่มงาน ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ค่าจ้างเหมานี้รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดชอบตามกฎหมายไว้แล้ว


เอกสารสัญญาฉบับนี้มีการลงนามเรียบร้อยทั้งสองฝ่าย (แต่ไม่ได้ลงนามพร้อมกัน) เพราะเอกสารฉบับนี้

- สำนักงานษิทรา ลอว์เฟิร์ม โดย “ทนายตั้ม ษิทรา” เป็นผู้ร่างขึ้นมา และส่งให้คู่สัญญาทั้งสองฝั่งเซ็น โดยที่ไม่ให้ทั้งสองฝ่ายเจอกัน

- ไม่ให้เจอกันเพราะ “ทนายตั้ม ษิทรา” ทำตัวเป็นตัวกลาง คือเป็นที่ปรึกษากฎหมายของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย คือ ทั้ง “พี่อ้อย จตุพร” และ “บริษัทผู้จัดทำแอปฯ นาคี”

- นอกจากนี้ “ทนายตั้ม ษิทรา” ยังเป็นผู้รับโอนเงินค่าจ้าง จำนวน 2 ล้านยูโรเอง


โดยมีหลักฐานสลิปการโอนเงินที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาสาขาโลตัส ปากช่อง ระหว่าง “พี่อ้อย” กับ “ทนายตั้ม” ซึ่งเดินทางไปเปิดบัญชีไว้ที่สาขาเพื่อความสะดวกในการโอนเงิน 2 ล้านยูโร ซึ่งเมื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทไทยก็คือจำนวน 71,067,764.70 บาท (เจ็ดสิบเอ็ดล้านหกหมื่นเจ็ดพันเจ็ดร้อยหกสิบสี่บาทเจ็ดสิบสตางค์)


ก่อนที่ “ทนายตั้ม” กับภรรยาคือ “เดือน” ปทิตตา เบี้ยบังเกิด จะนำไปยักย้ายถ่ายเท ซื้อบ้านตกแต่งบ้าน และทรัพย์สินอื่นๆ ต่อไป

เรื่องการฉ้อโกงเงิน 71 ล้านบาทนั้น ในภาพรวมน่าจะกระจ่างสิ้นข้อสงสัยแล้ว จากการชี้แจงของ อ.ปานเทพ ในรายการโหนกระแส เมื่อวันพุธที่ผ่านมา

“ตั้ม” สมคบกุเรื่องโกง 39 ล้านบาท

ประเด็นต่อมา เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมามีความคืบหน้าในอีกคดี ซึ่งต้องเป็นคดีที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ กรณี “ทนายตั้ม กับพวก” กุเรื่องอ้างสแกมเมอร์หลอกให้โอนเงินคริปโตเคอร์เรนซีเพื่อฉ้อโกงเงิน “พี่อ้อย จตุพร” จำนวน 39 ล้านบาท


โดยตำรวจกองปราบฯ นำกำลังจับกุม นายนุวัฒน์ ยงยุทธ หรือ นุ คนสนิททนายตั้ม และจับกุม น.ส.สาริณี นุชนาถ หรือ แซน แฟนสาวของ นายนุวัฒน์ หลังศาลอาญาอนุมัติออกหมายจับ ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง, ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และ ร่วมกันฟอกเงิน

คดีนี้พนักงานสอบสวนพบหลักฐานว่าทั้งสองเป็นผู้ไปถอนเงินสดจำนวน 39 ล้านบาทที่พี่อ้อยโอนเข้ามาออกจากธนาคารที่ห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งย่านห้าแยกลาดพร้าว รวมถึงพบว่ามีการปั้นแต่งพยานหลักฐาน โดยการทำทีเข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกดูดเงินจากบัญชีบิตคอยน์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานตบตาหลอกพี่อ้อยให้หลงเชื่อจนนำมาสู่การออกหมายจับดังกล่าว


เรื่องราวเกี่ยวกับกรณี “ทนายตั้ม กับพวก” ฉ้อโกงเงิน 39 ล้านบาทโดยอ้างเรื่องแก๊งสแกมเมอร์ สรุปตามลำดับเวลาได้ดังนี้

หนึ่ง เหตุเกิดเมื่อ “พี่อ้อย” ชื่นชอบและติดตามอินสตาแกรมดาราจีนคนหนึ่งชื่อ เฉินคุน (เป็นชาวฉงชิ่ง ปัจจุบันอายุ 48 ปีแล้ว) จึงมีความต้องการที่จะติดต่อเพื่อให้มาโชว์ตัวที่ประเทศไทย ต่อมาเมื่อพี่อ้อยกลับมาประเทศไทยมีการหลอกจากอินสตาแกรมของ เฉินคุน ว่ามีโครงการจะเดินทางมายังประเทศไทยถ้ามีการโอนเงินให้

อย่างไรก็ตาม การโอนเงินนั้นต้องเป็นการโอนเงินด้วยเงินคริปโตเคอร์เรนซี เป็น เหรียญบิตคอยน์ ซึ่ง “พี่อ้อย” ไม่มีความรู้ในการโอนเงินแบบนี้


ทำให้ ทนายตั้ม แนะนำให้ชายคนหนึ่ง “นุ” ซึ่งก็คือ นายนุวัฒน์ ยงยุทธ มารู้จัก “พี่อ้อย” บอกว่าคนคนนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเงินคริปโตฯ จะสามารถโอนเงินบิตคอยน์ให้กับเฉินคุนได้ โดย “พี่อ้อย” หลงเชื่อโอนเงินให้ “นุ” 2 ครั้งรวมประมาณ 2 ล้านบาท และนุก็อ้างว่าโอนเงินให้เฉินคุนเรียบร้อยแล้ว

สอง ต่อมาฝ่าย “ทนายตั้ม” ได้ประสานไปยัง พ.ต.อ.ภูวดล อุ่นโพธิ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกันกับ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล โดย “ทนายตั้ม” กับผู้กำกับฯ ได้อำนวยความสะดวกให้ “แซน” สาริณี นุชนาถ แฟนสาวของนายนุ เข้าลงบันทึกประจำวันในวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 อ้างว่าได้รับความเสียหายจากการโอนเงินบิตคอยน์ทำให้กระเป๋าเงินคริปโตฯ ของตนเองถูกระงับ ทั้งๆ ที่ “แซน สาริณี” ไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ เลย และยังเป็นการบันทึกประจำวัน “ข้ามเขต” ด้วยเพราะสารินีมีทะเบียนบ้านอยู่เขตดินแดง

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล และ พ.ต.อ.ภูวดล อุ่นโพธิ
นอกจากนี้ ใบลงบันทึกประจำวันดังกล่าวยังมีพิรุธหลายประการ ทั้งเรื่องตัวเลขความเสียหาย ที่สำคัญรายละเอียดในใบแจ้งความ ทั้งยังไม่ระบุถึงความเสียหายของเงินในกระเป๋าคริปโตฯ ว่ามีจำนวนเท่าใดด้วย !?!

โดยก่อนจะเข้าแจ้งความที่ สน.บางซื่อนั้น “นุ นุวัฒน์” และ “แซน สาริณี” ได้ติดต่อแจ้งกับทาง “พี่น้อย” เลขาฯ ของ “พี่อ้อย” ว่าบัญชีเหรียญคริปโตฯ ถูกระงับเพราะการโอนเหรียญบิตคอยน์ให้กับ “เพื่อนพี่อ้อย”

จากนั้นจึงนำเอกสารของ สน.บางซื่อมาอ้างกับ “พี่อ้อย” ว่าอินสตาแกรมของผู้ที่มาอ้างว่าเป็นเฉินคุน เป็นมิจฉาชีพหลอกลวง เมื่อโอนบิตคอยน์ได้แล้วทำให้กระเป๋าเงินออนไลน์ถูกระงับ จนตัวเองเกิดความเสียหายสูงถึง 39 ล้านบาท

สาม การลงบันทึกประจำวันดังกล่าวมีพิรุธอย่างไรบ้าง? กล่าวคือ ที่มีพิรุธมากๆ นั้น ผู้กำกับการ สน.บางซื่อมีความสนิทสนมกับ “ทนายตั้ม” มาเป็นเวลาหลายปี และทั้งผู้กำกับการ สน.บางซื่อ และ “ทนายตั้ม ษิทรา” ต่างก็มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ “บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์” ด้วย


ต่อมา หากเนื้อหาของการบันทึกประจำวันนั้น “เป็นเรื่องเท็จ” และ “ไม่มีการตรวจสอบ” เนื่องจากในบันทึกประจำวันอ้างว่าสารินีได้โอนเงินบิตคอยน์ให้ผู้ใช้อินตาแกรมที่อ้างว่าเป็นเฉินคุนจำนวน 7 ครั้ง มูลค่า 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ได้รับมาจากพี่อ้อย เงินก้อนนี้จึงไม่ใช่เงินที่ผู้แจ้งความได้รับความเสียหาย

แต่ความเสียหายนั้น สาริณีได้ลงบันทึกประจำวันว่า “กระเป๋าเงินออนไลน์ได้ถูกระงับบัญชี ไม่สามารถเข้าถึงได้อีกเลย”

ที่น่าสังเกตคือ “สาริณี” ไม่ได้กล่าวถึงความเสียหายว่ากระเป๋าเงินออนไลน์ที่ถูกระงับบัญชีไม่สามารถเข้าถึงได้อีกเลยนั้น มีความเสียหายจำนวนเงินเท่าไหร่ ซึ่งผิดวิสัยที่จะไม่บันทึก


การไม่กล่าวถึงเรื่องยอดความเสียหาย แต่มาบันทึกแต่ยอดที่โอนเงินไปนั้น ก็เพราะจะเป็นยอดวงเงินเท่าไหร่ก็ได้ เพื่อนำไปอ้างกับ “พี่อ้อย จตุพร” ว่าเป็นเพราะ “พี่อ้อย จตุพร” ทำให้เกิดความเสียหาย

แต่ที่น่าสนใจคือบันทึกประจำวันฉบับนี้ยังได้เขียนข้อความที่มีลักษณะให้ผู้อ่านที่ไม่เข้าใจหลงผิดคิดว่าเป็นการแจ้งความเพื่อหาผู้กระทำความผิด ความว่า “จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนตรวจสอบบัญชีปลายทางว่าเป็นของผู้ใด และเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่อย่างไร ผู้แจ้งจึงมาแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อขอให้ดำเนินคดีต่อตผู้กระทำความผิดให้ถึงที่สุดต่อไป”

แลัวเจ้าพนักงานสอบสวนยังช่วยใส่ข้อความที่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้นไปอีกว่า “พนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ ได้รับคำร้องทุกข์ไว้แล้วจะได้ดำเนินการสอบสวนต่อไป”


ประเด็นคือความหมาย “การบันทึกประจำวัน” ที่ซ่อนเนื้อหาเป็น “การแจ้งความ” นั้น สำคัญ เพราะ “การบันทึกประจำวัน” ไม่ต้องดำเนินการอะไรต่อ แต่ถ้า “แจ้งความ” จะต้องมีการตั้งเลขคดีแล้วทำการสืบสวนสอบสวนความจริง ก็จะรู้ทันทีว่าที่มาบันทึกประจำวันนั้นเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ

แต่เรื่องนี้ไม่ได้มีการตั้งเป็นเลขคดีใดๆ เพราะตำรวจถือว่าไม่ใช่แจ้งความแต่เป็นบันทึกประจำวัน แต่มีเนื้อหาเหมือนว่าเป็นการแจ้งความสำหรับคนอ่านที่ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้

หลังจากนั้น “นุ นุวัฒน์” กับ “แซน สาริณี” ก็ได้นำบันทึกประจำวันที่มีเนื้อหาเหมือนแจ้งความไปหาพี่อ้อย แล้วอ้างว่าการโอนเงินบิตคอยน์แทนพี่อ้อยทำให้เกิดความเสียหาย กระเป๋าเงินคริปโตฯ ที่มีเงินอยู่ 39 ล้านบาทถูกระงับไม่สามารถเปิดใช้งานได้

ทั้งที่ความจริงแล้วคนที่โอนเงินบิตคอยน์ คือนุ ไม่ใช่สารินี แต่คนไปลงบันทึกประจำวันและอ้างว่าตัวเองเสียหายกลับเป็นสาริณี


ข้อสำคัญ คือมีการแสดงละคร ทะเลาะเบาะแว้งกัน ร้องห่มร้องไห้ระหว่าง “นุ นุวัฒน์” กับ “แซน สาริณี” ต่อหน้าพี่อ้อย ทำให้พี่อ้อยเสียใจหลงเชื่อว่า “พี่อ้อย” ทำให้ “นุ กับ แซน” เดือดร้อนและเสียหาย จึงได้ทำแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายให้สาริณี จำนวนเงิน 39 ล้านบาท ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2566

หลังจากนั้น “นุ นุวัฒน์” กับ “แซน สาริณี” ได้ไปเบิกเงินสดที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 โดยพยานปากหนึ่งชื่อ “มี่” ซึ่งเป็นอดีตพนักงานธนาคาร เป็นผู้ประสานงานกับทางธนาคารให้ล่วงหน้า จึงได้รับรู้ว่าผู้ที่ฝากฝังให้ถอนเงินสดครั้งนี้ คือ “ทนายตั้ม ษิทรา” ซึ่งได้ขอธนบัตรใหม่ในการเบิกเงิน 39 ล้านบาทด้วย เพราะถ้าเป็นธนบัตรเก่าจะมีพลาสติกหุ้มที่มีโลโก้ของธนาคารทำให้ติดตามตรวจสอบง่าย

ส่วนในวันเบิกเงินนั้นมีคนนำกระเป๋าเดินทางมาเบิกเงินสด พร้อมด้วยชายแต่งชุดคล้ายทหารอีก 2-3 นายมาขนเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาเซ็นทรัล ลาดพร้าวไป

แล้ว “ทนายตั้ม ษิทรา” จะอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับเงิน 39 ล้านบาท ดังกล่าวได้อย่างไร ?!?


เรื่องนี้มาโป๊ะแตก เพราะต่อมาพอเรื่องนี้เป็นข่าว ทางคณะทำงานที่ “บิ๊กก้อง” พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ได้ทำการสืบสวนสอบสวนจึงพบความจริงว่า

1. ผู้ที่โอนเงินคริปโตฯ ให้พี่อ้อยคือ “นายนุ นุวัฒน์” ไม่ใช่ “แซน สาริณี” ซึ่งเป็นภรรยา ตามที่มีการลงบันทึกประจำวันที่ สน.บางซื่อ

2. “นายนุ นุวัฒน์” ไม่เคยถูกระงับบัญชีเงินดิจิทัลใดๆ ทั้งสิ้น

3. “แซน สาริณี” ไม่เคยโอนเงินคริปโตฯ ตามคำขอของพี่อ้อย 7 ครั้ง จนถูกระงับบัญชีแต่อย่างใด

ดังนั้นความเสียหาย 39 ล้านบาท จึงเป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้น!!!

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจพบความผิดปกติ และสืบค้นได้จริง จึงได้ออกหมายจับ “นุ นุวัฒน์” และ “แซน สาริณี” ตั้งแต่วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน 2567 และแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มให้กับ “ทนายตั้ม ษิทรา” ซึ่งอยู่ในเรือนจำด้วย

ถ้า พ.ต.อ.ภูวดล อุ่นโพธิ ผู้กำกับการสถานีตำรวจบางซื่อไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการดังกล่าวจริง และเมื่อรู้ว่าข้อความการบันทึกประจำวันซ่อนรูปในรูปของการแจ้งความเป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้นแล้ว ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อควรดำเนินคดีต่อคนที่มาเกี่ยวข้องทั้งหมดในการลงบันทึกประจำวันปลอมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น “แซน สาริณี” หรือ “ทนายตั้ม ษิทรา” ก็ตาม


ขอปิดท้ายด้วยภาพการไปเที่ยวของสำนักงาน ษิทรา ลอว์เฟิร์ม หรือภาษาคนออฟฟิศเขาเรียกว่า การ Outing เมื่อเดือนตุลาคม 2565 โดย “ทนายตั้ม ษิทรา” ระบุข้อความครับว่า “วันนี้ผมและทีมงานขอลาสองวันพักสมองหน่อยนะครับ ช่วงนี้มีแต่ข่าวเครียดๆ ขอเวลาให้ลูกน้อง Social Detox กันหน่อย วันจันทร์กลับไปสู้งานต่อ ...”


ภาพนี้มีคนร่วมเฟรมอยู่ประมาณ 20 กว่าคน แต่ขอโฟกัสไปที่ 5 คน (ระบุหมายเลขตามวงกลมแดง) คือ
1. ทนายตั้ม ษิทรา
2. “เดือน ปทิตตา” ภรรยาทนายตั้ม
3. และ 4. “นุ นุวัฒน์” และ “แซน สาริณี” สองสามีภรรยาที่ถูกออกหมายจับกรณีสมคบทนายตั้มฉ้อโกง “พี่อ้อย จตุพร” จำนวน 39 ล้านบาท
5. นายสายหยุด เพ็งบุญชู หรือ ทนายปาเกียว ที่ตอนนี้แม้ไม่ได้อยู่กับทนายตั้ม หรือษิทรา ลอว์เฟิร์มแล้ว แต่ก็กลับมาว่าความให้เพื่อนตั้ม ในมหากาพย์การฉ้อโกงเป็นปกติธุระนี้

“ที่ผมพูดไปวันนี้เป็นแค่การเปิดประตูไปสู่ภาคต่อไปของขบวนการใหญ่ของ ทนายตั้ม ษิทรา กับพรรคพวกเท่านั้น ข้อมูลยังมีอีกเยอะ โปรดติดตามความจริงที่มีหนึ่งเดียวได้ที่นี่เท่านั้นครับ” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น