xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันพร้อมจับมือนานาประเทศรับมือความท้าทาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ:  AFP
MGR Online: ไต้หวันเสนอความร่วมมือกับประชาคมโลก เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ซึ่งกำลังจะมีการประชุม COP29 ที่สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

นายจางจวิ้นฝู ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย เผยแพร่บทความ 'ให้ไต้หวันได้จับมือกับนานาประเทศในการรับมือความท้าทายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ' ระบุว่า

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 29 (UNFCCC COP29) กำลังจัดขึ้น ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ในหลายปีนี้เราได้เป็นประจักษ์พยานของภัยแล้งครั้งใหญ่ที่ร้ายแรงของโลกในรอบหนึ่งร้อยปี ภัยธรรมชาติจากฝนตกหนัก พายุไต้ฝุ่น เดือนกันยายนที่ผ่านมา พายุไต้ฝุ่นยางิซึ่งเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่กระหน่ำประเทศไทย เวียดนาม เมียนมาร์ จนทำให้น้ำท่วมใหญ่บริเวณภาคเหนือของไทย และในเดือนตุลาคมไต้หวันก็ประสบกับซูเปอร์ไต้ฝุ่น “ก็อง-เรย” เห็นได้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังมีผลกระทบอย่างหนักต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ไต้หวันในฐานะสมาชิกหนึ่งที่มีความรับผิดชอบของประชาคมโลก จึงพยายามอย่างต่อเนื่องในการผลักดันและดำเนินการต่างๆ ด้านภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม หลังประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อขึ้นดำรงตำแหน่งในปีนี้ ได้ผลักดัน “ห้านโยบายในการเปลี่ยนผ่านให้คาร์บอนเป็นศูนย์” อันประกอบด้วยการเปลี่ยนผ่านพลังงานครั้งที่สอง การเร่งเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานไฮโดรเจน พลังงานชีวมวลและพลังงานจากมหาสมุทร ผลักดันการเปลี่ยนผ่านควบคู่กันของดิจิทัลกับอุตสาหกรรมสีเขียวและสร้างรูปแบบการเป็นอยู่สีเขียวที่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์อย่างยั่งยืน อีกทั้งผลักดันการเปลี่ยนผ่านความยุติธรรมที่ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ข้อเสนอการยกระดับการจัดการสภาพภูมิอากาศ

เมื่อเดือนมิถุนายนศกนี้ ทำเนียบประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดตั้ง “คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” ขึ้น เพื่อใช้วิสัยทัศน์โดยรวมระดับชาติในการจัดการกับสภาพภูมิอากาศและการร่วมมือกับนานาประเทศ โดยมุ่งไปที่การทำให้คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เทคโนโลยีพลังงานสีเขียวหลากหลายเพื่อลดคาร์บอน การเปลี่ยนผ่านคู่ขนานทั้งดิจิทัลและความยั่งยืน การเป็นอยู่สีเขียวที่ยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านอย่างยุติธรรม การเงินสีเขียวที่ยั่งยืนและความยั่งยืนในการปรับตัวของถิ่นฐานรวมเจ็ดประการ เสริมสร้างแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนการรับมือสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เร่งรัดนโยบายสู่การปฏิบัติจริงและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

การเสริมสร้างกลไกการกำหนดราคาคาร์บอนเพื่อเปลี่ยนผ่านการลดคาร์บอน

ไต้หวันพยายามอย่างแข็งขันในการดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการนำเป้าหมาย “การลดคาร์บอนเป็นศูนย์ปีค.ศ. 2050”  ไว้ใน “กฎหมายว่าด้วยการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” แสดงถึงความแน่วแน่ที่จะลดคาร์บอน ระบบราคาคาร์บอนของไต้หวันเท่ากับการใช้ภาษีคาร์บอนเพื่อมาตรการการลดคาร์บอนของโลก ซึ่งขณะนี้ได้มีการบัญญัติกฎหมายไว้แล้ว โดยจะเริ่มอย่างเป็นทางการในปีค.ศ.2025 เราให้คำมั่นว่าจะผลักดันกลไกระบบการซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) ในไต้หวันภายในสี่ปีเพื่อเชื่อมต่อกับทั่วโลก การดำเนินนโยบายเหล่านี้สอดคล้องกับมาตราที่หกแห่งความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งระบุว่า ระบบราคาคาร์บอนอันจะเป็นการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และบรรลุเป้าหมายที่ใหญ่ยิ่งขึ้น คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นายจางจวิ้นฝู ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย
ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมผ่านกองทุนสีเขียว

การกำหนดราคาคาร์บอนเป็นเพียงก้าวแรก ก้าวต่อไปเรายังจะเร่งการดำเนินงานตั้งกองทุนการเงินสีเขียวสามกองทุนใหญ่ เพื่อชักนำการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว เราจะจัดตั้ง “กองทุนการเติบโตสีเขียว” มูลค่าหนึ่งหมื่นล้านเหรียญไต้หวัน ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในไต้หวัน ร่วมมือกับธุรกิจประกันภัยและธุรกิจการเงิน, จัดตั้ง “กองทุนนวัตกรรมการเงินสีเขียว” เพื่อลงทุนอุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และอุตสาหกรรมทรัพยากรหมุนเวียนในระยะยาว และกองทุนสุดท้ายคือ “กองทุนไต้หวันคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” โดยประสานความต้องการการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งในและต่างประเทศ ร่วมมือกับผู้ประกอบกิจการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณสูงทั้งในและต่างประเทศ นักลงทุนและสถาบันการเงินในการทำการประเมินและมีส่วนร่วมในเทคนิคการลดคาร์บอนประเภทต่างๆ เข้าร่วมกับบริษัทข้ามชาติของไต้หวันในการวางยุทธศาสตร์การลดคาร์บอนทั่วโลก เร่งผลักดันนโยบายคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และส่งเสริมการลงทุนสีเขียวให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่เพียงจะเป็นการเสริมสร้างกำลังการแข่งขันของไต้หวัน ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับมาตราที่เก้าแห่งความตกลงปารีส ที่ระบุให้มีการผลักดันประเทศที่พัฒนาแล้วสนองความต้องการด้านเงินทุนเพื่อสภาพภูมิอากาศจากแหล่งเงินต่างๆ เป็นการวางรากฐานที่มั่นคง การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้ไต้หวัน

เสริมสร้างกลไกการปรับตัวและความยืดหยุ่นระยะยาว

เมื่อเดือนพฤษภาคมศกนี้ เราได้แถลง “รายงานวิทยาศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” ฉบับใหม่ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สำหรับรัฐบาลท้องถิ่นและกระทรวงต่างๆ ในการปรับตัวระยะสั้นและระยะกลาง โดยให้มีระบบกำกับดูแลและกลไกการเตือนล่วงหน้า ยกระดับความยืดหยุ่นของสภาพแวดล้อมในเมืองต่างๆ รวมทั้งการสร้างระบบป้องกันภัยแบบหลายชั้น ตั้งแต่การเตือนภัย การรับมือภัยพิบัติและฟื้นฟูสร้างความยืดหยุ่นของถิ่นฐานแบบสามรวมหนึ่ง ทั้งป้องกันภัย ปรับตัวและคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับมาตราเจ็ดแห่งความตกลงปารีส ที่เรียกร้องให้รัฐภาคีกรอบความร่วมมือฯ ช่วยกันผลักดันและทำให้นโยบายการปรับตัวเป็นจริง ขณะเดียวกันไต้หวันจะยังคงดำเนินมาตรการตามนโยบายการปรับตัวของชาติให้สมบูรณ์ โดยผ่านระบบการกำกับดูแลและกลไกการเตือนภัย

ความรู้ความสามารถของไต้หวันด้านพลังงานหมุนเวียน การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและนวัตกรรมเทคโนโลยีการลดก๊าซเรือนกระจกของไต้หวัน สามารถสนับสนุนการจัดการกับสภาพภูมิอากาศของโลกได้เป็นอย่างดี นวัตกรรมและการปฏิบัติจริงเป็นประเด็นสำคัญของปฏิบัติการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต 

จากการที่ไต้หวันดำเนินการกำหนดราคาคาร์บอนและการผลักดันเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ไต้หวันจะมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผ่านการเสริมความแข็งแกร่งของนโยบายในประเทศ จึงขอเรียกร้องต่อประชาคมโลก โปรดสนับสนุนให้ไต้หวันมีส่วนร่วมใน UNFCCC และกลไกที่เกี่ยวข้องในความตกลงปารีส เพื่อจับมือกับประเทศต่างๆ ร่วมกันสร้างคุณูปการที่มากยิ่งขึ้นในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก.


กำลังโหลดความคิดเห็น