xs
xsm
sm
md
lg

เกาะติดสถานการณ์น้ำปลายฝนต้นหนาวก้าวสู่ฤดูแล้ง 2567/68 “กักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในช่วงเดือนกันยายนต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคม 2567 ก่อนที่กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณตอนเหนือ และอิทธิพลจากไต้ฝุ่นยางิ พายุโซนร้อนซูลิก ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะภาคเหนือมีฝนตกหนาแน่น และในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 มีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนเข้าปกคลุมทำให้ภาคเหนือมีฝนตกหนักในบางพื้นที่อีกครั้ง ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของปริมาณฝนทั้งประเทศในปีนี้จนถึงปัจจุบันสูงกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 21 เกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และมีปริมาณน้ำท่าไหลลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่างๆอย่างต่อเนื่อง
 
กรมชลประทานซึ่งเป็นหน่วยงานหลักด้านน้ำของประเทศ ได้บูรณาการวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบที่เกิดแก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมทั้งได้ใช้โอกาสในช่วงปลายฤดูฝน และในช่วงต้นฤดูหนาวที่ยังมีฝนตกกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 470 แห่งทั่วประเทศ ล่าสุด ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 63,623 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 83% ของปริมาณน้ำที่กักเก็บ มากกว่าปี 2566 จำนวน 2,022 ล้าน ลบ.ม. โดยเป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 39,679 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 76 ของปริมาณน้ำใช้การได้

นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฤดูฝนที่ผ่านมากรมชลประทานได้ดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2567 อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกัน ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนที่ผ่านมาให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ มีการวางแผนใช้ระบบชลประทานไม่ว่าจะเป็นลำน้ำ คลอง หรืออาคารชลประทานในการบริหารจัดการและกักเก็บน้ำ ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก เช่น ฝั่งตะวันออกได้ใช้ประตูระบายน้ำ (ปตร.) มโนรมย์ คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองระพีพัฒน์ ในการบริหารจัดการและกักเก็บน้ำ ส่วนฝั่งตะวันตกได้ใช้ ปตร. มะขามเฒ่า-อู่ทอง ปตร.พลเทพ ปตร.บรมธาตุ คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย คลองบางบาล ในการบริหารจัดการและกักเก็บน้ำ เป็นต้น


สำหรับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานได้บริหารจัดการโดยกระจายน้ำจากด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งในอัตราที่เหมาะสม พร้อมทั้งทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาแบบขั้นบันไดในอัตราไม่เกิน 1,500 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนด้านท้ายน้ำให้ได้มากที่สุด

ส่วนปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หลังจากสิ้นฤดูฝนในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 คาดว่าจะมีปริมาณน้ำรวมกัน 21,765 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 87 ของปริมาณการกักเก็บ โดยเป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 15,060 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 83 ของปริมาณน้ำกักเก็บ ซึ่งกรมชลประทานจะนำปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนดังกล่าวมาบริหารจัดการร่วมกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในลำน้ำ และคลองต่างๆ ที่เก็บกักไว้ มาวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2567/68 ให้เพียงพอต่อความต้องการในทุกๆ ด้าน ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว อย่างแน่นอน รวมทั้งยังจะสำรองน้ำส่วนหนึ่งไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2568 อีกด้วย

“กรมชลประทานมีแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยาช่วงฤดูแล้งปี 2567/68 แบบ 6 เดือน บวก 3 เดือน คือ 6 เดือนในฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567-30 เมษายน 2568 และ 3 เดือนช่วงต้นฤดูฝน คือตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2568 ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่จะเพียงพอใช้ในทุกภาคส่วนตลอดฤดแล้งปี 2567/68 และมีน้ำสำรองในการทำนาปีช่วงต้นฤดูฝนปี 2568 อย่างแน่นอน แม้จะเกิดกรณีฝนทิ้งช่วงหรือมาช้าก็ตาม รวมทั้งยังจะมีน้ำสำรองเพียงพอให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำที่ต้องปรับปฏิทินการปลูกข้าวนาปีให้เร็วขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนถึงฤดูน้ำหลาก ลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น” ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยากล่าวยืนยัน

อีกพื้นที่หนึ่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ คือ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปีนี้ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก อ่างเก็บน้ำของเขื่อนใหญ่และขนาดกลางในพื้นที่ EEC จำนวน 16 แห่ง ล่าสุดมีปริมาณน้ำรวมกัน 1,225 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 ของปริมาณการกักเก็บ และในฤดูฝนที่ผ่านมากรมชลประทานจะดำเนินการเก็บกักน้ำไว้เต็มศักยภาพความจุในช่วงท้ายฤดูตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ


สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC กรมชลประทานจะใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกในการผันน้ำเชื่อมโยง 3 จังหวัด คือ จ.ชลบุรี จ.ระยอง และ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม โดยในส่วนของอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนหลักในการผันน้ำไปกลุ่มอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล-คลองใหญ่-ดอกกราย ล่าสุด ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 มีปริมาณน้ำคือ 260 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 95 ของความจุ ในขณะที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำสำคัญอีกแห่งในพื้นที่ EEC ที่มีโครงข่ายน้ำเชื่อมโยงกับอ่างเก็บน้ำหนองค้อ และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 5 แห่งในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ขณะนี้มีปริมาณ 107 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 97 ของปริมาณการกักเก็บ และยังมีระบบผันน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตมาเติมให้เต็มศักยภาพอีกด้วย

ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าในช่วงฤดูแล้งปี 2567/68 พื้นที่ EEC จะมีน้ำต้นทุนเพียงพอต่อทุกกิจกรรมพื้นฐาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อย่างแน่นอน และยังมีเพียงพอสำรองไว้ ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2568 หากเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งกรมชลประทานจะติดตาม และบูรณาการบริหารจัดการน้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยากล่าวด้วยว่า สำหรับพื้นที่ภาคใต้ที่กำลังมีฝนตกต่อเนื่อง สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่งของภาคใต้ ล่าสุด ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 มีปริมาณน้ำรวมกัน 5,450 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 67 ของปริมาณการกักเก็บ ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 2,744 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้กรมชลประทานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมการรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ เข้าประจำจุดเสี่ยง ตลอดจนตรวจสอบอาคารชลประทานให้ใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปโดยสะดวก สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดแก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารและแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง

กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาล โดยปรับให้วิกฤตกลายเป็นโอกาสที่จะเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้น้ำมีเพียงพอต่อความต้องการ และสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้แก่ประเทศ
















กำลังโหลดความคิดเห็น