“ปานเทพ” เปิดหลักฐานสัญญาจ้างทำแอปฯ หวยออนไลน์ ราคา 2 ล้านยูโร ลงชื่อ “พี่อ้อย” ชัดเจน โดย “ทนายตั้ม” เป็นตัวกลาง รับเงินแล้วบอกบริษัททำแอปฯ ว่า “พี่อ้อย” ยกเลิกสัญญา ก่อนนำเงินไปซื้อบ้านหรู 43 ล้าน ที่อ้างว่าให้โดยเสน่หา หรือให้กู้ยืมมาลงทุน จึงเป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้น
วันนี้(13 พ.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยในรายการ “โหนกระแส” ทางช่อง 3 ดำเนินรายการโดยนายกรรชัย กำเนิดพลอย หรือหนุ่ม เกี่ยวกับคดีที่ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือ “อ้อย” แจ้งความดำเนินคดีนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ฉ้อโกงเงิน 71 ล้านบาท รวมทั้งคดีอื่นๆ รวม 4 คดี
โดยในคดี 71 ล้านบาทนั้น ทางฝ่ายทนายตั้มอ้างว่า เป็นเงินที่ “พี่อ้อย” โอนให้มาโดยเสน่หา แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นอ้างว่าเป็นเงินกู้ยืมเพื่อการลงทุน เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นให้เป็นคดีแพ่ง ซึ่งในรายการวันนี้ นายปานเทพ ได้เปิดเผยหลักฐานว่า ไม่ใช่การให้โดยเสน่หา หรือการให้ยืมเพื่อการลงทุน อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ทางฝ่ายทนายตั้มได้อ้างว่ามีแชตเป็นหลักฐานว่า “พี่อ้อย” ได้ให้เงินทนายตั้มมาลงทุน แต่นายปานเทพได้โต้แย้งว่า ในความเป็นจริงแชตดังกล่าวเป็นการพูดคุยระหว่างทนายตั้มกับ “พี่น้อย” ซึ่งเป็นเลขาฯ ของ “พี่อ้อย” โดยทนายตั้มได้ร้องขอให้ “พี่น้อย” ไปเจรจากับ “พี่อ้อย” อีกขั้นหนึ่ง แสดงว่า “พี่อ้อย” ยังไม่เห็นด้วย
นายปานเทพ กล่าวอีกว่า แชตดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28, 29 และ 30 มกราคม 2566 แต่หลังจากนั้น “พี่อ้อย” ได้ตกลงตามนั้นหรือไม่ และหากเป็นการให้กู้ยืมตามที่อ้าง ทนายตั้มในฐานะเป็นทนายความที่รู้กฎหมายจะต้องทำสัญญากู้ยืมให้ชัดเจน แต่กลับไม่ทำสัญญากู้ แสดงว่าไม่ใช่การกู้ยืม
รวมทั้งถ้าบอกว่าเป็นการลงทุนก็ต้องมีหลักฐานการจดทะเบียนหุ้นส่วน โดยที่อ้างว่าเป็นการลงทุนนั้น ตามแชตระบุว่าจะลงทุนทำแอปพลิเคชั่นหวยออนไลน์ โดยทนายตั้มอวดอ้างว่าตนเองมีเส้นสายรับทำสัมปทานหวยออนไลน์ได้
นายปานเทพกล่าวอีกว่า หลังจากมีแชตดังกล่าวแล้ว “พี่อ้อย” ได้เดินทางจากฝรั่งเศสมาไทย ช่วงวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเซ็นสัญญากับบริษัทำแอปพลิเคชั่นหวยออนไลน์ โดยในรายการ นายปานเทพได้เปิดเผยภาพของสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างบริษัททำแอปพลิเคชั่น กับ “พี่อ้อย” ในฐานะผู้ว่าจ้าง ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 แต่เซ็นจริงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งแสดงว่าทรัพย์สินนี้เป็นของ “พี่อ้อย” ไม่ใช่ของทนายตั้ม และเงินลงทุนก็เป็นของพี่อ้อย ไม่ใช่ของทนายตั้ม ดังนั้นที่บอกว่าเป็นการให้ทนายตั้มกู้ยืมเงินเพื่อมาลงจึงเป็นเรื่องเท็จทั้งสิ้น
นายปานเทพกล่าวย้ำว่า ข้อสำคัญสัญญานี้ทำการปรับปรุงแก้ไขโดยสำนักงานทนายความษิทรา ลอว์เฟิร์ม ของทนายตั้มเอง รวมทั้งตามสัญญาดังกล่าวระบุด้วยว่า “พี่อ้อย” ตกลงว่าจ้างในราคา 2 ล้านยูโร ตรงตามจำนวนเงินที่โอนให้ทนายตั้ม และไม่ใช่สัญญาที่ทำให้มาเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการโอนเงินจากต่างประเทศตามที่ฝ่ายทนายตั้มอ้าง เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินของพี่อ้อยเองสามารถโอนเงินมาประเทศไทยโดยไม่ต้องเสียภาษีได้ จ่ายเพียงแค่ค่าธรรมเนียม ที่ผ่านมา “พี่อ้อย” ก็เคยโอนเงินมาไทยหลายครั้งโดยไม่ต้องเสียภาษี บางครั้งโอนถึง 3 ล้านยูโร
ทั้งนี้ “พี่อ้อย” โอนเงิน 2 ล้านยูโร ให้ทนายตั้ม เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เพราะทนายตั้มอ้างว่าเขาจะเป็นคนดำเนินการ เป็นคนติดต่อบริษัททำแอปฯ และติดต่อพี่อ้อย โดยไม่ให้ทั้งสองฝ่ายมาเจอกันโดยตรง ซึ่งฝ่ายพี่อ้อยหลงเชื่อว่าจะมีการเดินหน้าทำสลากออนไลน์ จึงโอนเงินให้
“กรณีแบบนี้จะเรียกว่าเป็นการกู้ยืมเงินได้หรือเปล่า ถือว่าเป็นให้โดยเสน่หาได้หรือไม่ หรือจะเรียกว่าล่อลวงตั้งแต่แรก เพื่อให้ได้ทรัพย์มาเป็นของตัวเอง เพราะอ้างในไลน์ตลอดว่าทำสลากออนไลน์ แต่ได้เงินมาเสร็จ หลังจากนั้นถอนเงินไปซื้อบ้าน ด้วยเงินสด แล้วมันจะสลากออนไลน์ตรงไหน ลงทุนตรงไหน แสดงว่าเรื่องเหล่านี้เป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกพี่อ้อย”
นายปานเทพ กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นเมื่อบริษัทำแอปฯ ไม่ได้เงิน ก็มีการทวงถาม ทนายตั้มก็บอกว่า “พี่อ้อย” ยกเลิกสัญญาแล้ว ซึ่งในความเป็นจริง “พี่อ้อย” ยังไม่ได้ยกเลิก แต่เมื่อบริษัทไม่รู้ว่ามีการจ่ายเงินมาแล้วก็เลยยุติสัญญา นี่คือที่มาที่ไปว่าทำไมถึงไม่ได้ทำหวยออนไลน์
นายปานเทพเปิดเผยอีกว่า หลังจากทนายตั้มได้เงินก้อนนี้แล้ว วันที่ 22 มีนาคม 2566 ก็เอาเงินก้อนนี้ไปซื้อบ้านราคา 43 ล้านบาทที่ขณะนี้ถูกอายัดแล้ว โดยเปลี่ยนสัญญาจากการซื้อผ่อนเป็นการซื้อด้วยเงินสด หลังจากได้เงินจาก “พี่อ้อย” มา ซึ่งถ้าทำกันถึงขนาดนี้จะถือว่าเป็นการให้เงินมาลงทุนหรือให้โดยเสน่หาได้หรือไม่
นายปานเทพ กล่าวว่า หลังจากทนายตั้มได้รับเงินไปแล้ว จนใกล้ปลายปี 2566 ทนายตั้มก็เริ่มคิดเรื่องภาษีจากเงิน 71 ล้านบาท จึงเจรจากับบริษัทผู้ผลิตแอปฯ ว่า ขอเอาเงินผ่านเงินสัก 70 ล้านบาทได้ไหม แต่ไม่มีความคืบหน้า จนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ใกล้ถึงรอบวงจ่ายภาษี ทนายตั้มเสนอว่าจะเอาเงินผ่านโดยไม่บอกว่าเป็นสัญญาเดิม แบ้งเป็น 3 ครั้ง ครั้งที่หนึ่ง 30 ล้านบาท ครั้งที่สอง 30 ล้านบาท และครั้งที่สาม 11 ล้านบาท และจะให้ค่าตอบแทน 10 ล้านบาท บริษัทผู้ผลิตแอปฯ เห็นว่ายอดใกล้ 71 ล้านบาท สงสัยจะฟอกเงิน จึงปฎิเสธไป ซึ่งมีหลักฐานเป็นบทสนทนา
นอกจากนั้น ทนายตั้มได้พยายามหาทางออกให้ตัวเอง ด้วยการอ้างว่าตนเองได้ว่าจ้างให้อีกบริษัททำแพลตฟอร์มหวยออนไลน์อีกตัวชื่อนาคี เหมือนกับแอปฯ ของบริษัทเดิมแต่มีโลโก้สีเขียว และบอกให้บริษัทนี้ส่งแอปฯ นาคีสีเขียวให้ “พี่อ้อย” แต่บริษัทปฏิเสธเพราะเป็นแอปฯ ของบริษัทอื่น ถ้าส่งให้พี่อ้อยก็เท่ากับหลอกพี่อ้อย จึงไม่ทำตาม
ส่วนกรณีฝ่ายทนายตั้มพยายามอ้างว่านางปทิตตา เบี้ยบังเกิด ภรรยาของทนายตั้มไม่รู้เรื่องของเงิน 71 ล้านบาท เป็นแค่คนรับเงินมาซื้อบ้าน ไม่รู้ที่ไปที่มา เพื่อที่จะยื่นขอประกันตัวนั้น นายปานเทพ กล่าวว่า ไม่จริง เพราะตำรวจรู้แล้วว่ามีข้อมูลการใช้โทรศัพท์ และแชตไลน์ทั้งหมด นางปทิตตาอยู่ในคณะทำงานเรื่องหวยออนไลน์และรับทราบโดยตลอด
นอกจากนี้ นายปานเทพยังเปิดเผยถึงกรณีการว่าจ้างออกแบบทำโรงแรม 9 ล้านบาท ซึ่งทนายตั้มรับเงินจาก “พี่อ้อย” ไป 9 ล้านบาท แต่มีการเปลี่ยนบริษัทออกแบบเป็นบริษัทอื่น ซึ่งคิดราคา 3.5 ล้านบาท และทนายตั้มก็เอาเงินส่วนต่างนั้นไว้กับตัวเอง
ส่วนกรณีซื้อรถเบนซ์ G400d ทางทนายตั้มได้ให้บริษัทผู้จำหน่ายออกใบเสร็จให้ 2 ใบ โดยใบเสร็จที่จ่ายจริงระบุราคา 11.4 ล้านบาท และให้ออกใบเสร็จอีกใบราคา 12.9 ล้านบาท เอาไปหลอก “พี่อ้อย” โอนเงินให้ เพื่อกินส่วนต่างไป 1.5 ล้านบาท ซึ่งวิธีการเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการให้ค่านายหน้าอย่างแน่นอน
สำหรับกรณีล่าสุดคือคดีหลอกเอาเงิน “พี่อ้อย” 39 ล้านบาท ซึ่ง “นุ” และ “สารีณี” คนสนิทของทนายตั้ม เพิ่งถูกจับนั้น นายปานเทพยืนยันว่า ตำรวจมีหลักฐานเชื่อมโยงกับทนายตั้มอย่างแน่นอน โดยทนายตั้มเป็นคนโทรประสานให้ “มี่” ซึ่งเคยทำงานธนาคารให้ช่วยประสานกับธนาคารเพื่อให้ “นุ” เบิกเงินสด 39 ล้านบาทออกมา ทั้งยังกำชับว่าให้เอาแต่แบงก์ใหม่ๆ ด้วย ซึ่งคดีนี้ยังมีหลักฐานมัดทนายตั้มที่ชัดเจนยิ่งกว่านี้ แต่ขอยังไม่เปิดเผยเพื่อไม่ให้กระทบต่อรูปคดี
ชมคลิป >> อ.ปานเทพ ให้สัมภาษณ์ รายการโหนกระแส