xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯ เปิดเวทีเสวนาสรุปผลการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนปี 67 พร้อมก้าวสู่ฤดูแล้งปี 67/68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมชลประทานถอดบทเรียนสถานการณ์น้ำ จัดเสวนา “สรุปการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2567 และเตรียมความพร้อมสู่ฤดูแล้งปี 2567/2568” แลกเปลี่ยนแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำรับมือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยมี ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน นายนพดล น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา และ ผศ.ดร.ไชยาพงษ์ เทพประสิทธิ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ร่วมเสวนา ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายยงยศ เนียมทรัพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา(ด้านวางแผนและโครงการ) เป็นประธานเปิดการเสวนา ณ ห้องโถงอเนกประสงค์ ชั้น 1 อาคาร 99 ปี ม.ล.ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร

นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ฤดูฝนที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย โดยฝนที่ตกส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ อย่างเช่นภาคเหนือตอนบน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลหลากน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมหลายพื้นที่ ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่มีปริมาณฝนตกน้อยจึงเสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้ง ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ คาดการณ์ว่าพายุที่ก่อตัวบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ อาจส่งผลให้เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำที่จะทำให้เกิดฝนตกหนักในช่วง 1 -2 เดือนข้างหน้านั้นยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เนื่องจากสภาพอากาศภายในประเทศที่แตกต่างกัน จึงต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์คาดการณ์เชิงลึกให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำ เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ด้าน ผศ.ดร.ไชยาพงษ์ เทพประสิทธิ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าและการเพาะปลูกเปลี่ยนแปลงไป การบริหารจัดการน้ำจึงทำได้ยากขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงระบบชลประทาน เพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำให้มากขึ้น เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุน รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาช่วยในการติดตามสถานการณ์น้ำฝนน้ำท่า เพื่อให้บริหารจัดการน้ำและการแจ้งเตือนเกิดประสิทธิภาพ ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เห็นคุณค่าการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์ที่สุด โดยหน่วยงานรัฐและเกษตรกรต้องร่วมมือกัน เพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเป็นรูปธรรม

ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ใช้ระบบชลประทานบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ ภายใต้ข้อจำกัดของสภาพอากาศที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ การบริหารจัดการน้ำจึงต้องครอบคลุมจากฤดูฝนถึงฤดูแล้ง ตอนบนเก็บกัก ตอนกลางหน่วง ตอนปลายเร่งระบาย โดยต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำฝนน้ำท่า เวลา ผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน ความมั่นคงของอาคารชลประทาน รวมไปถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องมีการบูรณาการกับหลายหน่วยงานในการช่วยเหลือและบรรเทาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในสภาวะอากาศที่เป็นอยู่ขณะนี้ จะไม่เกิดประสิทธิภาพหากขาดการร่วมกันระหว่างภาครัฐและประชาชน ที่ต้องร่วมกันติดตาม ร่วมกันบริหารจัดการน้ำ สร้างการรับรู้ตระหนักถึงภัยพิบัติที่ผ่านมา นำมาเป็นบทเรียนในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรับมือกับปัญหาด้านน้ำในทุกสถานการณ์ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ด้าน นายนพดล น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงหน้าฝนที่ผ่านมา พื้นที่จังหวัดเชียงรายประสบปัญหาน้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งจากฝนที่ตกหนักติดต่อกันในพื้นที่ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 สู่ 6 แนวทางปฏิบัติ ด้วยการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำอย่างเต็มศักยภาพ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง ใช้ระบบชลประทานเร่งระบาย จัดเตรียมเครื่องจักเครื่องมือ ตลอดจนแจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากระบบเตือนภัยที่ไม่ครอบคลุม การแจ้งเตือนจึงเป็นไปได้ยาก ประกอบกับพื้นที่มีความลาดชันสูงจึงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน อีกทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลของแต่ละหน่วยงานมีความแตกต่างกัน เนื่องจากสถานีวัดน้ำฝนและน้ำท่า ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ต้นน้ำของลำน้ำสาขาต่างๆ ทำให้การคาดการณ์ปริมาณน้ำคลาดเคลื่อน ส่งผลให้เกิดการแจ้งเตือนที่ล่าช้า จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาปรับปรุงการพยากรณ์สภาพอากาศ และระบบติดตามปริมาณน้ำท่า ให้ครอบคลุม ทันต่อสถานการณ์ และแม่นยำมากขึ้น มีการจัดทำ Flood mark เพื่อแสดงระดับเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยง ช่วยให้ทุกภาคส่วนและประชาชน ได้ทราบถึงระดับความรุนแรงของอุทกภัยในพื้นที่ พร้อมสำรวจและแบ่งเขตพื้นที่เสี่ยง เพื่อแจ้งเตือนภัยตามระดับความสูงของน้ำท่วม ให้ประชาชนสามารถอพยบออกจากพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ทุกคนต้องตระหนักรู้และปรับตัวให้เท่าทัน โดยเฉพาะเรื่องของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการในทุกภาคส่วน ร่วมกันวางแผนป้องกันและรับมือสถานการณ์ให้สอดคล้องแต่ละพื้นที่ สามารถลดและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด




















กำลังโหลดความคิดเห็น