ทนายนิด้าออกมาแสดงความคิดเห็นถึงการให้ ทั้งให้โดยเสน่หาและให้ไปลงทุน ชี้หากคนได้รับเป็นทนายย่อมรู้ดี แต่หากอาศัยประโยชน์จากความกำกวมนั้นในการตีความเข้าข้างตนเอง เพราะเหตุว่าตนเองทราบดีอยู่แล้วว่าไม่ได้ให้จริง
วันนี้ (12 พ.ย.) เพจ “ทนายนิด้า” หรือน.ส.ศรันยา หวังสุขเจริญ ทนายความ ได้ออกมาโพสต์แสดงความคิดเห็น โดยระบุข้อความว่า “#ให้โดยเสน่หา กับ #ให้ไปลงทุน จะไปบอกว่าไม่แตกต่างกันคงไม่ถนัดนัก คำว่าให้โดยเสน่หาไม่มีความหมายอื่นนอกจากให้ฟรีไม่มีเงื่อนไขว่าต้องคืน เพราะถ้าให้โดยเสน่หาแล้วยังต้องคืนจะกลายเป็นเรื่องของการยืมทันที
แต่คำว่า #ให้ไปลงทุน ยังไม่แน่ชัดว่าให้ไปแล้วยังมีเงื่อนไขต่อว่าต้องคืนหรือไม่ต้องคืนให้กัน ดังนั้นคำว่า "ให้ไปลงทุน" จึงต้องมีข้อเท็จจริงอื่นประกอบเพื่อพิสูจน์เจตนาคนให้อีกว่าแบบนี้ #ให้ขาด รึ #ให้แล้วต้องคืน
ประเด็นแบบนี้ถ้าเกิดขึ้นกับคู่พิพาทที่เป็นบุคคลธรรมดาทั่วไปอาจจะดูไม่มีพิรุธ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างไม่รู้กฎหมาย และที่ผ่านมาเคยทำคดีลักษณะนี้อยู่ที่ต้องตีความเจตนาของข้อความโดยอาศัยพยานหลักฐานอื่นประกอบ
แต่หากคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งเป็นถึงทนายความ ถ้าเป็นการให้จริง ย่อมสามารถใช้ศักยภาพในระดับปกติธรรมดาได้เลยที่จะทำหลักฐาน, สัญญาหรือบันทึกข้อความเพื่อเป็นหลักฐานการให้นั้นเพื่อป้องกันตนเองไว้แต่ต้นได้โดยไม่จำต้องอาศัยการตีความซึ่งไม่แน่นอน
ยิ่งหากทนายตั้มยืนยันว่ามีการพูดคุยกันเรื่องให้จริงก่อนเลขาฯ คุณอ้อยจะมาถามถึงจำนวนหุ้น ทนายตั้มยิ่งต้องควรรู้ถึงความกลับไปกลับมาในขณะนั้นของคู่กรณี ยิ่งต้องรีบดำเนินการทำบันทึกอย่างใดอย่างหนึ่งไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อป้องกันตนเองเนื่องจากทรัพย์สินมีมูลค่ามหาศาล
การที่ตัดสินใจไม่ทำสิ่งที่อ้างว่าเกิดขึ้นจริง (ยกให้) ไว้เป็นหลักฐานให้ชัดเจน ทั้งที่เมื่อทำแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อตนขั้นสุด จึงสามารถเชื่อได้ว่าจะอาศัยประโยชน์จากความกำกวมนั้นในการตีความเข้าข้างตนเอง เพราะเหตุว่าตนเองทราบดีอยู่แล้วว่าไม่ได้ให้จริง”