JSP ผนึก CDIP เปิดความสำเร็จด้าน Zero Waste ร่วมวิจัยกากเจลาตินเหลือใช้ สู่ผลิตภัณฑ์ ID.KASET น้ำยา EM สารเพิ่มประสิทธิภาพพืช จำหน่ายในราคาจับต้องได้ เผยเทรนด์นวัตกรรมนี้เป็นจุดเปลี่ยนในภาคการผลิต หลังกระแสคนใส่ใจสุขภาพพุ่งสูง ส่งผลโรงงานผลิตอาหารเสริมต้องเพิ่มปริมาณการผลิต ส่งผลขยะจากการผลิตมีมากขึ้น การฝังกลบไม่ตอบโจทย์ในระยะยาวและไม่เกิดการเพิ่มมูลค่า เตรียมส่งต่อองค์ความรู้สู่สังคม ทั้งภาคเกษตรกร และผู้ผลิตในโรงงานระดับชุมชนให้ก้าวสู่นโยบาย Zero Waste ในวงกว้างไปพร้อมกัน
นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (JSP) เปิดเผยว่า JSP ซึ่งให้บริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร ทั้งผู้นำการผลิตยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับคนและสัตว์ โดย JSP ขับเคลื่อนกระบวนการเหล่านี้ผ่าน บริษัท ซีดีไอพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CDIP ซึ่งเป็นผู้วิจัยและพัฒนาในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับ JSP ล่าสุด JSP และ CDIP ได้ร่วมมือกันในการเดินหน้านโยบาย “ขยะเป็นศูนย์ (zero waste)” ในกระบวนการผลิตของ JSP โดยเฉพาะกากเจลาตินเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีมากถึง ..50....ตันต่อปี
บริษัท CDIP ซึ่งเป็นทีมวิจัยและพัฒนา ที่ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ EM สารเพิ่มประสิทธิภาพพืช ภายใต้แบรนด์ “ID.KASET” ซึ่งสามารถเปลี่ยน waste ให้เป็นผลิตภัณฑ์น้ำยา EM ที่มีมูลค่าสูงและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร ช่วยปรับสมดุลดินและน้ำ ช่วยให้พืชเจริญเติบโต ช่วยเกษตรกรลดการใช้สารเคมี รวมถึงสามารถกำจัดกากเจลาตินเหลือทิ้ง ให้เป็นประโยชน์ได้ถึง 450 กิโลกรัมต่อเดือน หรือคิดเป็น 12% ของเจลาตินเหลือทิ้งทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ JSP ได้ร่วมมือกับ อบต.ศรีบัวบาน จ.ลำพูน เพื่อทำการทดสอบการฝังกลบให้เป็นอาหารของพืช ปรากฏว่าสามารถทำได้และปลอดภัย ช่วยลดต้นทุนค่ากำจัด 50,000 บาท แต่ก็ยังไม่สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้ ทำให้เกิดความคิดริเริ่มในการเพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งจากโรงงาน การร่วมมือกับ CDIP ครั้งนี้จึงเป็นความก้าวหน้าอีกขั้น ซึ่งทาง JSP และ CDIP จะไม่เพียงแต่นำผลิตภัณฑ์ ID.KASET ออกจำหน่ายในราคาเพียง set 9 ถุง ในราคาเพียง 990 บาท ผ่านช่องทางออนไลน์ จะยังส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรเพื่อนำไปปรับใช้ให้เกิดเป็นเกษตรกร zero waste เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการผลิตในวงกว้าง
“กากเจลาตินมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี แม้จะสามารถนำไปฝังกลบได้ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากทิศทางที่เพิ่มขึ้นจากความสนใจในกระแสดูแลสุขภาพทำให้โรงงานต้องเพิ่มปริมาณการผลิต ขยะเหลือใช้จึงเพิ่มขึ้นทุกปี การฝังกลบจึงไม่สามารถตอบโจทย์ในระยะยาวได้ การวิจัยครั้งนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่จะนำองค์ความรู้ไปส่งต่อแก่ชุมชน หรือโรงงานผลิตขนาดเล็ก ให้สามารถเดินนโยบาย Zero Waste ไปพร้อมๆ กัน” นายสิทธิชัยกล่าว