ย้อนจับพิรุธ “ทนายตั้ม” จู่ๆ โผล่กองปราบฯ อ้างจะไปให้ข้อมูลทั้งที่ตำรวจยังสอบสวน “พี่อ้อย” ไม่เสร็จ เปิดหลักฐาน “พี่อ้อย” ทำสัญญาจ้าง บ.ษิทรา ลอว์เฟิร์ม เป็นที่ปรึกษากฎหมาย แต่ทนายตั้มให้โอนค่าจ้างเดือนละ 3 แสนเข้าบัญชีพี่เมีย ตัวละครลับที่ถูกตั้งข้อสงสัยเป็นที่ซุกเงินเทาๆ หรือไม่ ขณะผลประกอบการบริษัทฯ 5 ปีที่ผ่านมา ขาดทุนรวมราว 3 ล้านบาท แต่ทนายตั้มกลับมีเงินไปซื้อรถหรู นาฬิกาหรู บ้านหรูราคาหลายสิบล้านบาท
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณี นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ที่ถูก นางจตุพร อุบลเลิศ หรือพี่อ้อย แจ้งความดำเนินคดีฐานฉ้อโกงเงิน 71 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา ในขณะที่พนักงานสอบสวนยังอยู่ระหว่างสอบปากคำพี่อ้อย จู่ๆ นายษิทราได้เดินทางไปที่กองปราบปราม และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่ามาเข้าพบพนักงานสอบสวนคดี 71 ล้านบาท
ประเด็นที่นายษิทราให้สัมภาษณ์ในวันนั้น สรุปได้ว่า
หนึ่ง “ทนายตั้ม” อ้างว่า บอกหลายครั้งแล้วว่าพร้อมให้ข้อมูล รอตำรวจเรียกอยู่ก็ไม่เรียกสักที ทั้งที่ตัวเองอยู่บ้านทุกวัน แต่กลับส่งตำรวจมาดักตัวเองถึงบ้าน
"ประเด็นก็คุณษิทราหายหัวไปไหนก็ไม่รู้ตั้งหลายวัน โทรศัพท์ก็โทร.ไม่ติด ไลน์ก็ติดต่อไม่ได้ นักข่าวเขาเรียกร้องในไลน์กลุ่มให้คุณออกมาแถลงข่าว คุณก็เงียบ ตำรวจเขาก็คงกลัวคุณเป็นอะไรไป หรือ ถูกอุ้ม เขาก็เลยไปดูว่าคุณยังอยู่ดีหรือเปล่า
แต่ประเด็นคือ พอมีข่าวว่าตำรวจเขาจะออกหมายจับ คุณก็รีบวิ่งโร่มาที่กองปราบฯ ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เรียก และคุณก็ไม่ควรมา เพราะว่า “พี่อ้อย จตุพร” เขาก็มาให้ปากคำครั้งที่ 4 ในวันเดียวกัน เหมือนกัน
ซึ่งถ้าคุณไม่โง่ หรือไม่ซื่อบื้อเกินไปก็คงน่าจะพอรู้ว่า ถ้าไม่มีข้อมูล ไม่มีรายละเอียด ตำรวจเขาไม่เรียก “พี่อ้อย” กับทีมงานมาสอบแบบข้ามวันถึง 4 วันหรอก
สอง คุณษิทราพูดวกไปวนมา ยืนยันอ้างว่าเงิน 71 ล้านบาทที่คุณรับโอนจาก “พี่อ้อย จตุพร” มา “ได้มาโดยเสน่หา” พยายามเฟ้นหาคำมาสนับสนุนให้คนเชื่อ เช่น “เมื่อก่อนเคยเป็นที่รัก น้องรัก แต่เดี๋ยวนี้ไม่รักแล้ว” จึงนำมาสู่คดี เพียงพูดให้ฟังดูน่าสงสาร แต่ปรากฏว่าคนฟังเวทนามากกว่าเพราะไม่มีเหตุผล
สาม ตามสไตล์ของผู้ร้ายปากแข็ง คุณษิทราก็กล่าวอีกว่า เรื่องเงิน 71 ล้าน, เงิน 9 ล้าน, รถเบนซ์ 13 ล้าน, เงิน 39 ล้าน รวมๆ กันแล้ว 120-130 ล้านบาท ตัวเองไม่ได้ฉ้อโกง
พร้อมสร้างภาพอีกว่าตัวเองจะพูดไม่ให้ “พี่อ้อย” เสียหาย แต่กลับเอาข้อมูลกรณีเงิน 39 ล้านบาทของ “พี่อ้อย” มาเปิดเผยโดยอ้างว่า “พี่อ้อย” คุยกับสแกมเมอร์ที่ปลอมเป็นดาราจีนมาเป็นปี แต่อ้างว่าตัวเองเป็นคนห้ามเสียด้วยซ้ำ
สี่ คำอ้างอิงของคุณษิทรา เรื่อง “พี่อ้อย จตุพร” ที่มาออกรายการ ผมแล้วพูดว่า “ถ้าเกิดทนายตั้มมาขอโทษ จะยกให้ก็ได้” ผมจะบอกให้ก็ได้ว่าคุณอาจจะดูรายการไม่หมด หรือไม่ก็พูดความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะคลิปนั้นที่ “พี่อ้อย จตุพร” พูดมันเป็นคลิปเก่า ก่อนที่คุณจะไปออกรายการโหนกระแส แล้วอ้างว่า “เขาให้เงินคุณ 71 ล้านโดยเสน่หา” ซึ่ง “พี่อ้อย จตุพร” ได้ฟังเขาก็รับไม่ได้กับคำโกหกของคุณ
ในเวลาต่อมา เมื่อผมถามเรื่องนี้ และสื่ออื่นๆ ก็ถาม เขาเลยยืนยันว่าจะไม่มียกโทษให้ และจะดำเนินคดีกับคุณจนถึงที่สุด
ใครที่ได้ดูไลฟ์สด หรือคลิป ก็คงจะเห็นเป็นประจักษ์ว่า “ทนายตั้ม ษิทรา” ณ วันนี้พูดอะไรไม่มีใครเชื่อ ความเห็นร้อยทั้งร้อย เป็นไปในทางเดียวกัน ว่าคนคนนี้ “ไม่มีเครดิตอีกต่อไป”
อาจจะมีเพียงแค่ “ทนายเดชา” ที่ออกมาพูดสวนกระแสว่า “ทนายตั้ม ษิทรา” ชี้แจงได้ชัดเจนในทุกประเด็น
แต่ใจเย็นๆ สิ่งที่คุณษิทราทำนั้นคุณพูดเพียงแค่ไม่ถึงครึ่ง มันยังมีเรื่องมากกว่านั้นอีกมากที่คุณยังไม่พูด ส่วนคุณเดชาจะรู้หรือ แกล้งไม่รู้ผมไม่ทราบ
แต่หลักฐานต่างๆ นั้นมันชัดเจนเสียยิ่งกว่าชัด ชัดยิ่งกว่าคำพูด ชัดเจนยิ่งกว่าความเห็น เดี๋ยวความจริงที่มีเพียงหนึ่งเดียวก็จะปรากฏชัดเจนเอง เพราะตอนนี้หลักฐานอยู่ที่กองปราบฯ ทั้งหมดแล้ว"
เปิดหน้า “ปิณฑิรา การิวัลย์” พี่สาวเมีย “ตั้ม” รับค่าปรึกษาแทนบริษัท
นายสนธิได้เปิดเผยถึงสัญญา และหลักฐานสำคัญในการจ้างที่ปรึกษา และดูแลผลประโยชน์ทางธุรกิจระหว่าง “พี่อ้อย” กับ บ.ษิทรา ลอว์เฟิร์ม
เอกสารชิ้นนี้ถูกอ้างอิงอยู่ในจากใบบันทึกคำให้การของผู้กล่าวหา หรือใบแจ้งความ ของ “พี่อ้อย จตุพร อุบลเลิศ” เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 พี่อ้อยมอบอำนาจให้ทนายไปแจ้งความดำเนินคดีนายษิทราที่สถานีตำรวจภูธรปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยในใบแจ้งความลำดับเหตุการณ์ และสาระสำคัญดังนี้ คือ
ช่วงต้นปี 2565 หรือ 2 ปีกว่าที่แล้ว ภายหลังจากที่ “พี่อ้อย จตุพร” ซึ่งรู้จักกับ “ทนายตั้ม ษิทรา” ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก และโซเชียลมีเดีย ก็ได้ติดต่อกับ “ทนายตั้ม ษิทรา” โดย “พี่อ้อย จตุพร อุบลเลิศ” ได้ว่าจ้าง “บริษัท ษิทรา ลอว์เฟิร์ม” ให้เข้ามาเป็น ที่ปรึกษาทางกฎหมายและที่ปรึกษาในกิจการหรือธุรกิจที่อยู่ในประเทศไทย และรวมทั้งในกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุตรชายของพี่อ้อย โดย “สัญญาจ้างที่ปรึกษา และดูแลผลประโยชน์ทางธุรกิจ” ถูกจัดทำขึ้นในวันที่ 1 เมษายน 2565 โดยมีทนายตั้ม ษิทรา และพี่อ้อย จตุพร ลงนาม
ทนายของผู้เสียหายคือ “พี่อ้อย จตุพร” ได้ให้ปากคำถึงพฤติการณ์ของทนายตั้ม โดยเริ่มจากคุณอ้อยได้ว่าจ้างบริษัทษิทรา ลอว์เฟิร์ม จำกัด ของทนายตั้มเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ดูแลผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยทำสัญญาตกลงว่าจ้างกันเดือนละ 300,000 บาท หลังจากที่ว่าจ้างกันแล้วก็ไปมาหาสู่ดูแลกันฉันมิตรจนเกิดความไว้วางใจและเชื่อใจต่อตัวทนายตั้มและภรรยา ผู้เสียหายได้ดูแลการเดินทางไปต่างประเทศพร้อมกับท่องเที่ยวของทนายตั้มและครอบครัวหลายต่อหลายครั้ง
สิ่งที่น่าสนใจของสัญญาฉบับนี้ และสิ่งที่เกิดขึ้นเชื่อมโยง คืออะไร
ประเด็นแรก สัญญาฉบับนี้มีระยะเวลา 1 ปี คือ เริ่มบังคับใช้ และมีการจ่ายเงินค่าจ้าง เดือนละ 300,000 บาทในเดือนเมษายน 2565
ประเด็นที่ 2 มีการจ่ายเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายเมื่อเดือนมีนาคม 2566 เนื่องจาก ฝั่ง “พี่อ้อย จตุพร” เห็นว่าจ่ายเงินค่าจ้างเดือนละ 300,000 บาท แต่สำนักงานทนายความของ “ทนายตั้ม ษิทรา” กลับไม่ได้ทำอะไรสมกับค่าจ้างที่ได้รับไป แถมระหว่างนั้นยังขนครอบครัวไปต่างประเทศ แทบทุกเดือน ไปพักโรงแรมหรู ให้เขาจ่าย
ประเด็นที่ 3 ต่อมาเมื่อต้นปี 2567 ฝั่ง “พี่อ้อย จตุพร” มีการทำจดหมายบอกเลิกสัญญาจ้างที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการไปอีกรอบ พร้อมกับย้ำว่าให้ระงับการอ้างอิง หรือนำเอกสารต่างๆ ที่พี่อ้อยให้ไว้ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชาชน หรือหนังสือมอบอำนาจไปดำเนินการใดๆ
ประเด็นที่ 4 แทนที่ฝ่าย “ทนายตั้ม” จะระบุให้ฝั่ง “พี่อ้อย จตุพร” โอนเงินค่าจ้างจำนวน 300,000 บาททุกเดือนไปที่บัญชี บริษัท ษิทรา ลอว์เฟิร์ม จำกัด กลับให้โอนเงินค่าจ้างตามสัญญาไปที่บัญชีบุคคลอื่น ที่ชื่อ “น.ส.ปิณฑิรา การิวัลย์” ซึ่งเปิดบัญชีออมทรัพย์เอาไว้ที่ ธนาคารกสิกรไทย สาขากระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร แล้วทุกเดือน ทุกเดือนในช่วง 1 ปีนั้น หลักฐานทางการเงินก็ระบุชัดว่าฝั่ง “พี่อ้อย จตุพร” ไม่เคยโอนเงินเข้าบัญชี บ.ษิทรา ลอว์เฟิร์ม เลย แต่โอนเงินเข้าบัญชีของบุคคลที่ชื่อ “ปิณฑิรา การิวัลย์” โดยตลอด
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เมื่อไปเปิดดูงบการเงินของ บริษัท ลอว์เฟิร์ม จำกัด ที่นายษิทราอ้างว่ามีรายได้ปีละ 20 ล้านบาท เพราะรับงานว่าความเยอะ แต่ในความเป็นจริง คือ
บริษัท ษิทรา ลอว์เฟิร์ม จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 25 ก.ย. 2561 (เดิมชื่อบริษัท วิสดอม ลอว์ เฟิร์ม จำกัด) ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 1 อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ถ.สาทร
แจ้งงบการเงิน 5 ปีย้อนหลัง ระหว่างปี 2562-2566 มีรายได้รวมประมาณ 37 ล้านบาท รายได้ดีอยู่ปีเดียวคือในปี 2565 ซึ่งมีรายได้รวม 21.9 ล้านบาท ส่วนก่อนหน้านั้นรายได้ก็อยู่ในระดับประมาณ 2 ล้านบาท แล้วก็กำไรเล็กๆ น้อยๆ ขาดทุนมากกว่า
ปี 2562 รายได้ 2,339,973 บาท กำไร 197,461 บาท
ปี 2563 รายได้ 2,010,064 บาท ขาดทุน 1,082,022 บาท
ปี 2564 รายได้ 1,807,018 บาท กำไร 412,503 บาท
ปี 2565 รายได้ 21,940,085 บาท กำไร 3,438,570 บาท
ปี 2566 รายได้ 9,173,364 บาท ขาดทุน 5,950,312 บาท
เรียกได้ว่าตั้งแต่ นายษิทราเปิด บ.ษิทรา ลอว์เฟิร์มมาขาดทุนมากกว่ากำไร ตัวเลขเป็นตัวแดงติดลบ 2-3 ล้านบาทด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมหลายคนถึงถามว่านายษิทราเอาเงินที่ไหนไปซื้อบ้านราคาหลายสิบล้านบาท มีรถหรูอีกหลายคัน สวมนาฬิหาหรู เสื้อผ้าแบรนด์เนมอีกเพียบ ส่วนที่ไปเที่ยวเมืองนอกบ่อยๆ นั้นก็ใช้เงิน “พี่อ้อย” นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีจึงชี้ให้เห็นว่า การกระทำของ “ทนายตั้ม” ในการรับค่าจ้างที่ปรึกษา “พี่อ้อย” แต่กลับให้โอนเงินเข้าคนอื่น ในทางภาษี และทางกฎหมายอาจจะเข้าข่ายเลี่ยงภาษีอย่างชัดเจน
วันนี้ “สรรพากร” ก็รู้เส้นทางทางการเงินชัดเจนแล้วว่า เงินที่ควรจะเข้าบริษัท ษิทรา ลอว์เฟิร์ม นั้นไม่ได้เข้าบริษัท แต่ไปเข้าบัญชีบุคคลที่ชื่อ น.ส.ปิณฑิรา การิวัลย์แทน
คำถามต่อมาที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ ปิณฑิรา การิวัลย์ คือใคร?
หนึ่ง จากข้อมูลทางการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ปิณฑิรา การิวัลย์ ถือหุ้นอยู่ใน บริษัท ษิทรา ลอว์เฟิร์ม ประมาณ 10% มาตั้งแต่ปี 2565 จนถึงมกราคม 2567 ก็ยังถือหุ้นอยู่ โดยเพิ่งจะออกจากการเป็นกรรมการเมื่อกลางปี 2567 ที่ผ่านมานี้เอง
สอง เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลปริศนาที่รับเงินค่าจ้างแทน บริษัท ษิทรา ลอว์เฟิร์ม นั้นมีคนออกมาเปิดเผย คือเพจ CSI LA ตั้งคำถามว่า “อยากให้ตำรวจและนักข่าว ตรวจสอบพี่สาวเมีย #ทนายตั้ม น.ส.ปิณฑิรา การิวัลย์ ซึ่งมีอาชีพคือคนรับใช้ กับเลี้ยงลูกตั้ม แต่เงินในบัญชีเยอะมาก”
สาม ถ้าย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว วันที่ 2 เมษายน 2566 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เคยออกมาเปิดเผยเรื่องราวของทนายคนหนึ่ง
ตอนนั้นนายชูวิทย์โพสต์เฟซบุ๊กใช้หัวข้อว่า “ข่าวด่วน! สัมภเวสีออกอาละวาด” เนื้อหาบอกว่า “ทนายคนดี ชอบแถลงข่าวช่วยประชาชน รวยแค่ข้ามคืน จนคนสงสัยไปทั่ว ทำไมรวยเร็วจัง ที่แท้เบื้องหลังทำพนันออนไลน์หุ้นกับเจ้าหน้าที่ DSI ตัวเตี้ยๆ อายุประมาณ 50 ปี ชื่อเว็บ HengGame (เฮงเกม) มีญาติชื่อ “แจ็ค” ดูแลเว็บให้ !?!
“มิน่าเล่า ว่าความให้แก่ตายไม่มีทางได้นาฬิกาปาเต๊ะเป็นถาด เสื้อตัวละแสน รถปอร์เช่
คนที่รู้ดีคือตำรวจใหญ่ฉายา “เทพ จ.” ที่ต้องหลับตาลงข้าง เพราะใช้งานสนิทกันอยู่ ...”
ทั้งนี้ ในตอนท้ายของโพสต์ดังกล่าว นายชูวิทย์เขียนไว้อย่างน่าสนใจว่า “สำนักงานทนายกำไรต่อปีเท่ารายได้มนุษย์เงินเดือน แต่ใช้ชีวิตหรูหรา ฟู่ฟ่า บ้าแบรนด์เนม บ้านหลังละเกือบร้อยล้าน ส่งลูกเรียนเมืองนอก
ทุกครั้งไปเที่ยวต่างประเทศ มีลูกน้องนายตำรวจใหญ่ “เทพ จ.” มารับถึงสนามบิน เข็นรถให้ ชอปปิ้งหลักล้านปรนเปรอเมีย
ภาษีไม่เคยจ่าย เพราะเงินที่ได้แบบเทาๆ เอาไปแอบซุกไว้ในบัญชีพี่เมีย ชื่อ “ป.””
“ท่านผู้ชมครับ ผมไม่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นเหตุบังเอิญอย่างร้ายกาจหรือไม่ ผมไม่รู้ว่าเรื่องราวที่คุณชูวิทย์เล่าเมื่อปีที่แล้ว มันช่างคล้ายๆ กับ “ทนายแบรนด์เนม” คนหนึ่ง ซึ่งผมไม่รู้ว่าเป็นใคร จะใช่ “ทนายตั้ม ษิทรา” , สำนักงานกฎหมาย ษิทรา ลอว์เฟิร์ม กับพี่สาวภรรยาที่ชื่อขึ้นต้นด้วยป.ปลา คือ ปิณฑิรา การิวัลย์หรือไม่?
ทนายตั้ม หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบฯก็ได้ช่วยสืบค้นข้อเท็จจริงเรื่องนี้ให้ผมหน่อย รวมทั้งกรมสรรพากรซึ่งผมจะไปยื่นเรื่องร้องเรียนอย่างเป็นทางการว่าคุณปิณฑิรานั้นเสียภาษีหรือเปล่า ถ้าไม่เสียเลย เป็นเวลา 12 เดือน เสียภาษีย้อนหลังประมาณเท่าไหร่ และก็จะต้องถูกเบี้ยปรับอีกเท่าไหร่
อันนี้เข้าข่ายในการฟอกเงินหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับผู้เกี่ยวข้องที่ดูแลกฎหมายอยู่จะต้องเป็นคนตัดสินใจ” นายสนธิกล่าว