กองทุนสื่อฯ และสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ เป็นปลื้ม หลังจัด Workshop Camp “เล่นเล่าเรื่อง” ให้คนรุ่นใหม่ได้สร้างคอนเทนต์ด้วยศาสตร์การละคร ประสบความสำเร็จ สามารถต่อยอดไปสู่ความเป็นมืออาชีพ และพัฒนาตัวเอง พร้อมมอบรางวัล งานเขียน “อยากบอกให้โลกรู้”
ดร.ธนกร ศรีสุกใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ระบุว่า โครงการ Workshop Camp “เล่นเล่าเรื่อง” โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ เพื่อให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 18 ถึง 25 ปีปั้นคอนเทนต์ให้โดดเด่นมีความแตกต่าง ด้วยศาสตร์การละคร ด้วยการเรียนรู้ทักษะในการ เล่นละคร การเล่า การสร้างเรื่อง ระหว่างวันพุธที่ 6 ถึงวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 นั้นมีผลตอบรับที่ดีมาก ซึ่งกองทุนสื่อฯ มีภารกิจผลิตบุคลากรและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในแวดวงต่างๆ ในด้านสื่อ และได้มีการทำงานร่วมกับสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ มาอย่างต่อเนื่อง5-6 ปีแล้ว และปีนี้สิ่งที่น่าสนใจคือโครงการ “เล่น เล่า เรื่อง” เป็นการสอนให้คนรุ่นใหม่ได้พัฒนามาเป็นนักเขียนบทโทรทัศน์จากวิทยากรที่เป็นตัวจริงเสียงจริง คนเขียนบทจริง ทำงานอยู่ในวงการมาถ่ายทอดประสบการณ์และเทคนิคทักษะต่างๆ เสริมศักยภาพ ให้แก่คนรุ่นใหม่
โดยเราพบว่าเด็กรุ่นใหม่ผู้ที่เข้าโครงการฝึกอบรมทั้ง 24 คน ที่คัดเลือกมาจาก 154 คน เป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์ได้ทุกคน และในอนาคตยังเชื่อว่ายังสามารถเข้ามาทำงานในวงการพัฒนามาเป็นนักทั้งนักเขียนบทและผู้กำกับได้ในคนเดียวกัน
และโครงการนี้ ยังทำให้เห็นถึงพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ที่ได้ปลดปล่อยและแสดงออกอย่างเต็มที่ ที่สำคัญคือได้เปิดพื้นที่การเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ หลังจากพบว่าหลายคนชีวิตมันท้อแท้เหมือนไม่มีอะไรเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว แต่เมื่อเข้าโครงการนี้ก็ทำให้ค้นพบตัวตนที่สร้างสรรค์ มีพลังบวก ได้มาฮีลใจและเยียวยาใจตัวเอง นอกจากนี้ยังได้ฮีลใจและเยียวยาใจให้กับเพื่อน ๆ ถือเป็นผลพลอยได้ที่น่าตื่นเต้นและดีมาก
ซึ่งการดำเนินงานของกองทุนสื่อฯ ในแต่ละโครงการนั้น ไม่ใช่เรื่องของการบรรลุวัตถุประสงค์ให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการมีทักษะสามารถนำไปต่อยอดเรียนรู้และพัฒนาได้เพียงแต่อย่างเดียว แต่ยังเป็นการยกระดับความเป็นมนุษย์ สิ่งนี้ทำให้เกิดความภูมิใจว่ากิจกรรมเล็กๆในช่วงระยะเวลาไม่กี่วัน ก็ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ ผู้ที่เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่จะเติบโตในวงการของอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ ต่อไปในอนาคต และกองทุนสื่อฯ ก็จะมีโครงการอบรมต่อเนื่องอีกหลายหลักสูตร และผู้ที่เข้าร่วมอบรม ยังสามารถขอทุนกับทางกองทุนสื่อฯในการผลิตผลงานได้ โดยในแต่ละปี กองทุนสื่อฯจะได้งบประมาณจาก กสทช.ปีละ 500 ล้านบาท ในการดำเนินการ
นายสนธยา สุชฏา ประธานหลักสูตรเล่น เล่า เรื่อง เปิดเผยว่า โครงการนี้ ใช้กระบวนการของละครเข้าไปสร้างความมั่นใจให้กับผู้เข้าร่วมอบรม เป็นการพิสูจน์ ให้เห็นว่าเด็กทุกคนเมื่อได้มีการเรียนรู้และฝึกฝน ได้รับคำแนะนำ ก็ทำให้สามารถเดินไปข้างหน้า ซึ่งในตอนแรกของการอบรมเด็กที่เข้ามาจะรู้สึกเกร็งและกลัว แต่กระบวนการละครทำให้เด็กผ่อนคลายและบรรยากาศของทีมงานใช้ความเป็นพี่น้องครอบครัว ทำให้สามาถปลดสวิตช์ และทำให้พลังงานของผู้เข้าร่วมอบรมซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่พุ่งไปไม่หยุด ที่สำคัญยังเป็นการเปลี่ยนทัศนคติให้รู้ว่าในฐานะคนทำสื่อ ควรจะคิดและทำอะไร
ที่สำคัญผู้เข้าร่วมอบรมทั้งหมด พูดว่าจะไม่หยุดเขียน และยังเป็น Soft Power ต่อไปได้ จึงขอให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้นำความรู้ที่ได้ ไปทำงานสื่อต่อไป และยืนยันว่าพื้นที่ในการเป็นนักเล่าเรื่องเปิดกว้าง โดยผลงานที่ดีจะปกป้องตัวของเขาเอง ซึ่งจะได้รับความสนใจ โดยไม่ต้องมีพื้นที่พิเศษ พร้อมฝากภาครัฐ อยากเห็นโครงการเช่นนี้ ไปตามภูมิภาคต่างๆไปอยู่ในพื้นที่ในมหาวิทยาลัย
นายขวัญชัย มะโนศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสาร คณะศิลปศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับรางวัลชนะเลิศ งานเขียน “อยากบอกให้โลกรู้” จากผลงานเรื่อง “ปอบเซียงสี” สะท้อนการเข้าอบรมในโครงการ “เล่น เล่า เรื่อง” โครงการนี้ สอนตั้งแต่ พื้นฐานการเล่นการเล่าละคร เล่าเรื่องราวต่างๆให้สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการเปิดโลก ได้พบเพื่อนที่มีความหลากหลายทั้งศาสนาและภูมิภาค ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และการพบกับนักเขียนบทละครระดับท็อปของประเทศ ที่ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทำให้เกิดประสบการณ์ที่มีค่ามากๆ และจะนำสิ่งที่ได้รับจากการอบรมไปต่อยอด เช่นการเขียนบทละครเขียนเรื่องสั้นและถือว่าเป็นความภูมิใจมากเพราะเป็นรางวัลแรกในวงการของการเขียนบทละคร