xs
xsm
sm
md
lg

ลดต้นทุนเลี้ยงปู-ปลาด้วยปลาหมอคางดำกับข้อควรระวัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย นิกร ประกอบดี

แนวทางหนึ่งที่เกษตรกรช่วยผนึกกำลังกำจัดปลาหมอคางดำ คือการนำมาใช้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงปูและปลากะพง รวมถึงใช้เป็นปลาเหยื่อสำหรับการตกปลาและตกปู ซึ่งนอกจากจะมีประสิทธิภาพในการช่วยกำจัดปลาหมอคางดำแล้ว ยังมีผลพลอยได้ในการช่วยลดต้นทุนการผลิตด้วย

ประมงจังหวัดหลายแห่งเล่าว่าปัจจุบันมีผู้รับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์น้ำ เช่น นำไปเลี้ยงปู หรือเลี้ยงปลากะพง ส่วนชาวประมงที่ออกหาปลาในทะเลก็นำปลาหมอคางดำไปทำเหยื่อปลา เป็นต้น ด้วยเหตุผลสำคัญคือสามารถลดต้นทุนการผลิตสัตว์น้ำได้นั่นเอง อาทิ ธนาคารปูม้าทางภาคใต้ที่ใช้อาหารอยู่ราว 300 กก./วัน ปกติจะซื้อเป็นลูกปลาทะเลราคา 20 บาท/กก.มาเป็นเหยื่อ แต่เมื่อรับซื้อปลาหมอคางดำมาใช้แทนก็ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตปูไปได้มาก ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดี

แต่ก็มีข้อที่ควรระวังก็คือ ปลาหมอคางดำที่นำไปใช้เป็นอาหารสัตว์น้ำนั้นต้องเป็นปลาที่ “ตายแล้ว” เท่านั้น ดังที่นักวิชาการอิสระท่านหนึ่งกล่าวในเวทีสาธารณะว่าด้วยเรื่องปลาหมอคางดำใน จ.จันทบุรี ไว้ว่า “ปลาหมอคางดำที่ดีที่สุดคือปลาที่ตายแล้ว” หากมันยังเป็นอยู่จะเป็นโทษ เนื่องจากความสามารถในการขยายพันธุ์ได้รวดเร็วจากไข่ที่อมอยู่ในปาก

แนวคิดหนึ่งในการป้องกันไม่ให้วิธีการนำปลาหมอคางดำที่เอาไปเลี้ยงปู-เลี้ยงปลาต้องสร้างปัญหาตามมา ก็คือการตัดหัวปลาหมอคางดำออกเสีย เพื่อกำจัดไข่ในปากปลาให้หมดไปก่อน แต่การตัดหัวปลานับพันตันในแต่ละวันก็ดูจะเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าแรงให้มากขึ้นเปล่าๆ แทนที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิต จะกลับกลายเป็นว่าเพิ่มค่าตัดแต่งปลาเหยื่อจนไม่คุ้มค่าที่จะทำ ดังนั้น ข้อมูลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ ไข่ปลาที่อยู่ในปากของปลาหมอคางดำจึงถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง

เกษตรกรผู้เลี้ยงปูม้าใน จ.จันทบุรีเล่าว่าพวกเขายังต้องการความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับปลาหมอคางดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำตอบทางวิชาการเกี่ยวกับ “ไข่ปลาหมอคางดำ” ที่ว่าถ้าไข่ไม่มีความชื้น และอยู่ในที่แห้ง มันจะตายหมดภายใน 15 นาทีนั้น เป็นจริงหรือไม่ หากมีการยืนยันว่าจริง การนำปลาหมอคางดำมาใช้เลี้ยงปูม้าก็จะไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นการเพาะพันธุ์ปลาหมอคางดำ (โดยไม่รู้ตัว) ซึ่งผิดกฎหมายและมีโทษปรับหนักมาก กลุ่มเกษตรกรย่อมยินดีรับซื้อทั้งหมด เนื่องจากช่วยประหยัดต้นทุนได้มาก เมื่อเทียบกับปลาทะเลชนิดอื่น

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับการสร้างภาพให้ปลาหมอคางดำร้ายกาจกว่าปลาอื่นๆ เพราะในพื้นที่จันทบุรี อ.แหลมสิงห์ มีเพียง 2 หมู่บ้านที่พบปลาชนิดนี้ โดยมีการจับปลาทุกสัปดาห์เพื่อประเมินสถานการณ์การแพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในแต่ละครั้งจะพบปลาหมอคางดำเพียง 5-8 ตัว ขณะที่ส่วนใหญ่เป็นปลาหมอไทย และปลาหมอเทศข้างลาย เกษตรกรจึงต้องการข้อมูลเชิงวิชาการจากกรมประมงว่า เมื่อเปรียบเทียบกับปลาหมอเทศข้างลายแล้ว ปลาชนิดใดมีความดุร้ายมากกว่า เพื่อการบริหารจัดการได้อย่างถูกต้อง

น่าดีใจที่เกษตรกรเจ้าของพื้นที่มีความใส่ใจ ร่วมมือกำจัดปลาหมอคางดำ ตลอดจนติดตามเฝ้าระวังกันเช่นนี้ ภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรที่จะให้ข้อมูลตามที่เกษตรกรร้องขอ เช่นหากไข่ปลาไม่สามารถทนอยู่นอกปากพ่อปลาได้เกิน 15 นาทีจริง เรื่องของการตัดหัวทิ้งก่อนนำไปทำอาหารปูก็เลิกคิดไปได้เลย ทุกอย่างจะสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น เกษตรกรก็มั่นใจที่จะผนึกกำลังกำจัดปลาหมอคางดำและนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างลงตัวเกิดประโยชน์รอบด้านได้อย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น