xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างฯ ยันลูกช้างป่า “กันยา” ไม่ได้ตายจากโรคติดต่อจากมนุษย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตาล วรรณกูล ผู้ก่อตั้งศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก ยืนยันลูกช้างป่า ”กันยา“ ไม่ได้ตายจากโรคติดต่อจากมนุษย์ แต่ตายจากไวรัสเฮอร์ปีส์ และไวรัสชนิดนี้พบได้เฉพาะในช้าง ลั่นหากจะกล่าวหาโจมตีใครควรหาข้อมูลเยอะๆ

จากกรณีข่าวเศร้าของคนรักช้าง เมื่อน้อง “กันยา” ลูกช้างสุดน่ารักเจ้าของฉายา “ลูกสาวแห่งชาติ” ล้มแล้วในกลางดึกของคืนวันที่ 5 พ.ย. 2567 หลังน้องกันยาที่อยู่ในความดูแลของฟาร์มช้าง “Patara Elephant Conservation” จ.เชียงใหม่ ถูกส่งไปรักษาอาการป่วย EEHV หรือโรคเฮอร์ปีส์ไวรัสในช้าง ที่โรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

วันนี้ (6 พ.ย.) เฟซบุ๊ก “ตาล วรรณกูล” หรืออดีตนักสื่อสารมวลชน และอดีตโปรดิวเซอร์สารคดี ปัจุบันคือนักพัฒนา/นักวิจัยชุมชน และก่อตั้งศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก จากการที่ได้ฝังตัวในพื้นที่เขาอ่างฤาไน อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ได้โพสต์ระบุข้อความหลังพบมีการบิดเบือนการตายของลูกช้างป่าที่ชื่อกันยา ว่าป่วยเป็นโรคที่มีการติดเชื้อจากคน โดยขออธิบายว่า “กรณีการตายของลูกช้างป่าที่ชื่อ #กันยา ผมไม่แปลกใจหรอกครับว่าลูกช้างตัวนี้จะต้องตายด้วย EEHV (Elephant Endotheliotropic Herpesvirus)

ในช่วงวันสองวันมานี้มีกลุ่มคนอวดรู้บางกลุ่มที่คอยหาประเด็นมากล่าวหาตราหน้าโครงการร่มแดนช้างว่า "โรคนี้ที่กันยาได้รับมาเกิดการติดต่อจากคน" ผมนั่งอ่านทั้งโพสต์และคอมเมนต์ก็อดที่จะหัวร่อไม่ได้ เพราะความเห็นเหล่านั้นใช้ตรรกะของตนฝ่ายเดียวโดยไม่มีข้อมูลอะไรมารองรับเลย นอกจาก "ฟังต่อๆ กันมา และเชื่ออย่างไม่มีเหตุมีผล"

จึงอยากขอสรุปข้อมูลที่ผมพอจะรับรู้จากงานวิจัยต่างๆ ที่เคยรีวิวและเรียนรู้จากบรรดาคณาจารย์สัตวแพทย์ทั้งหลายให้ได้อ่านกันเพื่อให้เรียนรู้กันสักหน่อยว่า "มันไม่ได้ติดเชื้อไวรัสนี้มาจากคน"

1. Elephant Endotheliotropic Herpesvirus - EEHV ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ไวรัสเฮอร์ปีส์ในช้าง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในสกุลย่อย Betaherpesviridae

2. ไวรัสชนิดนี้พบได้เฉพาะในช้าง ทั้งช้างเอเชีย (Elephas maximus) และช้างแอฟริกา (Loxodonta africana) ปัจจุบันพบว่าไวรัสมี 8 ชนิดย่อย ได้แก่ 1, 1A, 1B, 2, 3, 4, 5 และ 6 โดยช้างเอเชียจะพบชนิด 1, 1A, 1B, 3, 4 และ 5

3. การติดเชื้อ พบว่ามาจากการสัมผัสโดยตรงกับช้างที่ติดเชื้อเป็นหลัก โดยเชื้อแพร่ออกมากับสิ่งคัดหลั่งจากงวง น้ำลาย หรือของเหลวต่างๆ ในร่างกาย

และ 4. เชื้อสามารถหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของช้างได้ตลอดชีวิต และจะตรวจพบได้ก็ต่อเมื่อเชื้อออกมาในกระแสเลือด หรือช้างขับเชื้อออกมาทางสิ่งคัดหลั่ง

โลกเรามีเรื่องให้เรียนรู้เยอะแยะไปหมด เชื่อผมสิ และควรหาข้อมูลเยอะๆ ก่อนจะกล่าวหาโจมตีใครนะจ๊ะ

Cr. ภาพจากพี่ป้อม นักวิจัยสัตว์ป่าแห่งภูหลวง




กำลังโหลดความคิดเห็น