คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เตรียมความพร้อมนักศึกษาสู่การสร้างสรรค์คอนเทนต์ ภายใต้โครงการ “Gangster Creator สร้างสรรค์มุมโปรดในมอ ให้มีสีสันผ่านคอนเทนต์” เพื่อยกระดับนักศึกษาที่อยากเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า “อาชีพนักสร้างคอนเทนต์” ซึ่งอาชีพนักสร้างสรรค์และผลิตเนื้อหาต่างๆ บนสื่อโซเชียล ทั้งสื่อออฟไลน์และสื่อออนไลน์ เป็นหนึ่งในอาชีพยอดฮิตที่หางานง่าย ค่าตอบแทนสูง และเป็นที่ต้องการของทุกองค์กรในปัจจุบัน โดยได้จัดการอบรมเรื่องนี้เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ณ Nitade Sandbox มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)
นายปารินทร์ เจือสุวรรณ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า หลักสูตรการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ ได้จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรภายใต้ชื่อ “โครงการสร้างสรรค์มุมโปรดในมหาวิทยาลัยให้มีสีสันผ่านคอนเทนต์ที่น่าสนใจ” เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนานักศึกษาจัดการศึกษาเชิงบูรณาการความรู้ (Knowledge) สมรรถนะ (Competency) ทักษะ (Skills) ทัศนคติ (Attitudes) และคุณลักษณะที่ตรงกับผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcomes) เพื่อพัฒนาฝีมือนักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ในการผลิตสื่อดิจิทัล ผ่านการลงมือปฏิบัติงานจริง ออกอากาศจริง ด้วยกระบวนการคิด วางแผน การปฏิบัติ และสร้างสรรค์คอนเทนต์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงกับความต้องการของหลักสูตร และตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิง ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
นายปารินทร์เปิดเผยว่า โครงการสร้างสรรค์มุมโปรดในมหาวิทยาลัยให้มีสีสันผ่านคอนเทนต์ที่น่าสนใจได้จัดการแข่งขันสร้างคอนเทนต์ที่สนุกสนานและสร้างสรรค์ของนักศึกษา เพื่อเพิ่มสีสันในมุมโปรดของมหาวิทยาลัย มุ่งเน้นเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตสื่อของนักศึกษาผ่านกระบวนการเรียนรู้ทั้ง 3 ขั้นตอน ได้แก่ ก่อนการผลิต (Pre-Production) การผลิต (Production) และหลังการผลิต (Post-Production) ในรูปแบบกิจกรรมกลุ่ม 3-5 คน ที่ร่วมกันคิด วางแผน ตลอดจนการลงมือปฏิบัติงานจริง ด้วยการลงพื้นที่จริง พร้อมทั้งได้รับโอกาสพิเศษไปเรียนรู้กับยูทูบเบอร์ชื่อดังเพื่อถอดองค์ความรู้ด้านการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์แบบมืออาชีพ เพื่อส่งเสริมการผลิตสื่อในรูปแบบกลุ่มให้นักศึกษา และส่งเสริมการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ด้วยตนเอง
ก่อนหน้านี้หลักสูตรได้เปิดรับสมัครนักศึกษาเฉพาะหลักสูตร DCM ชั้นปีที่ 1-3 และวันนี้เป็นการบรรยายการสร้างคอนเทนต์เพื่อพัฒนาทักษะด้านคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ตลอดจนการถ่ายทำและตัดต่อผ่านโทรศัพท์มือถือ พร้อมอธิบายโจทย์การประกวด และกติกาการให้คะแนน รวมไปถึงการเปิดตัวโค้ชแต่ละทีม ประกอบด้วย “โค้ชอานนท์” อาจารย์อานนท์ บัวภา อาจารย์ประจำหลักสูตรการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ, “โค้ชเทียร์ร่า” นางสาวธีระ ประทุมตรี Creative รายการ ประสบการณ์กว่า 15 ปี, “โค้ชเจนนี่” อัญชิการ์ กุมาร อโรร่า อินฟลูเอนเซอร์, “โค้ชทศ” รวิศชา ปัญจวิชญ์ นักแสดงสังกัด ช่อง 7 ตลอดจนการทำโฟกัสกรุ๊ป และลงพื้นที่ผลิตคอนเทนต์ จากนั้นในช่วงสัปดาห์หน้าจะให้นักศึกษาส่งผลงานการถ่ายทำในรูปแบบวิดีโอที่ตัดต่อสำเร็จแล้ว ก่อนจะ Workshop Color Grading ด้วยโปรแกรม After effects และแสดงผลงานแต่ละทีม
“ในทุกปีการศึกษาหลักสูตรการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อมีการจัดกิจกรรมประเภทนี้มาโดยตลอด แต่เทอมนี้จะเป็นอะไรที่พิเศษกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะนักศึกษาจะได้ผลิตคอนเทนต์ ตลอดจนการถ่ายทำในช่วงที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มีงานใหญ่ประจำปี ทั้งช่วงของการรับปริญญา และงาน Open House ซึ่งเป็นช่วงที่สถานที่มีการจัดแต่งสวนดอกไม้งดงามละลานตาภายในมหาวิทยาลัย” อาจารย์หลักสูตรการสร้างสรรค์ดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผย
ด้านนายปกรณ์ ทรงศิลป์ Creative Director บริษัท Zense Entertainment หนึ่งในวิทยากรโครงการสร้างสรรค์มุมโปรดในมหาวิทยาลัยให้มีสีสันผ่านคอนเทนต์ที่น่าสนใจ เปิดเผยว่า นักศึกษายุคใหม่ต้องมีพื้นฐานความรู้คอนเทนต์ก่อนที่จะสร้างสรรค์ผลงานสิ่งใหม่ๆ ซึ่งวิธีคิดสำหรับคนทำคอนเทนต์ใน YouTube ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต YouTube มีการแข่งขันสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะการพัฒนาคุณภาพคอนเทนต์ต้องอาศัยการลงทุนและความพยายามอย่างมาก ยกตัวอย่างก่อนหนี้ บางช่องที่โด่งดังโปรดักชั่นไม่ดี แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าโปรดักชันดีขึ้นเรื่อยๆ เรียกได้ว่าบางครั้งดีกว่างานโทรทัศน์ เพราะสุดท้ายทุกคนมาแข่งกันด้วยคุณภาพ เพราะฉะนั้นวิธีคิดจะไม่เหมือนตอนแรกที่ตั้งใจไว้ จะไม่เหมือนยุคแรกที่เกิดขึ้นมา
“ยุคแรกที่น้องๆ อยากเป็น YouTuber แค่มีกล้องตัวเดียวก็ไปถ่ายได้แล้วและก็มาตัดเอง กล้องตัวเดียวเกิดจากเขามีอุปกรณ์เพียงแค่นี้ ไม่ได้มีงบการลงทุนอะไร ส่วนวิธีการตัดต่อก็ตัดแบบธรรมดา เพราะเขาคิดว่าแค่ลงในยูทูบ แต่กลับได้รับความนิยมมีคนชมและติดตามจำนวนมาก แต่ปัญหาคอนเทนต์ยุคใหม่ พบว่าเด็กยุคใหม่ชอบทำตามมากกว่าคิดเอง ซึ่งการเรียนรู้แบบฮาวทูทำให้เด็กไม่คิดเอง อีกทั้งต้นทุนการผลิตคอนเทนต์ในปัจจุบันสูงขึ้น เนื่องจากมีการแข่งขันสูงและผู้ชมมีความต้องการคอนเทนต์ใหม่ๆ อยู่เสมอ ผู้ผลิตคอนเทนต์จึงต้องหาทางลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันได้” Creative Director บริษัท Zense Entertainment หนึ่งในวิทยากร กล่าว
นอกจากนี้ นายปกรณ์ยังระบุอีกว่า โจทย์การทำกิจกรรมในการทำคลิปวิดีโอของมหาวิทยาลัยในวันนี้ อยากให้นักศึกษาเลือกมุมมองที่แปลกใหม่และน่าสนใจ ตลอดจนการเล่าเรื่องราวของมหาวิทยาลัยในมุมมองของนักศึกษา ซึ่งการตีความโจทย์ของสื่อสามารถทำได้ โดยการสอบถามผู้ชมว่าคิดว่าโจทย์คืออะไร หากผู้ชมสามารถตอบตรงกันได้หลายคน แสดงว่าสื่อนั้นดีในระดับหนึ่ง ส่วนความสนุกกับเรตติ้งเป็นคนละเรื่องกัน สุดท้ายแล้วผู้ที่ตั้งโจทย์ก็คือลูกค้า แต่ถ้างานนี้เป็นงานของคุณเอง คุณลงทุนเอง ไม่มีใครตัดสิน เอาตัวเองเป็นที่ตั้งแล้ววัดกันที่คนดูชอบหรือไม่ชอบ