ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน เปิดเอกสารแจง “เกาะกูด” ยังไงก็เป็นของไทย จะขึ้นศาลไหนก็ชนะ แต่หวั่นคณะเจรจาจะรับใบสั่งจากนักการเมืองละโมบ
จากกรณีประเด็นดรามาในเรื่องของไทยจะเสียดินแดนเกาะกูด จ.ตราด ให้เขมรนั้น จนมีชาวไทยจำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งประชาชนได้ลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันคือ จะไม่ยอมเสียพื้นที่ให้กับเขมรเด็ดขาด
ล่าสุดวันนี้ (6 พ.ย.) ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวในประเด็นที่ยังเป็นข้อสงสัย โดยได้ระบุข้อความว่า
"เกาะกูด ประเด็นที่ชัดเจนไม่ต้องตีความ และประเด็นที่ต้องทำให้กระจ่าง
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 224 ออกวันที่ 7 กรกฎาคม ร.ศ. 126 ในหน้า 345 มีความสำคัญในประเด็นที่ชัดเจนไม่ต้องตีความว่า
“รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดน เมืองด่านซ้ายและเมืองตราด กับทั้งเกาะทั้งหลาย ซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงละไปจนถึงเกาะกูดนั้น ให้แก่กรุงสยาม ตามกำหนดเขตร์แดนดังว่าไว้ในข้อ 2 ของสัญญาว่าด้วยปักปันเขตร์แดนดังกล่าวมาแล้ว”
เรื่องนี้มีพยานเอกสารเป็นแผนที่ Indochina Map 1907 (พ.ศ. 2550 หรือ ร.ศ. 126) ด้วย ดังนั้นไม่ว่าจะขึ้นศาลไหนไทยก็ชนะ กัมพูชาเองก็แถลงอยู่เนืองๆ ว่าไม่ได้ต้องการแผ่นดินบนเกาะกูดของไทย ในขณะที่อ้างสิทธิในพื้นที่เศรษฐกิจทางทะเลโดยอ้างอิงเส้นเขตแดนในข้อ 2
ส่วนกำหนดเขตร์แดนดังว่าไว้ในข้อ 2 (ตรงกับข้อ 1 ของสัญญาว่าด้วยปักปันเขตแดนดังกล่าว) มีความสำคัญในประเด็นข้างต้นว่า
“เขตร์แดนในระหว่างกรุงสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้น ตั้งแต่ชายทะเลที่ตรงข้ามจากยอดเขาสูงสุดของเกาะกูด เป็นหลักแล้ว ตั้งแต่นี้ต่อไปทางตะวันออกเฉียงเหนือถึงสันเขาพนมกระวาน ...” ส่วนข้อความที่ต่อกันไปนั้นแสดงให้เห็นว่าเป็นการเน้นว่าเป็นการแบ่งดินแดนบนบก “…แลเปนที่เข้าใจกันชัดเจนด้วยว่า แม้จะมีเหตุการณ์อย่างไรๆ ก็ดี ฟากไหล่เขาเหล่านี้ข้างทิศตะวันออกรวมทั้งลุ่มน้ำคลองเกาะปอด้วยนั้น ต้องคงเปนดินแดนฝ่ายอินโดชินของฝรั่งเศส แล้วแนวเขตร์แดนต่อไปตามสันเขาพนมกระวานทางทิศเหนือ จนถึงเขาพนมทม ซึ่งเปนเขาใหญ่ปันน้ำทั้งหลายระหว่างลำน้ำที่ไหลไปตกอ่าวสยามฝ่ายหนึ่ง กับลำน้ำที่ไหลไปตกทะเลสาบอีกฝ่ายหนึ่ง ตั้งแต่เขาพนมทมนี้เขตแดนไปตามทิศพายัพก่อนแล้ว จึงไปทางทิศเหนือตามเขตร์แดน ซึ่งเปนอยู่ในปัจจุบันนี้ระหว่างเมืองพระตะบองฝ่ายหนึ่ง กับเมืองจันทบุรีแลเมืองตราดอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว ต่อไปจนถึงที่เขตร์แดนนี้ข้ามลำน้ำใส ตั้งแต่นี้ต่อไปตามลำน้ำนี้จนถึงปากที่ต่อกับลำน้ำศรีโสภณ แลตามลำน้ำศรีโสภณต่อไปจนถึงที่แห่งหนึ่งในลำน้ำนี้ ประมาณสิบกิโลเมตร์หรือสองร้อยห้าสิบเส้นใต้เมืองอารัญ ตั้งแต่นั้นตีเส้นตรงไปจนถึงเขาแดนแรก ตรงระหว่างกลางทางช่องเขาทั้งที่เรียกว่าช่องตะโกกับช่องเสม็ด แต่ได้เป็นที่เข้าใจกันว่า เส้นเขตร์แดนที่กล่าวมาที่สุดนี้ จะต้องปักปันกันให้มีทางเดินตรงในระหว่างเมืองอารัญกับช่องตะโกคงไว้ในเขตร์กรุงสยาม ตั้งแต่ที่เขาแดงแรกที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เขตร์แดนต่อไปตามเขาปันน้ำที่ตกทะเลสาบและแม่น้ำโขงฝ่ายหนึ่ง กับที่ตกน้ำมูนอีกฝ่ายหนึ่งแล้วต่อไปจนตกลำแม่น้ำโขงใต้ปากมูน ตรงปากห้วยดอนตามเส้นเขตร์แดน ที่กรรมการปักปันแดนครั้งก่อนได้ตกลงกันแล้วเมื่อวันที่ 18 มกราคม รัตนโกสินทรศก 125 คฤสตศักราช 1907”
เรื่องนี้มีประเด็นที่น่าสงสัยในการกำหนดเส้นแบ่งเขตเศรษฐกิจทางทะเลของทั้งสองประเทศ หากจะเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนกัน
เขตแดน (ทางบก) ที่เริ่มต้นตั้งแต่ชายทะเลที่ตรงข้ามจากยอดเขาสูงสุดของเกาะกูด ต่อไปทางตะวันออกเฉียงเหนือถึงสันเขาพนมกระวานนั้น ไม่ทราบว่าสมัยก่อนทั้งสองฝ่ายตั้งกล้องเล็งกันอย่างไร เพราะบนหาดทรายนั้นมองไม่เห็นเขาพนมกระวาน เดาคงจะใช้วิธีประมาณเอาโดยอ้างอิงแผนที่อื่น จึงใช้คำว่าสันเขาแทนคำว่ายอดเขา (หากมองเห็น) อย่างไรก็ดี ในแผนที่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันซึ่งทั้งสองฝ่ายยอมรับ จะเห็นเส้นแบ่งเขตแดนสั้นๆ ระหว่างไทยกับกัมพูชาที่บ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ กับอำเภอเกาะกง เป็นเส้นตรงจากแผ่นดินใหญ่ไปลงทะเล ซึ่งเส้นตรงนี้หากลากยาวลงไปในทะเลก็น่าจะผ่านยอดเขาสูงสุดของเกาะกูด (เพราะมองเห็น) แต่มันกลับไปกันคนละทิศละทาง
หากเข้าไปดูภาพประกอบ จะเห็นว่าทำไมผมจึงไม่เป็นห่วงว่าเราจะเสียทีเขมรในเรื่องของการกำหนดเส้นเขตเศรษฐกิจทางทะเลให้เป็นไปตามที่ควร ก่อนที่จะพิจารณาว่ามันมีพื้นที่ทับซ้อนกันกี่มากน้อยอย่างไร แล้วจะแบ่งผลประโยชน์กันเท่าไหร่ ถ้าหากว่าคณะผู้เจรจาของไทยเป็นมืออาชีพผู้เกี่ยวข้องโดยตรง และเป็นที่มั่นใจได้ว่าไม่รับใบสั่งมาจากนักการเมืองละโมบ"
อ่านโพสต์ต้นฉบับ