คณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ 5,083 ไร่ บริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ เนื่องจาก รฟท.ไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้ได้เป็นที่ยุติว่าเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่หาก รฟท.เห็นว่ายังมีสิทธิในที่ดินดีกว่าก็สามารถไปพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไปได้
จากกรณีที่อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1195-1196/2566 เรื่อง ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ลงวันที่ 12 พ.ค. 2566 เพื่อดำเนินการกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริเวณแยกเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 995 ฉบับ อันเป็นการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566
ต่อมาเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ และฝ่ายบริหารโครงการพัฒนาที่ดินและฝ่ายการช่างโยธา ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของ รฟท. ได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อชี้แนวเขตและทำการรังวัดที่ดินของ รฟท.บริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ 5,083 ไร่ จนแล้วเสร็จ และจัดส่งข้อมูลการรังวัดที่ดินให้คณะกรรมการสอบสวนฯ พิจารณานั้น
เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ได้ทำหนังสือแจ้ง เรื่อง การเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า คณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง เนื่องจาก รฟท.ไม่มีหลักฐานเป็นข้อยุติว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท.
“คณะกรรมการสอบสวนฯ ได้ร่วมกันพิจารณา และมีมติยืนยันความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ โดยเห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน จนกว่าจะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ยกเว้นในบริเวณที่มีพยานหลักฐานยืนยันว่ามีการเข้าใช้ประโยชน์โดยมีการสร้างทางรถไฟ ซึ่งจะต้องไม่เกินข้างละ 20 วา หรือ 40 เมตร โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องเป็นผู้นำพิสูจน์การเข้าทำประโยชน์ ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ ไม่มีคณะกรรมการสอบสวนฯ ท่านใดมีความเห็นแย้ง
เมื่อพิจารณาผลการสอบสวนประกอบกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งเห็นว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้ได้เป็นที่ยุติว่าเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงตำแหน่งที่ตั้งขอบเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนฯ ปรากฏว่าการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในท้องที่ตำบลเสม็ด และตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด
ดังนั้น จึงยังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่าได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายจะใช้พิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไข ตามนัยข้อ 12 แห่งกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวน และการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ. 2553 จึงเห็นควรยุติเรื่องในกรณีนี้
แต่อย่างไรก็ดี หากการรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นว่ามีสิทธิในที่ดินดีกว่าก็เป็นเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินจะต้องไปดำเนินการเพื่อพิสูจน์สิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางศาลต่อไป
ขณะที่ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเห็นสมควรไม่เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง ว่า เบื้องต้นรฟท.จะพิจารณาร่วมกับกระทรวงคมนาคมเพื่อหาแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสม ที่ผ่านมาจากหลักฐานของรฟท.เคยนำแผนที่ดินเขากระโดงส่งให้ทางศาลยุติธรรมแล้ว ในระหว่างนั้นมีการสู้คดีถึงชั้นกฤษฎีกา ซึ่งชนะคดีมาแล้ว
ส่วนประเด็นที่ รฟท.เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกรณีที่มีประชาชนครอบครองที่ดินเขากระโดง ซึ่งเราก็มองว่าเหตุใดทำไมกรมที่ดินถึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเมื่อเป็นผู้ออกโฉนดที่ดิน ขณะเดียวกันเราต้องพิจารณาด้วยว่าเหตุผลของอธิบดีกรมที่ดินที่ระบุนั้นมีความเหมาะสมและถูกต้องหรือไม่ คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้ไม่เกิน 30 วัน