ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความอธิบายถึงความวุ่นวายของ “SUBWAY” ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อ่านจบปุ๊บเข้าใจปั๊บ
จากกรณีร้านซับเวย์ประกาศถ้าลูกค้าจะอุดหนุนร้านซับเวย์ของแท้ให้สังเกตหน้าร้านมีเลขที่ร้านและเครื่องหมายสัญลักษณ์ Authorized Franchise หลังลูกค้าเจอเรื่องคุณภาพอาหาร วัตถุดิบขาด กระดาษห่อไม่มีพิมพ์ลาย ขนมปังไม่ใช่ของร้าน ซึ่งเป็นร้านที่ยกเลิกสิทธิแฟรนไชส์ไปกว่า 3 เดือนแล้ว ด้านลูกค้าถามใช่หน้าที่หรือ ควรเป็นหน้าที่ของบริษัทแม่ต้องปิดร้านเหล่านี้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พ.ย. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Pan Meesook” ได้ออกมาโพสต์ข้อความสรุปความวุ่นวายของ “SUBWAY” ที่เกิดขึ้นให้เข้าใจง่ายๆ โดยได้ระบุข้อความว่า
“Subway นี่ตีกันนัวแน่
timeline:
ปี 2003: กำเนิดซับเวย์ในไทยร้านแรกสาขาสีลม โดยบริษัท ฟู้ด ฟอร์เวิร์ด จำกัด โดยนายชวนา ธนวริทธิ์ เป็นเจ้าของ
หลังจากนั้นก็มีสาขาอื่นงอกตามมา โดยระบบตอนนั้นยังเป็นการเปิด franchisee แยกของใครของมัน ขึ้นตรงกับ Subway International BV เองเลย รวมๆ มี 20 กว่าบริษัทที่เปิด
ปี 2019: บริษัท อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป จำกัด ที่นายธนากร ธนวริทธิ์ เป็นเจ้าของ เริ่มเป็นผู้ถือสิทธิ Master Franchise Subway ไทย และก็รับเป็นตัวแทนดูแลแฟรนไชส์ 20 กว่าเจ้าที่เปิดมาก่อน
2019-2024: อะเบาท์ แพสชั่น มี CEO นางสาวเพชรรัตน์ อุทัยสาง (อดีต CMO McDonald Thai) มาบริหาร Subway จนมีเพิ่มเป็น 150 กว่าสาขาในไทย
19 กรกฎาคม 2022: นาวสาวเพชรรัตน์ แถลงออกสื่อในฐานะ CEO ว่า "อะเบาท์แพสชั่นได้รับสิทธิ 10 ปี จากกุมภาฯ 2022-2032 และมีแนวโน้มจะได้ต่ออีก 10 ปีหลังจากนั้น โดยมีแผนจะขยาย 70-80 สาขาต่อปี"
* ข่าวจาก Bangkokpost 19 July 2022
29 กุมภาฯ 2024: บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ประกาศเป็นเจ้าของ Master Franchise Subway แต่เพียงผู้เดียว ผ่านบริษัทลูก (กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด) ที่มีบริษัทลูกอีกต่อ (โกลัค จำกัด) และมีนางสาวเพชรรัตน์ร่วมถือหุ้นด้วย
โกลัคมี PTG ถือหุ้น 70% ผ่านกาแฟพันธุ์ไทย
บริษัท ไลฟ์สไตล์ฟู๊ด (ที่มีชื่อ เพชรรัตน์ อุทัยสาง เป็นกรรมการ) 25%
เพชรรัตน์ อุทัยสาง ถือหุ้นที่เหลืออีก 5%
19 มีนาคม 2024: อะเบาท์ แพสชั่นกรุ๊ป ประกาศออกสื่อ ยืนยันตัวเป็นผู้ถือสิทธิ Master Franchise
Q4 2024: เริ่มมีคนบ่นถึงคุณภาพ Subway ในไทย
3 พฤศจิกายน 2024: เพจ Subway Thailand ที่ตอนนี้กลายเป็นของโกลัค / PTG ประกาศว่ามี Subway 105 สาขาที่โดนยกเลิก franchise ตั้งแต่ 26 July 2024
Fun facts:
-“PTG จ่าย 35 ล้านซื้อแฟรนไชส์ Subway“ เป็นการเขียนข่าวโปรโมตที่ไม่ถูกต้อง 35 ล้านบาทเป็นเพียงสัดส่วน 70% จากทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาทของบริษัทโกลัค เท่านั้น ไม่ใช่มูลค่าสัญญา
- สิทธิ์ Master Franchise แรกสุดผูกอยู่กับบริษัท อะเบาท์ แพสชั่น กรุ๊ป จำกัด ไม่ใช่ตัวบุคคลใดๆ คนหนึ่งที่จะย้ายมันได้
- หน้าเว็บแถลงข่าว Subway Global ยังไม่มีการพูดถึงการเปลี่ยนสิทธิ ข่าวล่าสุดที่พูดถึงไทยคือต้นปี 2022 ประกาศว่าอะเบาท์แพสชั่น เป็นผู้ถือ
- เจ้าของ อะเบาท์ แพสชั่น นายธนากร ธนวริทธิ์ เป็นเจ้าของเดียวกับ ALL (บริษัท ออลล์ อินสไปร์) ที่เพิ่งถูกตัดสินล้มละลาย ไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2024 นี้
- ไม่เคยพบชื่อ เพชรรัตน์ อุทัยสาง ในรายชื่อกรรมการของ อะเบาท์แพสชั่น
- ทุกสาขา Subway ใน ปตท. (คู่แข่ง PTG) โดนยกเลิก
- วันที่ 23 ตุลาคม 2024 CEO Subway ใหญ่ เดินทางมาพบปะ เยี่ยมชมบริษัทโกลัค จำกัด ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของสิทธิ master franchise แต่เพียงผู้เดียว
ตอนนี้มองแล้วสงสารคนที่ซื้อ Franchise จากอะเบาท์ แพสชั่น เพราะสัญญามันเป็นปี สาขาที่เปิดก็ไม่ได้เปิดพร้อมกัน ไม่มีทางหมดสัญญาพร้อมกัน 105 สาขาแน่ สิทธิ Franchise ยังอยู่เขาก็เลยกล้าเปิดต่อในชื่อ Subway ไง
my take: อะเบาท์ แพสชั่น 🫵🏻 จะยื้อสิทธิไว้แล้วเปิดร้านต่อก็เรื่องของคุณ แต่ควรรักษาคุณภาพเดิมที่ทำมาด้วยไม่ใช่โดนตัดซัปพลาย แล้วเนียนหาของที่ต่ำกว่าเดิมมาบริการลูกค้า ไม่รู้ว่าทางนั้นมีปัญหาอะไรกับ Subway Intl BV เขาเลยไปคุยกับเจ้าใหม่ แต่ถ้าจะยื้อไว้ ก็ให้ลูกแฟรนไชส์ทั้งหลายทำให้ดีเหมือนเดิม มีเมนู ซอสครบๆ ซะ
โกลัค/PTG 🫵🏻 ถ้าตัวเองได้ master franchise ถูกต้องแล้ว ก็ควรประกาศออกสื่อตั้งแต่เดือน ก.ค. ที่ 105 สาขาโดนตัดสิทธิและโดนตัดซัปพลายแล้ว ไม่ใช่ให้ลูกค้างงว่าทำไมคุณภาพตก ในฐานะผู้บริหารแฟรนไชส์นับว่าสอบตกมากที่ยอมให้ร้านนอกสังกัดใช้ชื่อตัวเองอยู่ 3 เดือน
ทั้งคู่จะตีกันยังไงก็เชิญเลย แต่ผู้บริโภคต้องมาก่อน อย่าให้ลูกค้าต้องมาซวยได้กินของไม่ดีเพราะพวกแกตีกัน"