MGR Online: ไต้หวันเรียกร้องขอมีส่วนร่วมในองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือตำรวจสากล (INTERPOL) เพิ่อร่วมรับมืออาชญากรรมใหม่ ทั้งการฉ้อโกงหลอกลวงทางดิจิทัล, การโจมตีทางไซเบอร์, การค้ายาเสพติด, อาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย
นายจางจวิ้นฝู ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่บทความเรื่อง 'จับมือกับไต้หวัน ร่วมกันสร้างโลกที่ปลอดภัย ให้ไต้หวันได้ร่วมกิจกรรมของอินเตอร์โพล'
การประชุมองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (International Criminal Police Organization, INTERPOL) หรืออินเตอร์โพล ประจำปี 2024 กำลังจะจัดขึ้นในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ หลายปีมานี้ พัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่รวดเร็ว ทำให้แนวโน้มอาชญากรรมข้ามชาติข้ามพรมแดนเพิ่มสูงขึ้น การก่อคดีอาชญากรรมเป็นระบบแบ่งงานอย่างละเอียด เกิดการซ่อนเร้นแอบแฝงตัวตนและพัฒนาการของกระแสเงินเสมือน ทำให้ประชาชนทุกประเทศล้วนมีโอกาสตกเป็นผู้เสียหาย ฉะนั้น หัวข้อสำคัญของประชาคมโลกในขณะนี้คือ จะร่วมมือข้ามชาติแข็งขันมากขึ้นอย่างไร ยกระดับสมรรถนะการใช้กฎหมายอย่างไร จึงจะสามารถร่วมกันรักษาแนวป้องกันนี้ไว้ได้
อาชญากรรมข้ามชาติในลักษณะใหม่ต่างๆ เป็นดังที่อาเหม็ด นาเซอร์ อัล-ไรซี ประธานอินเตอร์โพลเคยแถลงในวันความร่วมมือตำรวจสากลเมื่อวันที่ 7 กันยายนปีนี้ว่า “การแบ่งปันข่าวกรอง กลยุทธ์และทรัพยากรอย่างเปิดเผย ช่วยให้เราพร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามระดับโลก เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์และการก่อการร้ายได้ดีขึ้น”
ไต้หวันมีองค์กรตำรวจ หน่วยงานยุติธรรม การค้าการเงิน ระบบขนส่งทางอากาศและทางน้ำ ประกอบกับระบบการควบคุมการเข้าเมืองอันเป็นเอกเทศ และมีประสบการณ์ที่หลากหลายกับการร่วมมือปราบปรามการฉ้อโกงหลอกลวงทางดิจิทัลข้ามพรมแดน การค้ายาเสพติด การโจมตีทางไซเบอร์ การต่อต้านอาชญากรรมและการก่อการร้าย การปราบอาชญากรรมของไต้หวันเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ โลกปัจจุบันมีความปลอดภัยร่วมกันอย่างใกล้ชิด การจับมือกับไต้หวันของอินเตอร์โพลจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงและปลอดภัยยิ่งขึ้นแก่ประชาคมโลก
ไต้หวันปลอดภัยติดอันดับระดับโลก การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลให้ทันเวลา
จากการสำรวจดัชนีทางเศรษฐกิจประจำปี 2024 (Business Climate Survey 2024 Report) ของหอการค้าสหรัฐอเมริการะบุว่า สมาชิกนักธุรกิจชาวอเมริกันมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า “ความปลอดภัยของบุคคล” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติมาพำนักถาวรและมาทำงานในไต้หวัน และตั้งแต่ปี ค.ศ.2017 เป็นต้นมา รายการนี้เป็นหัวข้อที่นักธุรกิจชาวต่างชาติพึงพอใจมากที่สุดตลอด 8 ปี
นางซานดรา ออดเคิร์ก (Sandra Oudkirk) อดีตผู้อำนวยการ สถาบันอเมริกันในไต้หวัน (AIT) ก็เคยยกย่องว่า “ไต้หวันเป็นแหล่งพำนักอาศัยที่ปลอดภัยที่สุดของข้าพเจ้า” และจากข้อมูลของนัมเบโอ (Numbeo) ดัชนีความปลอดภัยของไต้หวันติดอันดับที่ 4 ของโลก รองจากประเทศอันดอร์รา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์เท่านั้น ส่วนอัตราการเกิดอาชญากรรมจัดอยู่ 4 อันดับท้ายสุด จากรายงานของเอ็กซ์แพท อินไซเดอร์ (Expat Insider) ประจำปี ค.ศ. 2023 ที่ประกาศโดยอินเตอร์เนชั่น (InterNations) พบว่าในประเทศที่เหมาะกับการอยู่อาศัยทั่วโลก ดัชนีโดยรวมของไต้หวันติดอันดับ 5 คุณภาพชีวิตอันดับ 2 และความปลอดภัยอันดับที่ 8 การรักษาพยาบาลดูแลสุขภาพยิ่งสูงเป็นอันดับที่ 1
ทว่า แม้ไต้หวันจะมีสมรรถภาพสูงในการบังคับใช้กฎหมาย แต่ระหว่างการสืบสวนอาชญากรรมนอกจากความร่วมมือกับมิตรภาพซึ่งทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวดแล้ว การได้รับหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันอย่างทันเวลาก็เป็นกลไกสำคัญในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติเช่นกัน แต่ด้วยอุปสรรคที่ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกอินเตอร์โพล ไต้หวันจึงได้แต่แสวงหาความร่วมมือกับนานาประเทศทางอ้อม และต้องเสียเวลาไม่น้อยกว่าจะได้ข้อมูลที่ต้องการ ซึ่งเมื่อได้มาก็อาจพลาดโอกาสหรือล่วงเลยเวลา สภาพที่เป็นอุปสรรคอันไม่น่าจะเป็นเช่นนี้ ทำให้อาชญากรข้ามชาติมีเวลากระทำความผิดมากกว่าเดิม และก่อให้เกิดความสูญเสียระดับโลกอย่างใหญ่หลวง
การรักษาความปลอดภัยสากลจะไม่สมบูรณ์ ถ้าขาดไต้หวัน
ดังที่ประธานอัล ไรซีกล่าวไว้ หัวข้อการประชุมความร่วมมือตำรวจสากลประจำปีนี้คือ “ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบและการกำกับดูแลของตำรวจ” ซึ่งล้วนเป็นค่านิยมสำคัญของงานตำรวจและความปลอดภัยของโลก หลักการเหล่านี้เป็นรากฐานความมั่นใจของมหาชน และมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการป้องกันอาชญากรรม พิทักษ์ผู้ด้อยโอกาสและผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมของไต้หวัน แน่นอนที่ความร่วมมือของตำรวจสากลคือพลังสำคัญที่สุด
ไต้หวันตั้งอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ที่มีเอกลักษณ์ มีความสามารถในการเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลกับนานาประเทศอย่างต่อเนื่อง และยินดีร่วมมือกับทุกประเทศในการธำรงสันติภาพ ความปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรือง
ปัจจุบัน ไต้หวันได้รับสิทธิในการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศจากหนึ่งร้อยกว่าประเทศ จึงทำให้พาสปอร์ตของไต้หวันกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายการช่วงชิงของอาชญากรข้ามชาติ ขณะนี้ ทางการตำรวจไต้หวันได้ทลายแหล่งซื้อขายพาสปอร์ตไต้หวันของกลุ่มมิจฉาชีพในหลายประเทศ อาชญากรมักใช้พาสปอร์ตปลอมของไต้หวันในประเทศต่างๆ เพื่อหลบซ่อนหนีคดีหรือไม่ก็กระทำการไม่สุจริต เป็นภัยต่อความปลอดภัยของนานาประเทศและเกิดช่องโหว่ร้ายแรงต่อความปลอดภัยของโลก
อย่างไรก็ตาม ไต้หวันสูญเสียสมาชิกภาพใน “องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ” นานถึง 40 ปีด้วยสาเหตุทางการเมือง จึงไม่อาจใช้ข้อมูล ระบบการติดต่อและข้อมูลอาชญากรจากคลังข้อมูลของอินเตอร์โพล และยิ่งไม่สามารถได้รับข้อมูลอาชญากรรมอย่างทันท่วงที หรือแม้แต่การแจ้งให้ทราบถึงคดีใหญ่ (เช่น การฉ้อโกง การค้ายาเสพติด เป็นต้น) หมายจับอาชญากร อีกทั้งไม่อาจนำเสนออาชญากรรมรูปแบบใหม่และประสบการณ์การสืบสวน ข้อมูลการปลอมแปลงพาสปอร์ตของไต้หวันตลอดจนข้อมูลสำคัญต่างๆ แก่ประเทศทั่วโลก ซึ่งยากที่จะสกัดการลุกลามของคดีอาชญากรรมด้วยการตัดไฟแต่ต้นลม
ไต้หวันยินดีร่วมมือกับมิตรประเทศ ปราบอาชญากรรมข้ามชาติ
ลิซา ไลน์ส (Lisa Lines) หญิงชาวออสเตรเลีย เป็นผู้ต้องหาคดียุยงให้คนรักใหม่ใช้ขวานสังหารอดีตสามีจนพิการเป็นอัมพาตเมื่อปี ค.ศ. 2017 หลังจากนั้นก็หนีมากบดานและทำงานในไต้หวัน แม้อินเตอร์โพลจะออกหมายจับแดงตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 2022 พร้อมกับออกหมายเหลืองช่วยลูกน้อยของเธอที่ถูกระบุว่าสาบสูญ แต่เนื่องจากไต้หวันไม่ได้รับข้อมูลชิ้นนี้ จนกระทั่งเดือนตุลาคม ค.ศ. 2023 ทางการตำรวจออสเตรเลียจึงได้ร้องขอให้ไต้หวันช่วยสืบสวนคดีนี้ ตำรวจไต้หวันจึงรับทราบคดีดังกล่าว หลังสืบตามเบาะแส ทางการตำรวจไต้หวันพบว่า ลิซา ไลน์สได้พาบุตรสาวไปท่องเที่ยวสาธารณรัฐปาเลาและแจ้งให้ตำรวจออสเตรเลียทราบ ตำรวจปาเลาจึงได้จับกุมตัวที่นั่นและส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปพิจารณาคดีพร้อมกับช่วยเหลือเด็กให้ได้กลับประเทศของตน
ในปี 2024 หน่วยงานคดีละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ของอินเตอร์โพล (INTERPOL Stop Internet Piracy, I-SOP) ได้ระบุในรายงานที่ใช้ชื่อว่า “โอลิมปิกปารีส 2024 : ภัยคุกคามแฝงการละเมิดลิขสิทธิ์ดิจิทัล” (Paris 2024 Olympic Games : Awareness for Potential Digital Piracy Services) ว่า ไต้หวันเคยคลี่คลายคดีการถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิกโดยใช้กล่องรับสัญญาณอย่างมิชอบ (Unblock Tech TV Box) และได้ขอให้ไต้หวันช่วยแบ่งปันประสบการณ์สืบสวนสอบสวน ขณะเดียวกันก็ขอให้แจ้งการสืบสวนเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยวิธีนี้ที่อาจปรับใช้ในอนาคต เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
สนับสนุนให้ไต้หวันมีส่วนร่วมในอินเตอร์โพล เพื่อเครือข่ายความปลอดภัยนานาชาติที่สมบูรณ์
วันที่ 30 เมษายน ปีนี้ บอนนี่ แกลเซอร์ (Bonnie Glaser) ผู้อำนวยการฝ่ายแผนเอเชียกองทุนเยอรมันมาร์แชล (The German Marshall Fund of the United State) และฌาคส์ เดอ ลีส์ (Jacques deLisle) นักกฎหมาย ซึ่งต่างเป็นที่ปรึกษาระดับนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้ความเห็นข้อกฎหมายระบุว่า มติที่ 2758 ขององค์การสหประชาชาติ ไม่ควรตั้งอยู่บนฐานของ “จีนเดียว”
ต่อจากนั้น ในวันที่ 27 มิถุนายน สถาบันนโยบายทางยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย (Australian Strategic Policy Institute, ASPI) ได้ตีพิมพ์บทความของ ดร.จอห์น คอยน์ (John Coyne) ว่า “การกีดกันไต้หวันออกจากอินเตอร์โพลเป็นความสูญเสียของโลก” (Taiwan’s exclusion from Interpol is the world’s loss) บทความระบุว่า ไต้หวันมีความสามารถใหญ่หลวงด้านการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อปราบอาชญากรข้ามชาติ เช่น การค้ามนุษย์ ซึ่งแม้จะได้รับการสนับสนุนจากหลายประเทศ แต่ไต้หวันยังคงไม่มีโอกาสได้รับข้อมูลและระบบความร่วมมือจากอินเตอร์โพล เท่ากับจำกัดประสิทธิภาพที่ควรมี การให้ไต้หวันได้มีฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ของอินเตอร์โพลจะเพิ่มพูนความปลอดภัยของนานาประเทศ ผดุงความยุติธรรมและลดผลทางลบด้านการปราบอาชญากรรมของโลกที่เกิดจากปัจจัยทางการเมือง
ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันจึงขอทุกประเทศสนับสนุนไต้หวันให้ได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่อินเตอร์โพลในฐานะผู้สังเกตการณ์ ให้ตำรวจไต้หวันได้มีส่วนร่วมในกิจกรรม การประชุม การฝึกอบรมและการแลกเปลี่ยนขององค์กร เพื่อสร้างการติดต่อกับสมาชิกต่างๆ ช่วยกันปิดช่องโหว่ด้านอาชญากรรมอันเกิดจากข้อมูลไม่ครบถ้วน ตำรวจไต้หวันจะยึดมั่นในการธำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของสังคม ลดความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และจะร่วมมืออย่างเต็มที่กับนานาประเทศเพื่อปราบอาชญากรรมข้ามชาติ.