xs
xsm
sm
md
lg

ปลาหมอคางดำระบาดไกล “คนพาไป” ต้องระวังทำปลาเหยื่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2567 กรมประมงประกาศให้บริเวณพื้นที่ 19 จังหวัด เป็นเขตพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ หรือ ปลาหมอคางดำ(Sarotherodon melanotheron) เพื่อประโยชน์ในการป้องกันอันตรายต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศ โดยควบคุมการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำไม่มีชีวิตอย่างเคร่งครัด เพื่อกำจัดและจำกัดปลาหมอคางดำให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด ตลอดจนมีการดำเนินมาตรการต่อเนื่องในการป้องกันในระยะสั้น (จับ-กิน) ระยะกลาง (ปล่อยปลาผู้ล่า-ใช้นวัตกรรม E-DNA) และระยะยาว (ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ) ควบคู่กับการให้ความรู้กับชุมชนและคนไทยเกี่ยวกับกายภาพของปลาและกำจัดปลาตามหลักวิชาการอย่างถูกต้อง 

การดำเนินการตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ ดังกล่าว ต้องได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทุกประเภททั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ ในการนำปลาหมอคางดำไปใช้ประโยชน์ต้องมีการควบคุมอย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายวง และเมื่อเร็วๆนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำ ได้ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันในเวทีเสวนาเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในหลายจังหวัด ว่า การแพร่ระบาดของปลาขณะนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจาก “คนพาไป” โดยเฉพาะการนำไปเป็นปลาเหยื่อให้กับสัตว์น้ำ ทั้งปลาและปู เพราะการเคลื่อนย้ายปลาหมอคางดำโดยไม่มีการจัดการอย่างเหมาะสมมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะทำให้หลุดลอดไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ 

ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ย้ำว่า การใช้ปลาหมอคางดำเป็นปลาเหยื่อในบ่อเลี้ยงปลากระพงขาว หากเหลือปลาหมอคางดำแม้เพียงตัวเดียวในบ่อเลี้ยง ก็จะทำให้เกิดการแพร่กระจายได้แน่นอน รวมถึงการนำปลาหมอคางดำไปใช้เลี้ยงปูม้า จำเป็นต้องป้องกันอย่างดีให้มั่นใจว่าปลาจะไม่หลุดรอดระหว่างการเคลื่อนย้ายหรือมีการแพร่พันธุ์ในบ่อเลี้ยงได้ และการนำไปเป็นอาหารของปูจำเป็นต้องจัดการอย่างถูกต้องทั้งตัวปลาและไข่ปลาในปาก ไม่ต่างจากการนำไปเป็นปลาเหยื่อเลี้ยงปลากะพง เพื่อตัดวงจรชีวิตของปลาหมอคางดำ

นายสนั่น ทองศรี ผู้นำเกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงปูม้า จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า กรมประมงควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปูม้าเรื่องความทนทานของไข่ปลาหมอคางดำว่าสามารถอยู่ในที่แห้งได้นานเท่าไร 15 นาทีหรือมากกว่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการสอบถามไปกับเจ้าหน้าที่กรมประมงและบริษัทผู้นำเข้าปลาหมอคางดำ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนจะช่วยให้เกษตรกรสามารถนำปลาหมอคางดำไปใช้เป็นเหยื่อโดยไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับกลุ่มผู้เลี้ยงปูม้าจังหวัดจันทบุรี มีความต้องการใช้ปลาหมอคางดำเป็นเหยื่อเลี้ยงปู แต่เกิดความไม่มั่นใจเนื่องจากมาตรการของภาครัฐที่ห้ามมีปลาชนิดนี้ไว้ในครอบครอง และกรณีการเคลื่อนย้ายต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศกระทรวงอย่างเคร่งครัดเท่านั้น ทั้งที่ปลาหมอคางดำช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงปูม้าได้ดีเพราะราคาปลาคางดำกิโลกรัมละ 15 บาท ขณะที่เหยื่อจากปลาทะเลอื่นกิโลกรัมละ 20 บาท และต้องการหาตัวแทนในการส่งปลาหมอคางดำที่สามารถตัดหัวปลาให้ด้วยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของปลา เพราะกลุ่มผู้เลี้ยงปูม้ามีความต้องการเหยื่อจากปลาหมอคางดำมาก

เกษตรกรในจังหวัดจันทบุรียืนยันว่า อ่าวคุ้งกระเบนมีปูม้ามากเพราะมีคนนำมาปล่อยปีละหลายพันตัวและยังมีปูที่เกษตรกรเลี้ยงไว้อีก นอกจากนี้ ประมงจังหวัดจันทบุรีมีการสุ่มตรวจปลาหมอคางดำในอำเภอต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ยืนยันได้ว่าอำเภอขลุง และแม่น้ำจันทบุรีไม่มีปลาหมอคางดำ แต่ยังมีความเป็นห่วงรถเร่ที่ขายปลาปล่อยในวันพระ ซึ่งควรมีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดว่าปลาที่จะปล่อยลงไปในน้ำเป็นปลาที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ เกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ควรมีนำระบบไบโอซีเคียวริตี้มาใช้บริหารจัดการฟาร์มซึ่งจะช่วยให้มีการกรองน้ำเข้าฟาร์มและการบำบัดน้ำในฟาร์มทำได้ดีขึ้น การใช้ตาข่ายเพื่อป้องกันการนำพาปลาหมอคางดำจากนก หากตกลงในบ่อเลี้ยงฯ อาจทำให้เกิดการระบาดได้ และควรให้ความรู้เกี่ยวกับปลาหมอคางดำกับเกษตรกรอย่างถูกต้อง ให้สามารถกำจัดปลาหมอคางดำได้ถูกวิธี ซึ่งจะช่วยลดปลาหมอคางดำได้อย่างรวดเร็วตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้  

สำหรับพื้นที่ที่พบปลาหมอคางดำแพร่ระบาด ได้แก่ 1.จันทบุรี 2.ระยอง 3.ฉะเชิงเทรา 4.สมุทรปราการ 5.นนทบุรี 6.กรุงเทพมหานคร 7.นครปฐม 8.ราชบุรี 9.สมุทรสาคร 10.สมุทรสงคราม 11.เพชรบุรี 12.ประจวบคีรีขันธ์ 13.ชุมพร 14.สุราษฎร์ธานี 15.นครศรีธรรมราช 16.สงขลา 17.ชลบุรี 18.พัทลุง และ 19.ปราจีนบุรี

โดย นรชาติ สรงอินทรีย์ นักวิจัยอิสระด้านสัตว์น้ำ








กำลังโหลดความคิดเห็น