พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไป ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคไปยังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในโอกาสนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร โดยเสด็จในการนี้ด้วย
วันนี้ ( 27 ต.ค.) เวลา 15.14 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไป ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคไปยังวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
ในโอกาสนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร โดยเสด็จในการนี้ด้วย โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา นางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีการ เฝ้าฯรับเสด็จ ณ ท่าวาสุกรี
เมื่อเสด็จ ฯ ถึงยังสะพานฉนวนประจำท่าเที่ยบเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการขบวนพยุหยาตราทางชลมารค กราบบังคมทูลพระกรุณารายงาน จำนวนเรือพระราชพิธีทั้ง52 ลำ รวมถึงเรือพระที่นั่ง 4 ลำ
จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พลเรือโท สมบัติ จูถนอม ผู้ควบคุมเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ กราบบังคมทูลพระกรุณารายงานจำนวนฝีพายประจำเรือพระที่นั่งแล้วว่าที่นาวาเอก คมสันต์ ศรีหลง นายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ กราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเคลื่อนขบวนพยุหยาตราทางชลมารค และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เข้าเทียบสะพานฉนวนน้ำ หน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แล้วพล
อากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง รับพระบรมราชโองการแจ้งนายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ให้ยาตราขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
ต่อมาเวลา15.22 น.เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เคลื่อนออกจากท่าวาสุกรีเพื่อเข้าริ้วขบวนยาตราขบวนไปยัง ท่าฉนวนน้ำ หน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม
ขณะนั้นกองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงมาร์ชธงชัยเฉลิมพลชาวพนักงานประโคมกระทั่งมโหระทึก สังฆ์ แพรงอน แตรฝรั่งปี่และกลองชนะประจำเรือพระราชพิธีประโคมขึ้นพร้อมกัน
สำหรับการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ในปี 2567 นี้ กองทัพเรือดำเนินการจัดรูปขบวนตามรูปแบบโบราณราชประเพณีทุกประการ โดยจัดรูปขบวนเรือ แบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย มีกำลังพลประจำเรือ ในทุกริ้วขบวน จำนวน 2,412 นาย ใช้เรือพระราชพิธีทั้งสิ้น 52 ลำ รวมถึงเรือพระที่นั่ง 4 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ซึ่งระยะทางจากฉนวนน้ำท่าวาสุกรีถึงฉนวนน้ำท่าหน้าพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม รวม 3.9 กิโลเมตร
โดยมีเจ้าพนักงานเห่เรือ 2 นาย เรือโทสุราษฎร์ ฉิมนอก และ พันจ่าเอกพูลศักดิ์ กลิ่นบัว. สังกัดกรมการขนส่งทหารเรือ ใช้กาพย์เห่เรือพระราชพิธี4 บทประพันธ์โดย พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย ประกอบด้วย บทสรรเสริญพระบารมี บทบุญกฐิน บทชมเรือ และบทชมเมือง
ทั้งนี้ตามโบราณราชประเพณี ริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่าง ๆ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์ และที่เป็นการพระราชพิธีซึ่งได้ประกอบการมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย และสืบทอดต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ และได้มีมาจนปัจจุบัน แต่เดิมกระบวนพยุหยาตราสถลมารค (บก) หรือชลมารค (น้ำ) เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อประกอบการพระราชพิธีต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี การอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญจากหัวเมืองเข้ามาประดิษฐาน การต้อนรับราชทูตจากต่างประเทศ และการพระบรมศพ เป็นต้น
การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2500 ซึ่งเป็นปีที่ทางราชการได้จัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษขึ้น และได้จัดให้มีขบวนเรือพระราชพิธีอัญเชิญพระพุทธรูป ไตรปิฏก และพระสงฆ์ แห่ไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นการเฉลิมฉลอง ขบวนครั้งนี้เรียกว่า "ขบวนพุทธพยุหยาตรา" การจัดรูปขบวนเรือคล้ายรูปขบวนพยุหยาตราน้อย แต่ไม่ครบ เนื่องจากเรือพระราชพิธีชำรุดเสียหายไปบ้าง มาสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชพิธีครั้งสำคัญการเสด็จเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2562
ในการเสด็จโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นประเพณีที่มีมายาวนาน นับเป็นความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย ที่มีประเพณีอันงดงามและเป็นที่ประจักษ์ แก่สายตาของชาวต่างชาติ และในวันนี้ปวงชนชาวไทยจะได้รับชมความสวยงาม และความยิ่งใหญ่ของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการจัดงานเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 นี้อีกครั้งหนึ่ง