"โทนี เฟอร์นานเดส" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มแคปิตอล เอ เจ้าของสายการบินแอร์เอเชีย ต้องนั่งเครื่องบินการบินไทยไปปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะตั๋วแอร์เอเชียเต็มอีกครั้ง ชาวเน็ตวิจารณ์ขำๆ ถามบอกเล่าเฉยๆ หรือพีอาร์สายการบินว่าผู้โดยสารแน่นเต็มเที่ยวบิน ชี้ขนาดระดับเจ้านายยังไม่มีที่นั่ง
วันนี้ (27 ต.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า อินสตาแกรม tonyfernandes ของนายโทนี เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มแคปิตอล เอ (Capital A) ประเทศมาเลเซีย บริษัทด้านธุรกิจการบินและการท่องเที่ยว เจ้าของสายการบินแอร์เอเชีย โพสต์ภาพตัวเองขณะนั่งบนเที่ยวบินชั้นประหยัดของการบินไทย เมื่อวันที่ 23 ต.ค. พร้อมข้อความระบุว่า "Continuing my travels . I most fly more than a crew. Onto Beijing on @thaiairways . Airasia again sold out. Loke my track suit @danawhite" แปลว่า "การเดินทางของฉันยังคงดำเนินต่อไป ฉันมักจะบินมากกว่าลูกเรือ ไปปักกิ่งกับการบินไทย ตั๋วเครื่องบินแอร์เอเชียหมดอีกครั้ง ดูเสื้อแทร็กสูทฉันสิ" แท็กไปที่ไอจี danawhite ของดานา ไวท์ นักธุรกิจชาวอเมริกันและประธานคนปัจจุบันของสมาคมอัลติเมตไฟติ้งแชมเปียนชิป (UFC) ที่แอร์เอเชียเป็นสปอนเซอร์
ภาพดังกล่าวเป็นที่วิจารณ์แก่ชาวเน็ตมาเลเซีย รวมทั้งผู้ที่สนใจแวดวงการบินในประเทศไทย ทั้งมองว่านายโทนีกำลังวิจารณ์สายการบินคู่แข่งอีกแล้ว บ้างก็มองว่าเป็นการประชาสัมพันธ์สายการบินหรือไม่ เพราะขนาดระดับเจ้านายยังไม่มีที่นั่ง แสดงว่าแอร์เอเชียผู้โดยสารแน่นตลอดเวลา หรือบางคนสงสัยว่านายโทนีบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางเฉยๆ หรือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายโทนีต้องเดินทางกับสายการบินอื่น เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว วันที่ 5 ธ.ค. 2566 นายโทนีเดินทางกับสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เพราะพยายามหาที่นั่งบนเที่ยวบินแอร์เอเชียติดต่อกัน 3 ครั้งกลับไม่มีที่นั่งเลย
สำหรับเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-ปักกิ่ง ของแอร์เอเชียเอ็กซ์ พบว่ามีวันละ 1 เที่ยวบิน ได้แก่ เที่ยวบินที่ D7 342 ออกจากท่าอากาศยานกัวลาลัมเปอร์ (KUL) เวลา 18.55 น. ถึงท่าอากาศยานปักกิ่งต้าชิง (PXX) กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เวลา 01.15 น. ใช้เวลาเดินทาง 6 ชั่วโมง 20 นาที ใช้เครื่องบินแอร์บัส A330-300 จำนวนที่นั่งชั้นประหยัด 365 ที่นั่ง และชั้นธุรกิจ 12 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ airasia.com พบว่าเที่ยวบินดังกล่าวบัตรโดยสารจำหน่ายหมดแล้ว ยาวไปถึงวันที่ 30 ต.ค. 2567 เหลือเฉพาะเที่ยวบินสายการบินอื่นซึ่งบางวันต่อเครื่อง หรือบางเที่ยวบินมีค่าโดยสารราคาที่สูง