xs
xsm
sm
md
lg

"หมอเหรียญทอง" โอด สปสช.เบี้ยวหนี้กว่า 20 ล้าน ยื่น 5 คำขาด ไม่ทำตามอาจหยุดให้บริการผู้ป่วยบัตรทอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ชี้อาจต้องหยุดให้บริการผู้ป่วยบัตรทอง หลัง สปสช.เบี้ยวหนี้กว่า 20 ล้านบาท เผยทำเล่นแง่ออกประกาศไม่ยอมจ่ายเงินย้อนหลัง พร้อมยื่น 5 ข้อดำเนินการเร่งด่วน

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. เพจ "เหรียญทอง แน่นหนา" ของ นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ได้ออกมาโพสต์ข้อความทวงหนี้ สปสช.หลังค้างหนี้ รพ.มงกุฎวัฒนะกว่า 20 ล้านบาท จี้ดำเนินการเร่งด่วน โดยเจ้าตัวได้ระบุข้อความว่า

"เรียนผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจากคลินิกปฐมภูมิส่งต่อ รพ.มงกุฎวัฒนะ เนื่องจาก สปสช.ไม่จ่ายหนี้ค้างชำระค่าแพทย์จำนวนมากกว่า 20 ล้านบาท ตามที่ สปสช.ได้ตกลงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะซึ่งเป็น รพ.ทุติยภูมิรับส่งต่อให้แก่คลินิกปฐมภูมิของ สปสช.จำนวนมาก

โดยสัญญาว่าจะหักจ่ายจากคลินิกปฐมภูมิที่ส่งตัวผู้ป่วยบัตรทองมารับการรักษากับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ตามโมเดล OP-Refer และ OP-Anywhere ที่ สปสช.ประกาศใช้เมื่อ 1 มี.ค. 67 ทั้งนี้ สปสช.นำทีมโดย พญ.ลลิตยา รองเลขาธิการ สปสช. เป็นหัวหน้าคณะ, ทพญ.น้ำเพชร ผอ.สปสช.เขต 13 และคณะ สปสช.เขต 13 ได้เดินทางมาขอความร่วมมือจาก รพ.มงกุฎวัฒนะ โดยตกปากรับคำว่าจะไม่เบี้ยวหนี้เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ ก.ย. 63 อีก แต่ สปสช.ได้เบี้ยวหนี้ด้วยการออกประกาศหลักเกณฑ์ไม่จ่ายค่าแพทย์ในกรณี OP-Refer และ OP-Anywhere ในเดือน ก.ค. 67 โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 67 ทำให้หนี้ค่าแพทย์จำนวนมากกว่า 20 ล้านบาทที่ รพ.ต้องจ้างแพทย์เฉพาะทางกลายเป็นหนี้สูญตราบจนปัจจุบัน

ยังไม่นับรวมกับการลดอัตราจ่ายตามรายการ Fee schedule ที่เป็นราคากลางที่ สปสช.จะต้องหักจ่ายจากคลินิกทำให้ รพ.มงกุฎวัฒนะประสบปัญหาขาดทุนจำนวนมาก นอกจากนี้ คลินิกปฐมภูมิของ สปสช.จำนวนมากก็ 'เหนียวหนี้' ปฏิเสธการจ่ายค่ารักษาพยาบาลอีกมากกว่า 30 ล้านบาท โดยเหนียวหนี้นานกว่า 7 เดือน ทำให้ รพ.มงกุฎวัฒนะขาดสภาพคล่องทางการเงินจนไม่สามารถจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยบัตรทองที่ส่งตัวมาจากคลินิกปฐมภูมิของ สปสช.

ทั้งนี้ รพ.มงกุฎวัฒนะได้พยายามแก้ปัญหาผู้ป่วยบัตรทองที่ส่งตัวมาจากคลินิกปฐมภูมิของ สปสช.ด้วยการจ่ายยาไม่เกิน 7 วันจนในสิ้นเดือน ต.ค. 67 นี้ รพ.มงกุฎวัฒนะไม่มีเงินที่จะจัดซื้อยาเพื่อจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยบัตรทองที่ส่งตัวมาจากคลินิกปฐมภูมิของ สปสช.ได้อีกต่อไปแล้ว

อีกทั้ง สปสช.ก็ไม่จ่ายค่าแพทย์ให้แก่ รพ.มงกุฎวัฒนะตั้งแต่ 1 มี.ค. 67 จนถึงปัจจุบันจนมียอดหนี้สูญค่าแพทย์มากกว่า 20 ล้านบาท ดังนั้น ตั้งแต่ 1 พ.ย. 67 รพ.มงกุฎวัฒนะจึงไม่มีสภาพคล่องทางการเงินที่จะจัดซื้อยาและจ้างแพทย์เพื่อให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ส่งตัวมาจากคลินิกปฐมภูมิส่งต่อ รพ.มงกุฎวัฒนะ

รพ.มงกุฎวัฒนะจึงจำเป็นต้องหยุดให้บริการผู้ป่วยบัตรทองที่มาจากคลินิกปฐมภูมิส่งต่อ รพ.มงกุฎวัฒนะตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 67 เป็นต้นไปจนกว่า สปสช.จะเคลียร์หนี้ค่าแพทย์ตามที่ สปสช.ได้ตกลงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะเมื่อ 1 มี.ค. 67 และเคลียร์หนี้ค้างจ่ายที่คลินิกปฐมภูมิส่งตัวผู้ป่วยบัตรทองมารับการรักษากับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ตามโมเดล OP-Refer และ OP-Anywhere ที่ สปสช.ประกาศใช้เมื่อ 1 มี.ค. 67 ไม่ใช่อัตราที่ สปสช.ประกาศใน ก.ค. 67 แล้วมีผลบังคับย้อนหลังอย่างผิดคำมั่นสัญญา

อย่างไรก็ตาม รพ.มงกุฎวัฒนะได้เสนอหนทางแก้ปัญหาดังกล่าวต่อ สปสช.เขต 13 ด้วยการขอให้ สปสช.ขยายเพดานขึ้นทะเบียนรับผู้ป่วยบัตรทองโดยตรงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ จำนวน 250,000 คน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วยบัตรทองจากคลินิกปฐมภูมิต่างๆ โดยให้มาขึ้นทะเบียนโดยตรงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เดือดร้อนจากปัญหา 'เบี้ยวหนี้' และ 'เหนียวหนี้' อีก

ปัญหา 'เบี้ยวหนี้' โดย สปสช ได้เกิดขึ้นกับ รพ.มงกุฎวัฒนะจำนวน 13.2 ล้านบาทเมื่อ ก.ย. 63 จน รพ.มงกุฎวัฒนะฟ้องต่อศาลปกครอง แต่ศาลปกครองไม่ได้มีความคืบหน้าในการพิจารณามานานถึง 4 ปีแล้ว จนกระทั่ง รพ.มงกุฎวัฒนะต้องประสบปัญหา 'เบี้ยวหนี้และเหนียวหนี้' ในปีงบประมาณ 67 อีก ทั้งยังมากมายมหาศาลจนทำให้ รพ.มงกุฎวัฒนะขาดสภาพคล่องทางการเงิน

ดังนั้น หาก สปสช.มีความจริงใจในการแก้ปัญหาผู้ป่วยบัตรทองจากคลินิกปฐมภูมิส่งต่อ รพ.มงกุฎวัฒนะ สปสช.จะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้อย่างเร่งด่วนที่สุด

1. เคลียร์หนี้ค่าแพทย์ตามโมเดล OP-Refer และ OP-Anywhere ที่ สปสช.ได้ตกลงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ เมื่อ 1 มี.ค. 67 ไม่ใช่ออกประกาศอัตราที่ สปสช.ประกาศใน ก.ค. 67 แล้วให้มีผลบังคับย้อนหลังอย่างผิดคำมั่นสัญญา

2. เคลียร์หนี้ค้างจ่ายที่คลินิกปฐมภูมิส่งตัวผู้ป่วยบัตรทองมารับการรักษากับ รพ.มงกุฎวัฒนะตามโมเดล OP-Refer และ OP-Anywhere ที่ สปสช.ประกาศใช้เมื่อ 1 มี.ค. 67 ออกประกาศอัตราที่ สปสช.ประกาศใน ก.ค. 67 แล้วให้มีผลบังคับย้อนหลังอย่างผิดคำมั่นสัญญา

3. ขยายเพดานขึ้นทะเบียนรับผู้ป่วยบัตรทองโดยตรงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ จากปัจจุบัน 50,000 คนเป็น 250,000-300,000 คน ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยบัตรทองจากคลินิกปฐมภูมิของ สปสช.ต้องเดือดร้อนจากการที่ รพ.มงกุฎวัฒนะขาดทุนและขาดสภาพคล่องทางการเงินจากปัญหา 'เบี้ยวหนี้' และ 'เหนียวหนี้' จากระบบส่งต่อหรือ OP-Refer อีก

4. หาก สปสช.ไม่รีบดำเนินการในข้อ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 67 ผู้ป่วยบัตรทองจากคลินิกปฐมภูมิของ สปสช.มากกว่า 200,000 คนจะไม่สามารถมารับการตรวจรักษากับ รพ.มงกุฎวัฒนะได้

5. สำหรับผู้ป่วยบัตรทองที่ขึ้นทะเบียนปฐมภูมิโดยตรงกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่ต้องกังวลใจ ยังคงใช้บริการตามปกติ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน
พลตรี เหรียญทอง แน่นหนา
ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ
25 ต.ค. 67 เวลา 21.01 น."
กำลังโหลดความคิดเห็น