“สนธิ” จัดชุดใหญ่ไฟไหม้บ้านให้ “ทนายตั้ม” เปิดหลักฐานลูกความโอนเงิน 71 ล้านให้ทนายตั้ม เพื่อลงทุนแพลตฟอร์มหวยออนไลน์ ตีแสกหน้าข้ออ้างให้โดยเสน่หา ทั้งที่ไม่เข้าข่ายตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.521 ส่อเลี่ยงภาษี พร้อมเปิดตัว “จตุพร อุบลเลิศ” หรือ "อ้อย" สาวไทยผู้ไปใช้ชีวิตกับสามีที่ฝรั่งเศส ผู้มีน้ำใจดูแล “ทนายตั้ม” และครอบครัวแทบทุกอย่าง แต่โดนลูกตุกติกจากทนายแบรนด์เนมหลายกรณี
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2567 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึง กรณีนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม ซึ่งถูกลูกความแจ้งความดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงเงิน 71 ล้านบาทที่โอนมาให้จากต่างประเทศเพื่อการลงทุน โดยนายษิทราอ้างว่า ลูกความโอนมาให้ด้วยความเสน่หา และไม่ยอมคืนเงินจำนวนดังกล่าว
โดยนายสนธิได้เท้าความว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม นายษิทราได้ติดต่อมาเพื่อขอเข้าพบ แต่ตนไม่ว่างเนื่องจากต้องเตรียมตัวเป็นประธานกฐินหลายแห่ง จึงบอกกลับไปว่าเอาไว้รอเวลาพร้อมเมื่อไหร่จะแจ้งให้ทราบ
แต่เมื่อวันพุธที่ 23 ตุลาคม 2567 “ทนายตั้ม ษิทรา” ได้ออกมาเคลื่อนไหวอะไรผิดปกติ เหมือนกับร้อนตัวอะไรสักอย่าง ดังนี้
ช่วงเช้าประมาณ 10 โมงเช้า “ทนายตั้ม” มีการนัดแนะนักข่าวให้ไปทำข่าวสำนักงาน Sittra Law Firm อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ถ.สาทรใต้ โดยในการแถลงข่าวก็มีการเชิญ “พี่อัจ” นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ไปร่วมแถลงข่าวด้วยโดยอ้างว่าขอหย่าศึกระหว่าง 2 คน ที่กินเวลาต่อเนื่องยาวนานถึง 6-7 ปี โดยอ้างว่าถึงเวลาต้องทำงานช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งกล่าวด้วยว่า
“ทะเลาะกันมาร่วม 7 ปี แล้ว วันนี้ถึงเวลาแล้วที่จะเลิกแล้วต่อกัน แล้วมาช่วยกันทำงาน ต่างคนต่างทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนต่อไป เดินหน้าตรวจสอบตำรวจใหญ่ต่างๆ เรื่องดิไอคอน ในสัปดาห์หน้าจะมีการเปิดตัวละครสำคัญของเรื่องนี้ ในเรื่องของเทวดาต่าง ๆ”
สรุปคือ “อ้างประชาชน” โดยบอกว่ามีเรื่องที่ต้องช่วยเหลือประชาชนเลยต้องเลิกแล้วต่อกันเสียอย่างนั้น ?!?
ต่อมาในช่วงประมาณเที่ยงวัน “ทนายตั้ม ษิทรา” ก็ออกมาโพสต์ภาพ และข้อความระบุว่า
“วันนี้พี่อัจฉริยะ เข้ามาขอโทษผมที่บริษัท พูดตามตรงผมก็ระแวงนะ คนเคยรักกัน มาทำกันขนาดนั้นพูดตามตรงมันก็ผูกใจเจ็บ แต่พี่เขารับปากต่อหน้าสาธารณชน ว่าจะไม่หักหลังไม่ทำร้ายกันอีก และจะใช้เวลาจากนี้ในการต่างคนต่างช่วยเหลือสังคมกันต่อไปในอนาคต ผมเลยไม่ติดใจอะไรกับแกอีกครับ”
ทั้งนี้สำหรับ มหากาพย์ความขัดแย้งระหว่าง “ทนายตั้ม ษิทรา” กับ “อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์” นั้นผมเคยเล่าให้ฟังอย่างละเอียดไปแล้วตั้งแต่กว่า 3 ปีก่อน คือ รายการคุยทุกเรื่องกับสนธิ Ep.90 ออกอากาศเมื่อวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน 2564 อีกด้วย โดยรายการนี้มีคนเข้ามารับชมในแพลตฟอร์มต่างๆ มากกว่า 2 ล้านครั้ง
ท่านผู้ชมที่ยังไม่เคยรู้เรื่องเบื้องลึก-เบื้องหลัง และเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างสองคนนี้ลองไปเปิดชมดูได้
นอกจากนี้ ในปีนี้ ปี 2567 ระหว่างที่ความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังร้อนระอุ เพราะเป็นความขัดแย้งระหว่าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. กับ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล ที่ดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. กลายเป็นเรื่องสั่นสะเทือนวงการตำรวจและสังคมไทย โดย “ทนายตั้ม” กับ “อัจฉริยะ” ก็เลือกยืนอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกันอย่างชัดเจน คือ “ทนายตั้ม” ยืนอยู่ข้าง พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ส่วน “อัจฉริยะ” นั้นยืนอยู่ข้าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์
เพราะฉะนั้น การออกมาจับไม้จับมือ โอบไหล่ของบุคคลสองคนนี้จึงเป็นเรื่องแปลกประหลาด และน่าสงสัยอย่างยิ่งว่า มีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่?
จนกระทั่ง ผมมาถึงบางอ้อในช่วงหลังเที่ยง ซึ่งทั้งสองคน จูงมือมาออกรายการโหนกระแส ทางช่อง 3 ดำเนินรายการโดย “คุณหนุ่ม” กรรชัย กำเนิดพลอย หรือที่ช่วงหลังหลายคนให้ฉายาว่า “ครูกะปิ” โดยใช้ชื่อตอนว่า ติดกับดัก ...รักบอสตัวร้าย Ep.8 ตอน "คู่หูต๊อกต๊อกแต๊กแต๊ก"
ประเด็นก็คือจู่ ๆ ช่วงหนึ่งของรายการโหนกระแสวันนั้น วันพุธที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเชิญ “ทนายตั้ม ษิทรา” กับ “อัจฉริยะ” มาเป็นแขกรับเชิญในรายการ คุณหนุ่ม กรรรชัย จู่ ๆ ก็ “ ฃชงคำถาม” ถึงนายษิทรา ว่าที่มาของความร่ำรวยที่หลายคนสงสัยว่า ร่ำรวยมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่รายได้จากค่าทนายไม่ได้มากเป็น “ทนายสายโจร” หรือ “ทนายสีเทา”หรือไม่ ?!
ผมจะอ่านข้อความแบบคำต่อคำให้คุณฟัง
หนุ่ม กรรมชัย - เปิดใจเลยนะ ผมถามจริงๆ คุณรู้สึกยังไงบ้างที่คนมักจะบอกว่าคุณเป็นทนายสีเทา ทำไมอยู่ดีๆ ใส่แบรนด์เนม ร่ำรวย โชว์บ้าน โชว์รถ โชว์เสื้อผ้าต่างๆ นานา ทั้งๆ ที่เป็นทนายความเนี่ย
ขออภัยนะ ไม่โกรธกันนะ เงินก็ไม่ได้มากมายอะไร เอาตรงๆ ผมไม่รู้นะ ผมบอกอย่างนี้ก่อน เงินทนายอาจจะไม่ใช่เงินมากมาย เพราะคดีความแต่ละคดีมันก็ ... ใช่ไหม บางที ยิ่งไปช่วยคนต่างๆ นานา ทนายประชาชนช่วยคน
เงินมันจะมีขนาดที่คุณบินเฟิร์สตคลาส บินบิซเนส แต่งตัวแบบหรู โก้ คนก็บอก อ๋อ นี่มันทนาย (ขออภัย อย่าโกรธนะ) ทนายสายโจร ทนายสีเทา เนี่ย ไปเรียกรับเงินเขา ต่างๆ นานา มันถึงได้มีเงินแบบนี้ คุณเคลียร์ซิ ว่าอย่างไร ผมก็สงสัยนะ เอ้อ ไม่เคยรู้เลย
ทนายตั้ม - ผมบอกเลยว่าไม่เป็นความจริงเลยนะครับ ไอ้เรื่องที่บอกว่าผมเป็นทนายสีเทา อะไรอย่างนี้ คือที่ผ่านมา ที่ผมทำออฟฟิศที่ ษิทรา ลอว์ เฟิร์ม ผมรายได้ค่อนข้างจะเยอะนะครับ แต่ว่าคนที่เอามาลงเนี่ย เอามาลงรายได้ของปีก่อน ซึ่งก่อนที่ผมจะทำที่ ษิทรา ลอว์ เฟิร์ม นะครับ รายได้ของผมตกปีนึงไม่ต่ำกว่ายี่สิบล้าน แล้วตรงนี้ผมก็แจงภาษีครบหมด แล้วที่เห็นผมไปต่างประเทศบ่อย ผมไป ผมไปกับลูกความนะครับ แล้วผมจะบอกเลยว่า บ้านผมเนี่ย ลูกความจ่ายเงินให้ ถึงขนาดว่าบิน “บิสเนส”(ชั้นธุรกิจ) ทุกคน ตลอด
หนุ่ม กรรชัย - ลูกความไหน ?
ทนายตั้ม - ลูกความผม ต้องบอกอย่างนี้ครับว่า เป็นมหาเศรษฐี เป็นมหาเศรษฐี คือไม่ได้พูดถึงว่าเศรษฐีธรรมดานะครับ เป็นมหาเศรษฐี คือแบบอยู่ต่างประเทศ
หนุ่ม - อันนี้เรื่องจริงหรือเปล่าเนี่ย
ทนายตั้ม - เรื่องจริงครับ ที่มีเงินเยอะมาก ไอ้เงินที่จะมาจ่ายให้ผมเนี่ย ล้าน สองล้าน เพื่อที่จะบินไปหาเขา ทุกเดือนที่ผมบิน มันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ สำหรับเขา คือเขามาไทย เขามาหาหมอที มารักษาหน้าที ก็ทีละหกแสน เปิดบิลที
หนุ่ม กรรชัย- เป็นคนไทยหรือเปล่า อยู่ที่ไหน?
ทนายตั้ม- คนไทยครับ แต่ว่า อยู่ต่างประเทศ ผมขอไม่ลงรายละเอียดลึกแล้วกัน แต่ว่า คือเขามีเงินเยอะมาก คือเอาอย่างนี้ เมื่อก่อน ช่วงปีที่ผ่านมาเขาก็ให้เงินเดือนผมนะครับ ในการที่ผมดูแลเรื่องของเขาในประเทศไทยทุกอย่าง เรื่องธุรกิจ แล้วก็เรื่องที่เขามีปัญหาอยู่ที่ต่างประเทศด้วย ผมก็ดูแลและจัดการให้หมด เขาก็ให้เงินเดือนผม จนตอนหลังเราสนิทกันมาก เขาก็บอกว่า เอ่อ พี่ไม่ให้เงินเดือนแล้วนะ อะไรอย่างนี้
หนุ่ม กรรชัย- เขาให้เงินเดือนคุณเท่าไร
ทนายตั้ม- สามแสน
หนุ่ม กรรชัย- เดือนละสามแสน ?
ทนายตั้ม- ใช่ครับ
หนุ่ม กรรชัย- เขาอยู่ต่างประเทศ คุณอยู่ที่นี่
ทนายตั้ม- ใช่ครับ
หนุ่ม กรรชัย - แล้วเขาจะให้คุณทำไมสามแสน คุณทำอะไรให้เขา?
ทนายตั้ม- เขามีธุรกิจหลายอย่างที่ประเทศไทย แล้วผมจัดการทุกอย่าง แม้แต่เขากลับมากับสามีเขา มาโรงพยาบาลที่ไทย ผมก็ดูแลให้ทุกอย่าง แล้วก็ธุรกิจในการที่จะทำอะไรก็แล้วแต่ที่เขามีโปรเจกต์ที่จะทำนู่นทำนี่ ผมก็ดูแลให้หมด
ตอนแรกให้เงินเดือน แล้วตอนหลังก็ไม่ได้ให้เงินเดือน เขาก็เปลี่ยนเป็นให้ทุนผมมาก้อนหนึ่ง คือไม่ต้องไปพูดถึงเงินบาทไทยนะครับ คือพูดถึงเป็นเงินต่างชาติ มีทีนึงเขาเคยให้ผมมาสองล้านยูโร
***ท่อนนี้ ท่านผู้ชมฟังให้ดีๆ นะ ครับ ฟังให้ละเอียด ๆ ฟังตามที่ผมอ่านข้อความถาม-ตอบระหว่างคุณหนุ่ม กรรชัย กับ ทนายตั้มให้ดี
หนุ่ม กรรชัย – (ตกใจ) ห่ะ!
ทนายตั้ม- สองล้านยูโรครับ
หนุ่ม กรรชัย- อะไรนะ
ทนายตั้ม- สองล้านยูโร
หนุ่ม กรรชัย- พี่อัจ สองล้านยูโรนี่เท่าไร 60-70 ล้านน่ะ
ทนายตั้ม- เจ็ดสิบ
หนุ่ม กรรชัย - เจ็ดสิบล้าน ? พูดเป็นเล่นน่า ใครจะมาให้เงินคุณเจ็ดสิบล้าน
ทนายตั้ม- คือมันเป็นเรื่องปกติของเขานะ ผมบอกก่อน ก่อนที่ผมจะเข้าไปทำ เขามีแค่ล่ามนะครับ ไม่ใช่ทนายนะ
หนุ่ม กรรชัย- เดี๋ยวนะ เขาให้คุณเลยเหรอ
ทนายตั้ม- ให้เลยครับ
หนุ่ม กรรชัย- พูดเป็นเล่นน่า แนะนำให้รู้จักกับเขาหน่อยสิ
ทนายตั้ม- เดี๋ยว เดี๋ยวให้ผมอธิบายก่อน ล่ามที่เคยทำอยู่กับเขาแค่ประมาณปีเดียว เขาให้ 1 ล้านยูโรนะครับ 1 ล้านยูโร แล้วตอนนี้เขาก็ออกไปแล้ว แล้วผมมาทำอยู่กับเขาปีกว่า แล้วเขาก็ไม่ได้ให้เงินเดือนผมแล้ว เขาก็เลยให้ตรงนี้มาเพื่อที่จะลงทุน คือ ตอนนั้นที่เห็นผมถ่ายรูปลูกจะไปเรียนต่างประเทศน่ะ คือเขาจะซัปพอร์ตทุกอย่าง
เรื่องการโอนเงินจากยุโรปมาที่ทนายตั้ม
หนุ่ม กรรชัย - ทนายตั้ม คุณพูดคุณต้องคิดด้วยนะ สองล้านยูโร เจ็ดสิบล้านบาท เขาจะให้คุณอย่างไร เขาจะโอนมาทางไหน ?
ทนายตั้ม- เขาโอนตามปกติเลยครับ ก็คือ ปกติแล้วโอนเงินจากต่างประเทศมา มันก็จะต้องเสีย ถ้าเกิดโอนมาให้ผมเลย เขาจะต้องเสียหักไป 40% แต่ว่าเขาก็ทำโปรเจกต์ขึ้นมา เดี๋ยวเขาจะทำโปรเจกต์แบบนี้ แล้วท้ายที่สุดก็คือโอนมาให้ผมเพื่อที่จะไม่ต้องเสียภาษี 40%
หนุ่ม กรรชัย - หลบเลี่ยงอย่างนั้นเหรอ
ทนายตั้ม- ก็ไม่ถึงกับหลบเลี่ยงหรอกครับ
หนุ่ม กรรชัย - ไม่ถึงกับหลบเลี่ยง แล้วหลบเลี่ยงไหม
ทนายตั้ม- ไม่หลบเลี่ยงครับ คือมันเป็นเงินของเขานี่ล่ะ แต่ว่าเงินจากต่างประะเทศ คือถ้าจะโอนมาที่ไทย มาที่ผม เขาจะต้องโดนภาษีเยอะ เพราะว่าเงินก้อนนี้มันเป็นเงินที่เขามีโชคมาได้แล้วกัน
หนุ่ม กรรชัย - คุณพูดแบบนี้เขาตรวจสอบได้นะ
ทนายตั้ม- ยินดีครับ เพราะว่าผมให้เขาโอนเข้าบัญชีผม ผมไม่ได้ขอเป็นเงินสด เขาสามารถตรวจสอบได้หมด เส้นเงิน ว่ามีการโอนมาจากใคร อะไร อย่างไร ผมยินดีให้ตรวจสอบเลย เพราะว่ามันเป็นเงินที่เขาให้ผมมาโดยเสน่หาจริงๆ ...
ถามว่า 2 ล้านยูโรเป็นเงินเท่าไหร่? ที่คุณอ้างว่า “ลูกความ” มหาเศรษฐีเขาให้คุณโดย “เสน่หา” !?!
ผมมีคำตอบให้คุณชัด ๆ เป็นใบโอนเงินใบนี้ครับที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาปากช่อง รายละเอียดคุณไปส่องดูก็แล้วกัน
คำตอบ ก็คือ 2 ล้านยูโร นั้น เท่ากับ 71,067,764.70 บาท (เจ็ดสิบล้านหกหมื่นเจ็ดพันเจ็ดร้อยหกสิบสี่บาท เจ็ดสิบสตางค์) ครับ ชัดไหมครับ ?
คำถามต่อมา ก็คือ คำว่า “ให้โดยเสน่หา” นั้นทางกฎหมายนั้นมีความหมายว่าอย่างไร? ผมหาคำตอบให้แล้วครับ
การให้โดยเสน่หา ตามกฎหมายจะมีการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521 คือ การมอบทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ “ผู้ให้” มอบให้แก่ “ผู้รับ” โดยทั้งสองฝ่ายมีความยินดีและเต็มใจที่จะส่งมอบและรับมอบทรัพย์สินนั้น ๆ ซึ่งผู้รับไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่ตอบแทนแต่อย่างใด
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ แล้วมหาเศรษฐีที่ทนายตั้มอ้างว่าเป็นลูกความของตัวเอง เป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศนั้นเขา ให้เงินทนายตั้ม 2 ล้านยูโร หรือแปลงเป็นเงินไทยก็กว่า 71 ล้านบาทนั้น “ให้โดยเสน่หา” จริงหรือไม่?
และเขาเป็นใคร เขาถึงจะเอาเงินให้ทนายตั้มโดยเสน่หา ???
เพราะใครที่ได้ฟังคำตอบนี้ ถามใครก็ไม่มีใครเชื่อคำพูดของทนายตั้มก็ไม่มีใครเชื่อ แม้แต่ “คุณหนุ่ม กรรชัย” เองก็ไม่เชื่อ “คุณอัจฉริยะ” ที่นั่งอยู่ในรายการได้ยินก็ไม่เชื่อ ประชาชนที่อยู่ทางบ้านก็ไม่มีใครเชื่อ
“พี่อ้อย” มหาเศรษฐีเหยื่อทนายแบรนด์เนม
มาถึงตรงนี้ทุกคนที่ได้ฟังต่างอยากรู้อยากทราบว่า ใครคือ “มหาเศรษฐี” คนไทยที่ “ทนายตั้ม” อ้างว่าสามารถให้เงินกับเขา“โดยเสน่หา”ได้มากมายขนาดนี้?
ท่านผู้ชมครับ “มหาเศรษฐี” คนที่คุณตั้มอ้างว่า
-เคยจ้างทนายตั้มเดือนละ 3 แสนอยู่ปีกว่า
-ให้เงินทนายตั้มโดยเสน่หา 2 ล้านยูโร หรือประมาณ 71 ล้านกว่าบาท
-ออกค่าใช้จ่ายให้ทนายตั้มกับครอบครัว นั่งเครื่องบินบิสเนสคลาส เฟิร์สคลาส ออกค่าโรงแรมให้ไปเที่ยวยุโรปทั้งครอบครัวอยู่เป็นประจำแทบจะทุกเดือน
-สัญญาว่าจะหาบ้านให้ พร้อมส่งเสียลูกของทนายตั้มไปเรียนต่อที่ยุโรป และอื่น ๆ อีกมากมายนั้น
มีชื่อว่า “คุณจตุพร อุบลเลิศ” หรือที่ทนายตั้มเรียกว่า “พี่อ้อย” นั่นเอง
จริง ๆ พี่อ้อย จตุพร นั้นเคยปรากฎตัวต่อหน้าสื่อมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อต้นปี 2566 ระหว่างที่“ทนายตั้ม ษิทรา”ออกมาแฉ“นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์”อดีตนักการเมืองและนักธุรกิจจอมเปิดโปง กรณีเอาเงินธุรกิจเว็บพนันไปบริจาคให้โรงพยาบาลต่าง ๆ โดยตอนนั้นนายชูวิทย์ตั้งคำถามถึง ทนายตั้มว่า ไลฟ์สไตล์ วิถีชีวิต เสื้อผ้า บ้านพักอาศัย อันหรูหราของ “ทนายตั้ม” นั้นได้แต่ใดมา?
เมื่อปีที่แล้ว เมื่อ วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 “ทนายตั้ม ษิทรา” จึงไปอ้อนวอน “พี่อ้อย จตุพร” ให้ออกมาแถลงข่าว พร้อมกันเพื่อตอบคำถามถึงความอู้ฟู่ของทนายตั้ม โดยในตอนนั้นมีเลขาฯ ส่วนตัว คือ “คุณน้อย”(สวมผ้าคลุมไหล่)นั่งอยู่ด้วย(ตามภาพ)
นั่นเป็นครั้งแรก และครั้งเดียวที่สังคมไทย และสื่อไทยได้พบเห็น “พี่อ้อย” จตุพร อุบลเลิศ มหาเศรษฐีผู้มีจิตใจเอื้ออารีต่อ “ทนายตั้ม ษิทรา” แบบมากมายมหาศาล แบบตัวเป็น ๆ
ผมจะไม่เล่าเรื่องราวเบื้องหลังของ “คุณอ้อย จตุพร” ให้ยืดยาว แต่ยืนยันว่าเธอมีตัวตนจริง ๆ โดยจะเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ว่า เป็นคนที่มีภูมิลำเนาดั้งเดิมอยู่ที่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ก่อนที่เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้วจะโยกย้ายตามสามีไปอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และย้ายต่อไปอยู่ที่เมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส
คุณไม่ต้องมาถามว่า “คุณอ้อย จตุพร” มีตัวตนไหม ดูรูปนี้ดีกว่า
กลับมาเข้าเรื่องสำคัญของเราดีกว่า คือ คำถามที่ว่า “คุณอ้อย จตุพร” ได้ให้เงินจำนวน 2 ล้านยูโร หรือ 71 ล้านกว่าบาท กับ “ทนายตั้ม ษิทรา” ด้วยความเสน่หาจริงหรือ?
คำตอบ นั้นอยู่ในมือผมคือใบบันทึกคำให้การของผู้กล่าวหาหรือใบแจ้งความของ “คุณอ้อย จตุพร” ซึ่งมอบอำนาจให้ทนาย ไปแจ้งความต่อ “นายษิทรา หรือ ตั้ม เบี้ยบังเกิด” ต่อสถานีตำรวจภูธรปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 หรือเมื่อประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งผมจะลำดับเหตุการณ์ และสรุปสาระสำคัญให้ฟังดังนี้คือ
หนึ่ง ทนายของผู้เสียหายคือ คุณอ้อย จตุพร ได้ให้ปากคำถึงพฤติการณ์ของทนายตั้ม โดยเริ่มจากคุณอ้อยได้ว่าจ้าง บริษัทษิทรา ลอว์เฟิร์ม จำกัด ของทนายตั้มเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ดูแลผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยทำสัญญาตกลงว่าจ้างกันเดือนละ 300,000 บาท(ไม่ได้จ่ายผ่าน บ.ษิทราลอว์เฟิร์ม แต่จ่ายผ่านบุคคล ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นแทคติกในการเลี่ยงภาษีของทนายตั้มหรือไม่?) หลังจากที่ว่าจ้างกันแล้วก็ไปมาหาสู่ดูแลกันฉันมิตรจนเกิดความไว้วางใจและเชื่อใจต่อตัวทนายตั้มและภรรยา ผู้เสียหายได้ดูแลการเดินทางไปต่างประเทศพร้อมกับท่องเที่ยวของทนายตั้มและครอบครัวหลายต่อหลายครั้ง
สอง “ทนายตั้ม ษิทรา” ยังเคยพาผู้เสียหายไปเจอกับนักการเมืองระดับประเทศที่เกาะฮ่องกง และ เคยบอกว่า สามารถเอาโควต้าสลากกินแบ่งรัฐบาลมาลงทุนเพื่อแสวงหากำไรได้รวมถึงสัมปทานกับหน่วยงานราชการอื่น ๆ โดยนายษิทรากล่าวอ้างว่ารู้จักกับผู้หลักผู้ใหญ่หรือนักการเมืองหลายคน
ต่อมาเมื่อปลายปี 2565 ต่อเนื่องต้นปี 2566 นายษิทรามาบอกกับผู้เสียหายว่าได้รับโควตาสลากกินแบ่งมาจากผู้ใหญ่ที่นับถือให้มาจำหน่ายทางออนไลน์ซึ่งทนายตั้ม อ้างว่า รับปากกับผู้ใหญ่ไว้แล้วสามารถทำได้ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีเงินลงทุนจึงมาปรึกษาผู้เสียหายว่าหากตัวเขาได้ทำธุรกิจนี้จะทำให้สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้
ข้อสังเกต : เมื่อไล่ Timeline ของเรื่องนี้ จะสังเกตเห็นได้ชัดว่าช่วงปลายปี 2565 ต่อเนื่องต้นปี 2566 นั้นเป็นช่วงเวลาที่ กองสลากพลัส ของนายนอท พันธ์วัช นาควิสุทธิ์ ตกเป็นข่าวเรื่องฟอกเงิน ธุรกิจสีเทา ธุรกิจพนัน และมีความสุ่มเสี่ยงว่าจะถูกปิด รวมถึงแพลตฟอร์ขายสลากออนไลน์อื่น ๆ ด้วย
ต่อมา พี่อ้อย จตุพร เห็นว่า การขายสลากออนไลน์เป็นโอกาสจึงซักถามถึงวิธีการและขอทราบรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม
ทนายตั้ม ษิทรา จึงอธิบายว่า หากจะทำจะต้องมี แอปพลิเคชั่น และ รายละเอียดอื่นๆ เช่น โปรแกรม และ ระบบ โดยตัวเองรู้จักผู้เชี่ยวชาญที่พัฒนาเว็บไซต์และระบบโปรแกรม
สาม หลังจากพี่อ้อย ได้ปรึกษาครอบครัวเห็นว่าโครงการดังกล่าวน่าจะเป็นไปได้ ขณะเดียวกันก็ตรงกับความตั้งใจของพี่อ้อย ที่จะลงทุนอะไรสักอย่างไว้เอาไว้ให้บุตรชาย(ที่ย้ายมาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทย) จึงตอบตกลงจะทำหวยออนไลน์และให้ทนายตั้มไปติดต่อว่าจ้างโปรแกรมเมอร์และให้ทำรายละเอียดเป็นลายลักษณ์อักษรมาซึ่งทนายตั้ม ษิทรา ตอบตกลง
ต่อมาได้มีการนำสัญญาใบเสนอราคามาให้คุณอ้อย จตุพร ดู และ คุณอ้อยได้ลงนามในสัญญาเรียบร้อย ทนายตั้มก็รับปากว่าจะดำเนินการตามสัญญา
สี่ ต่อมาเมื่อ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 คุณอ้อย จตุพร โอนเงินชำระค่าจ้างเขียนโปรแกรมให้กับคู่สัญญาแต่ในวันดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการโอนเงินได้เนื่องจากเป็นเวลาที่ธนาคารปิดทำการแล้วจึงนัด “ทนายตั้ม ษิทรา” ให้มาดูแลจัดการโอนชำระเงิน แต่ “ทนายตั้ม ษิทรา” ก็ไม่ได้บอกกล่าวรายละเอียดกับผู้เสียหายว่าต้องโอนชำระให้คู่สัญญาภายใน วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 จึงนัดมาดำเนินการโอนเงินในวันรุ่งขึ้นคือ 16 กุมภาพันธ์ 2566
ต่อมาในวันดังกล่าวเมื่อ “ทนายตั้ม ษิทรา”เดินทางมาถึงธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาโลตัส ปากช่อง ได้บอกกับผู้เสียหายให้โอนเงินมาที่ “ทนายตั้ม ษิทรา” ก่อนเขาจะนำเงินไปชำระให้คู่สัญญาด้วยตัวเอง พร้อมกับเจรจาตกลงกับคู่สัญญาถึงปัญหาดังกล่าวเอง
โดยทนายตั้มได้เปิดบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาโลตัสปากช่อง ในชื่อนายษิทธา เบี้ยบังเกิด ขึ้นมาเพื่อโอนเงินจากบัญชีของผู้เสียหายไปยังบัญชีของทนายตั้ม เป็นจำนวน 71 ล้าน 6 หมื่น 7 พันกว่าบาท ... อ้าวท่านผู้ชมดูหลักฐานเอาเองให้เห็นชัดๆ
มีข้อมูลเชิงลึกว่า หลังจากนั้นเมื่อกลับกรุงเทพ “ทนายตั้ม ษิทรา” ก็ถอนเงินจำนวนดังกล่าวจากบัญชีธนาคารกรุงศรีฯ ออกไปจนเกลี้ยงบัญชี ... ซึ่งก็น่าสงสัยว่า เงินจำนวนดังกล่าวใช่หรือไม่ว่านำไปใช้จ่าย หรือ ซื้อทรัพย์สินอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น บ้านหรูในโครงการบางกอกบูเลอวาร์ด เป็นต้น ?!?
ห้า ต่อมาหลังจากที่ “คุณอ้อย จตุพร” ผู้เสียหาย จ่ายเงินค่าจ้างเขียนโปรแกรมไปแล้วผู้เสียหายก็ได้ติดตามความคืบหน้าการซื้อระบบโปรแกรมสลากออนไลน์จาก “ทนายตั้ม ษิทรา” เรื่อยมา แต่ได้รับคำตอบว่ายังทำไม่แล้วเสร็จ
จึงเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ในเวลาต่อมาผู้เสียหายได้ยกเลิกสัญญาจ้างบริษัท ษิทรา ลอว์เฟิร์ม เป็นที่ปรึกษา โดยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างที่ปรึกษา ลง วันที่ 25 มกราคม 2567
จนกระทั่ง วันที่ 1 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดการส่งมอบงานตามสัญญา ฝ่ายผู้เสียหายยังไม่ได้รับการตอบรับหรือรับมอบระบบโปรแกรมตามสัญญา ดังนั้นในวันที่ 8 กันยายน 2567 ผู้เสียหายจึงมอบอำนาจให้ทนายติดตามทวงเงินจำนวน 71 ล้านบาทคืนจากทนายตั้ม
ทั้งนี้ ทนายตั้มได้รับหนังสือดังกล่าวแต่เมื่อถึงกำหนดเวลาให้คืนเงินตามหนังสือทวงหนี้ทนายตั้มก็ไม่ได้คืนเงินให้กับผู้เสียหายและไม่ได้ติดต่อกลับมา จึงมอบอำนาจให้ทนายเข้าร้องทุกข์กล่าว
ประเด็น :
-ทนายตั้มครับ คุณษิทราครับนี่หรือ คือการให้เงิน 2 ล้านยูโร 71 ล้านบาทกว่า ๆ โดยเสน่หา???
-โดยตรรกะก็ชัดอยู่แล้วใครจะไปให้เงินใครมากมายเป็นสิบ ๆ ล้านโดยไม่หวังผลตอบแทน คุณอ้อย จตุพร เขาก็มีสามี มีลูกหลายคน อยู่ที่ฝรั่งเศส อยู่ที่เยอรมนี อยู่ที่เมืองไทย ทำไมเขาต้องให้เงินคุณมากมาย ?
-คุณรู้หรือไม่ว่า กว่าที่เขาจะเอาเงิน 2 ล้านยูโรมาโอนให้คุณ เพื่อที่เอาไปลงทุนได้ เขาต้องถอนเงินในธนาคารในฝรั่งเศส ขายหุ้น ขายหลักทรัพย์ของเขา ทำเรื่องผ่านธนาคาร ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ มากมายว่าเขาไม่ได้ฟอกเงิน เพราะต้องแจ้งจุดประสงค์ในการโอนเงิน ก่อนโอนผ่านดอยช์แบงก์ เข้ามาที่ประเทศไทย ผ่านแบงก์กรุงศรีฯ ที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ ก่อนที่จะโอนไปเข้าบัญชีเขาที่ธนาคารกรุงศรี สาขาโลตัส ปากช่อง
-ที่ผ่านมาเขาเมตตาคุณมากนะ ให้เงินค่าทนายคุณไปตั้งมากมาย เดือนละ 3 แสนบาท เป็นปี รวมกันแล้วก็หลายล้านบาทเข้าไปแล้ว แต่คุณยังจะมาเอาเงินเขาไปโดยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้อย่างนี้ได้หรือ
-นี่ยังไม่นับรวมกับที่เขาออกค่าใช้จ่ายให้คุณไปเที่ยวฟรี กินฟรี อยู่ฟรี ทั้งครอบครัวที่ยุโรปตั้งกี่ทริปแล้ว
-ไหนจะเรื่องรถเบนซ์ G-Class รุ่น G400 ราคาคันละเป็นสิบล้าน ที่เขาเชื่อใจคุณ ไว้วางใจคุณ เพราะจ้างคุณเป็นทนายเดือนละ 3 แสนบาท โดยให้คุณหาซื้อรถเบนซ์ให้เขาเพื่อเวลาที่เขากับครอบครัวมาเมืองไทย คุณอ้อยเขาจะได้ใช้งานได้สะดวก คุณกลับ ทำ “ตุกติก” กับเขาสาระพัด อย่าให้ผมพูด ผมแฉเลยว่าคุณ “ตุกติก” กับเขายังไงบ้าง เพราะคุณน่าจะรู้ดีแก่ใจ
สรุป : เรื่องเงิน 71 ล้านบาท นี้ไม่ใช่การให้โดยเสน่หาอย่างแน่นอน สัญญาจ้างทำโครงการเขาก็มี คุณเองก็รู้ คนที่เกี่ยวข้องก็เยอะแยะ พยานก็เต็มไปหมด แม้แต่เอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจุดประสงค์ในการนำเงินเข้ามาในราชอาณาจักร ทางธนาคารก็มี คุณจะหน้าด้านหน้าทนอ้างว่าเป็น “การให้โดยเสน่หา” อย่างนี้ไปได้อีกสักกี่น้ำคุณษิทรา !?!