xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าโพลชี้ประชาชนไม่เชื่อดารา-อินฟลูฯ รีวิวสินค้า ร้องเรียนต่อสื่อได้รับความเป็นธรรมมากที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นิด้าโพลเผยผลสำรวจหัวข้อ “ใครจะคุ้มครองผู้บริโภค” พบกว่า 42% ดารา-อินฟลูฯ รีวิวสินค้าไม่ส่งผลเลย และกว่าครึ่งหนึ่งไม่เชื่อว่าใช้สินค้านั้นจริง ส่วนสินค้าที่มีของแถมมาก ลดราคาเยอะ สงสัยว่าอาจไม่มี พบวิธีร้องเรียนถูกเอาเปรียบหรือถูกหลอกลงทุน แจ้งความต่อตำรวจ แต่พบไปร้องเรียนผ่านสื่อได้รับความเป็นธรรมเร็วที่สุด

วันนี้ (20 ต.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็น เรื่อง “ใครจะคุ้มครองผู้บริโภค” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-16 ตุลาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการโฆษณาสินค้าของดารา และอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) คนดัง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการโฆษณาสินค้าของดารา อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของประชาชน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 42.21 ระบุว่าไม่ส่งผลเลย รองลงมา ร้อยละ 22.98 ระบุว่าส่งผลมาก ร้อยละ 19.01 ระบุว่าค่อนข้างส่งผล และร้อยละ 15.80 ระบุว่าไม่ค่อยส่งผล

ด้านความเชื่อของประชาชนที่มีต่อดารา อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ใช้สินค้าจากการโฆษณาจริง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 52.29 ระบุว่าไม่เชื่อว่าใช้สินค้านั้นจริง รองลงมา ร้อยละ 22.98 ระบุว่าเชื่อว่าใช้สินค้านั้นเป็นบางครั้ง ร้อยละ 20.53 ระบุว่าเชื่อว่าใช้สินค้านั้นเฉพาะตอนโฆษณา ร้อยละ 3.89 ระบุว่าเชื่อว่าใช้สินค้านั้นจริง และร้อยละ 0.31 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านความรู้สึกของประชาชนต่อการโฆษณาสินค้าที่มีของแถมจำนวนมาก และ/หรือ ลดราคาเยอะๆ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 34.12 ระบุว่าจะตั้งข้อสงสัยว่า คุณภาพสินค้าอาจไม่ดี รองลงมา ร้อยละ 30.23 ระบุว่าเป็นแค่วิธีการโฆษณาชวนเชื่อ ร้อยละ 23.89 ระบุว่าไม่คิดจะซื้อสินค้าที่โฆษณาแบบนี้ ร้อยละ 19.47 ระบุว่าจะตั้งข้อสงสัยว่ามีเงื่อนไขอะไรแอบแฝงอยู่หรือเปล่า ร้อยละ 19.24 ระบุว่าจะตั้งข้อสงสัยว่าต้นทุนสินค้าน่าจะถูกมาก ร้อยละ 17.94 ระบุว่าจะตั้งข้อสงสัยว่า สินค้านั้นอาจใกล้หมดอายุการใช้งาน ร้อยละ 8.63 ระบุว่าจะขอเปรียบเทียบคุณภาพกับสินค้าที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงก่อนตัดสินใจ ร้อยละ 8.17 ระบุว่าจะขอเปรียบเทียบราคากับสินค้าที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงก่อนตัดสินใจ ร้อยละ 7.02 ระบุว่าจะลองสั่งมาใช้ดู ร้อยละ 4.27 ระบุว่าถ้าเป็นสินค้าที่ใช้เป็นประจำจะซื้อสินค้านั้นทันที ร้อยละ 2.14 ระบุว่าสนใจที่จะซื้อสินค้านั้นทันที (แม้ว่าจะไม่เคยใช้ก็ตาม) และร้อยละ 0.38 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับการร้องเรียนจากการถูกเอาเปรียบหรือหลอกลวงให้ซื้อสินค้าหรือลงทุน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 41.22 ระบุว่าไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ รองลงมา ร้อยละ 30.08 ระบุว่าไปร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร้อยละ 25.19 ระบุว่าไม่ร้องเรียนใดๆ ร้อยละ 15.50 ระบุว่าไปร้องเรียนต่อสื่อ ร้อยละ 12.06 ระบุว่าไปร้องเรียนต่อศิลปิน ดารา หรือจิตอาสาคนดัง เช่น หนุ่ม กรรชัย กัน จอมพลัง บุ๋ม ปนัดดา เป็นต้น ร้อยละ 5.57 ระบุว่า ไปร้องเรียนต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง (ไม่รวม สคบ.) ร้อยละ 2.60 ระบุว่าไปร้องเรียนต่อทนายคนดัง ร้อยละ 1.68 ระบุว่าไปร้องเรียนต่อองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค และร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไปร้องเรียนต่อนักการเมือง

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงการร้องเรียนที่ได้รับความเป็นธรรมเร็วที่สุดจากการถูกเอาเปรียบหรือหลอกลวงให้ซื้อสินค้าหรือลงทุน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 24.81 ระบุว่าไปร้องเรียนต่อสื่อ รองลงมาร้อยละ 23.05 ระบุว่าไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ร้อยละ 15.88 ระบุว่าไปร้องเรียนต่อศิลปิน ดารา หรือจิตอาสาคนดัง เช่น หนุ่ม กรรชัย กัน จอมพลัง บุ๋ม ปนัดดา เป็นต้น ร้อยละ 15.80 ระบุว่าไปร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และไม่ร้องเรียนใดๆ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 1.91 ระบุว่าไปร้องเรียนต่อทนายคนดัง ร้อยละ 1.45 ระบุว่าไปร้องเรียนต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง (ไม่รวม สคบ.) ร้อยละ 0.92 ระบุว่า ไปร้องเรียนต่อองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ร้อยละ 0.07 ระบุว่า ไปร้องเรียนต่อนักการเมือง และร้อยละ 0.31 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น