“…ความตั้งใจของผมคือ ผมไม่ได้อยากเขียนแผนที่ในปัจจุบัน
ผมอยากเขียนแผนที่ย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ในยุคที่บ้านเมืองรุ่งเรือง เป็นยุคก่อนที่ถนนจะเข้ามาแทนที่คลอง…ผมอยากเห็น ผมมักจะจินตนาการเสมอว่า เราอยากไปใช้ชีวิตสักหนึ่งสัปดาห์ ในช่วงร้อยกว่าปีก่อนว่าเป็นยังไง ผมมี Image ในใจอยู่แบบนี้ประจำ เป็นแบบนี้ตลอด แล้วมีอีกสิ่งหนึ่งที่มันมีจุดเชื่อมอยู่ระหว่างการอ่านแผนที่และการวาดรูป”
“…แผนที่ที่เป็น Analog ให้สิ่งนี้กับผม คือเราอาจไม่เห็นสิ่งที่เราต้องการ อาจไม่ได้คำตอบที่เราต้องการ แต่เราได้ความรู้ใหม่ๆ แล้วมันก็พาเราไปได้ไกลมากขึ้น”
“…จุดเริ่มต้นที่ทำให้เราชอบแผนที่โบราณ เพราะเมื่อไปดูตามแผนที่ ก็ปรากฏว่าสิ่งที่เราอยากรู้ อยากเจอ กลับไม่เจอ แต่กลับไปเจอสถานที่อื่นๆ ที่ไม่คาดคิด เริ่มน่าตื่นเต้น จึงกลายเป็นว่าเราชอบแผนที่โบราณ เมื่อดูแล้วก็นำมาเปรียบเทียบกับแผนที่ในแต่ละยุค ความรู้สึกสนุกก็เกิดขึ้นครับ”
ไม่เพียงลายเส้นที่เฉียบคม ส่องสะท้อนภาพสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือน ตึกรามคูหา นานาศาสนสถาน และวิถีชีวิตของผู้คนในหลายสถานที่ ล้วนฉายให้เห็นถึงบรรยากาศแห่งห้วงเวลาของการเขียนภาพนั้นๆ ได้อย่างแจ่มชัด
ทว่า ใช่เพียงทักษะด้านการ Drawing เท่านั้น แต่เขาผู้นี้ ยังสามารถเชื่อมโยงมุมมองในการเขียนภาพเข้ากับอีกส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่เขาหลงใหล นั่นก็คือ การอ่านแผนที่โบราณ
ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ ‘ภวัต เรสลี’ หรือ ‘อาจารย์ลิด’
อาจารย์พิเศษวิชา Basic drawing สาขาวิชาออกแบบภายใน คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและวิชาออกแบบฉาก คณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต
ที่ไม่เพียงเขียนภาพราวกับเป็นกิจวัตรประจำวัน แต่ยังเป็นผู้รักและชื่นชอบการอ่านแผนที่อย่างยิ่ง โดยเฉพาะแผนที่โบราณซึ่งมักนำพาให้หวนนึกถึงความรุ่งเรืองของพระนครเมื่อร้อยกว่าปีก่อน
เสน่ห์ของการอ่านแผนที่โบราณ แผนที่กระดาษ จุดเริ่มต้นที่ทำให้รักการอ่านแผนที่ การตามหาร่องรอยของเมืองเก่า สถานที่เก่าซึ่งอาจสูญหายไปแล้วในปัจจุบัน การเดินทางผ่านยุคสมัยต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นผ่านแผนที่ในยุคเก่าก่อน
กระทั่งแรงบันดาลใจที่เคยคิดหวังตั้งใจว่า ในวันหนึ่งข้างหน้า อาจจะวาดแผนที่โบราณขึ้นมาด้วยฝีมือการเขียนภาพที่มีอยู่
ทั้งหลายทั้งปวง บอกเล่าไว้ผ่านถ้อยคำเหล่านี้
แรกประทับใจในแผนที่ Atlas
เมื่อขอให้ช่วยเล่าถึงที่มา แรงบันดาลใจอะไรทำให้คุณชอบอ่านแผนที่
‘ภวัต’ หรือ ‘อาจารย์ลิด’ ตอบว่า “จุดเริ่มต้นเลยที่ทำให้ชอบแผนที่ เกิดจาก ชั่วโมงเรียนตอนชั้นประถม มีวิชาเรียน Atlas มีหนังสือ Atlas ที่โรงเรียนใช้สอน เป็นหนังสือเล่มที่ใหญ่ที่สุดเลยครับ เป็นหนังสือเรียน เป็นแผนที่โลก แล้วเราก็สนุกกับการเปรียบเทียบแผนที่ที่มีขอบเขต อาณาเขต ภูมิประเทศ แผนที่แม่น้ำ เราก็สนุกกับอะไรเหล่านี้ ได้รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน มีความหลากหลาย มีหลายชั้น หลายแบบ ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่เดียวกัน ความชอบก็เริ่มมาจากจุดนั้น จากการดูแผนที่ในวิชาเรียนภูมิศาสตร์ หนังสือนี้สำหรับใช้เรียนชั้น ป. 5, ป.6”
อาจารย์ลิดเล่าย้อนกลับไปถึงความประทับใจ เมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ณ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ก่อนขยายความเพิ่มเติมว่า
“ประกอบกับเมื่อเราโตขึ้น ด้วยวิถีของที่บ้านเป็นคนมุสลิม แล้วปู่ย่าตายายเรา บางทีเขาพูดภาษามลายูกัน เราก็เลยเกิดคำถามว่าเราเป็นใคร มาจากไหน ทำไมเราเป็นคนมลายูมุสลิม แล้วเรามาอยู่ที่นี่ได้ยังไง ที่นี่กรุงเทพฯ นะ
ที่นี่พระนครนะ ก็เกิดเป็นคำถาม ยิ่งทำให้เราอยากรู้ เราจึงไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ไปหาข้อมูลในหนังสือแล้วก็ไปเจอภาพเก่าๆ ในยุคโบราณ สักร้อยกว่าปีก่อน ไปเจอภาพอาคารที่หายไปแล้วในปัจจุบัน เช่นที่บ้านผม ที่ที่พ่อเกิดคือมัสยิดฮารูณ” ( หมายเหตุ : มัสยิดฮารูณ หรือ Haroon Mosque สร้างขึ้นโดย โต๊ะฮารูณ บาฟาเดน ชาวเมืองปนตียานัก (Pontianak) จากเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซียที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย ณ บริเวณ หมู่บ้านต้นสำโรง ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในอำเภอบางรักตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 3 ประมาณปีพ.ศ. 2371 : ข้อมูลจาก สำนักงานเขตบางรักและสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย )
อาจารย์ลิดเล่าว่า “มีเรื่องเล่าคล้ายๆ เป็น ‘มุขปาฐะ’ ของคนโบราณว่าเมื่อก่อนเราไม่ได้อยู่ตรงนั้นนะ เมื่อก่อนเราอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเมื่อก่อน มัสยิดไม่ได้เป็นแบบนี้ เดิมเป็นมัสยิดที่สร้างด้วยไม้ อยู่ริมแม่น้ำ แต่เมื่อรัฐบาลในตอนนั้นต้องการสร้างโรงภาษีหรือ ‘ศุลกสถาน’ จึงต้องย้ายมัสยิดฮารูณมาอยู่อีกแห่งหนึ่ง”
( หมายเหตุ : พ.ศ. 2442 รัฐบาลไทยได้เวนคืนพื้นที่ตั้งมัสยิดซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อสร้างอาคารศุลกสถาน มัสยิดจึงย้ายมายังบริเวณที่ตั้งปัจจุบันซึ่งถอยร่นเข้ามาจากแม่น้ำเจ้าพระยา : ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย )
เรื่องเล่าที่ได้รับทราบมา จึงทำให้อาจารย์ลิดอยากรู้ว่า เช่นนั้นแล้ว ตำแหน่งของมัสยิดฮารูณหลังเก่าที่เขาเล่าต่อๆ กันมานั้น อยู่ตรงไหนกันแน่
“ผมจึงต้องไปตามหาแผนที่โบราณดู นี่คือ จุดเริ่มต้นเลยครับที่ทำให้เราชอบแผนที่โบราณ เมื่อไปดู ก็ปรากฏว่าสิ่งที่เราอยากรู้ อยากเจอ กลับไม่เจอ แต่กลับไปเจอสถานที่อื่นๆ ที่ไม่คาดคิด ก็เริ่มน่าตื่นเต้น จึงกลายเป็นว่าเราชอบแผนที่โบราณ เมื่อดูแล้วก็นำมาเปรียบเทียบกับแผนที่ในแต่ละยุคๆ ความรู้สึกสนุกก็เกิดขึ้นครับ”
การได้มาซึ่งแผนที่โบราณ
ถามว่า แผนที่โบราณหลายๆ ฉบับที่คุณมีอยู่นั้น ได้มาอย่างไร
อาจารย์ลิดตอบว่า จริงๆ แล้ว แผนที่โบราณนั้น มีคนที่นำมาเผยแพร่ในสื่อออนไลน์อยู่แล้ว ต่างจากยุคก่อนหน้านี้ หรือเมื่อครั้งที่อาจารย์ลิดยังเรียนมัธยม ในช่วงเวลานั้น ยังหาข้อมูลผ่านโลกออนไลน์แบบยุคนี้ไม่ได้
“ในยุคนั้น เราก็ต้องไปตามหาที่ห้องสมุดหรือหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งยากมากที่จะได้เจอ เมื่อมาในยุคที่เราสามารถ Research ข้อมูลได้แล้ว เราก็สามารถที่จะหา Keyword แล้วก็ดูข้อมูลให้ลึกลงไปอีกได้ครับ มันก็เปิดโลกของเราให้กว้างขึ้น ดังนั้น ในช่วงแรก ผมมักจะพยายามหาแผนที่ที่มีอยู่ในสื่อออนไลน์ซะเป็นส่วนใหญ่”
อาจารย์ลิดเล่าว่า กระทั่งในช่วงประมาณ 6-7 ปีหลัง ข้อมูลแผนที่มีให้สืบค้นได้มากขึ้น อาทิ มีแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร
( หมายเหตุ : ผู้สนใจ ติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลทางแผนที่ กรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ทั้งนี้ มีแผนที่หลายรูปแบบ อาทิ แผนที่กระดาษ แผนที่เชิงเลข ภาพถ่ายทางอากาศ เป็นต้น โดยมีค่าใช้จ่าย )
รวมทั้งมีแผนที่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำแจก ผ่านกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจารย์ลิดอยู่ในกลุ่มกิจกรรมดังกล่าวด้วย
“นอกจากนี้ ยังมีอีกช่องทาง คือ มีพี่คนหนึ่งที่เขาคร่ำหวอดในเรื่องของภาพเก่า คือคุณพี่ณล ที่รู้จักกันในเพจ ‘หนุ่มรัตนะพันทิป ณล’ เขาเก่งมากๆ เขามีความรู้ มีข้อมูลเกี่ยวกับภาพเก่า แผนที่เก่า บางส่วนผมก็จะขอจากเขาและสอบถามข้อมูลจากเขา เช่น ถ้าเรามี Keyword ว่า เราอยากจะหาตำแหน่งป้อมที่ปัจจุบันนี้หายไปแล้ว ผมก็จะไปถามเขา เขาก็จะมีข้อมูลในเชิงลึกเกี่ยวกับภาพเก่าและแผนที่เก่า”
“สำหรับแผนที่ที่อยู่ในมือผมตอนนี้ ก็เป็นแผนที่ที่เขามีแจกจ่ายทั่วไป แต่เป็นแผนที่ที่เขามีจำกัด ผมก็มักจะได้มา ในทุกๆ ฉบับ”
อดถามไม่ได้ว่า แผนที่ที่คุณปรินท์มาถือไว้ในมือ มีแผนที่ พ.ศ.ใดบ้าง
อาจารย์ลิดตอบว่า จริงๆ แล้วยังมีแผนที่อีกมากมาย แต่ที่ขอหยิบยกมานี้ ล้วนเป็นแผนที่ที่ได้มาจาก ‘หน่วยวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’
อาทิ แผนที่กรุงรัตนโกสินทร์ (ชั้นใน) ปี พ.ศ.2439
แผนที่กรุงรัตนโกสินทร์ (ชั้นใน) ปี พ.ศ.2475
แผนที่กรุงเทพฯ (สำเพ็ง) ปี พ.ศ.2475
แผนที่กรุงเทพฯ (สามเสน) ปี พ.ศ.2475
แผนที่บริเวณกรุงเทพฯ พ.ศ.2453
แผนที่กรุงรัตนโกสินทร์ (ชั้นใน) พ.ศ.2517 เป็นต้น
กลิ่นอายแห่งอดีตกาล
ถามว่า การได้เดินสำรวจเมืองในยุคนี้ หากเทียบกับแผนที่ในยุคโบราณ คุณประทับใจย่านใดเป็นพิเศษ
อาจารย์ลิดตอบว่า ประทับใจในย่านพระนครที่สุด ทั้งนี้ ความประทับใจก็เนื่องมาจากการที่ได้ศึกษาต่อที่สาขาวิชาออกแบบภายใน (Interior Design) ณ วิทยาลัยเพาะช่าง (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์) นั่นเอง
“เพราะฉะนั้น สถานที่ที่เราเรียนจึงเป็นย่านที่เราจะสามารถเดินได้ เชื่อมถึงกันได้ แน่นอนว่าบริเวณเพาะช่าง ก็เป็นย่านใจกลางของเกาะรัตนโกสินทร์ บางชั่วโมงเรียน บางครั้งเราก็ไปนั่งเขียนภาพอยู่ที่คลองหลอด เราก็ได้เห็นอะไรเก่าๆ เห็นตึกเก่าๆ ในย่านเหล่านี้ เช่น เวลาที่ใกล้จะกลับบ้าน ปกติผมก็จะเดินไปขึ้นรถเมล์ที่ฝั่งตรงข้ามโรงเรียน ซึ่งมีรถเมล์ที่เราสามารถนั่งกลับบ้านได้ทันที แต่ผมไม่ขึ้น ผมเลือกที่จะเดินไปขึ้นรถเมล์ที่ต้นสาย ที่บางลำพู และการเดินเหล่านี้ ผมไม่ได้เดินซ้ำกันทุกวัน ผมไม่ได้เดินตามถนนหลัก”
“ผมเดินลัดเลาะตามตรอกซอกซอย จึงไปเจอบ้านเรือนหลังเก่าที่แอบซ่อนอยู่ เช่น เคยไปเจอบ้านเรือนที่เป็นคฤหาสน์หลังใหญ่เลย อยู่ริมคลองหลอด อยู่หลังวัดราชนัดดา (วัดราชนัดดารามวรวิหาร) คือเราจะเจออะไรแบบนี้ซ่อนอยู่เยอะมากในเกาะรัตนโกสินทร์ ทุกวันนี้ก็ยังมีซ่อนอยู่ และหลายคนก็ไม่รู้ว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่ด้วยหรือ เพราะว่าการใช้ชีวิตของคนทั่วไป เขาก็มักจะใช้เส้นทางถนนหลัก เช่นถนนตะนาว คอกวัว หรือในย่านต่างๆ เหล่านี้ แต่ถ้าเราได้เดินลัดเลาะเข้าไปในตรอกซอกซอย หรือ ถนนที่รถเข้าไปไม่ถึง เราจะได้เห็นมุมมองเพิ่มเติม"
"จึงทำให้เราตีความว่า ‘เอ๊ะ! แล้วถ้าในยุคที่ไม่มีถนนล่ะ’ หากเส้นทางสัญจรไม่ใช่ถนน แต่มันคือคลอง แล้วเมื่อเราได้เห็นแผนที่เก่า เมื่อนำมากางเทียบกัน เราก็ได้เห็นว่าถนนบางเส้นนั้นเคยเป็นคลองนี่นา เป็นการสัญจรผ่านคลอง กระทั่งเมื่อ ปี พ.ศ. 2400 หลังๆ มาจึงเปลี่ยนเป็นถนน”
อาจารย์ลิดเล่าว่า เมื่อได้ลองศึกษาว่า ทำไมคลองจึงเปลี่ยนเป็นถนน ก็พบว่าในบางครั้งก็อาจเกี่ยวเนื่องกับนโยบายการเมืองการปกครองและความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย
“เมื่อแผนที่หลักๆ เหล่านี้เปลี่ยนไป วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป วิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนแปลงไปก็ย่อมฟ้องอยู่ในแผนที่ในแต่ละยุค ยกตัวอย่าง เช่น คลองซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นถนน ที่คนมักไม่รู้ก็คือ ‘ถนนรามบุตรี’ ที่ผ่ากลางตรอกข้าวสาร ซึ่งรามบุตรีก็เป็นย่านที่ทั่วโลกรู้จัก แต่หารู้ไม่ว่า เมื่อก่อน ซอยรามบุตรีเคยเป็น ‘คลองรามบุตรี’ มาก่อน"
“ถ้าเรารู้เราจะนึกภาพออกเลยว่า เมื่อก่อนเขาพายเรือกันบริเวณนี้ แล้วก็นำเอาข้าวมาที่ตรอกข้าวสาร เพราะบริเวณนั้นมีโรงสี เป็นตลาดขายข้าวสาร มีโรงสีขายข้าวสาร กระทั่ง ยุคนึงที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ดินมันตื้นเขิน โรงสีก็ย้ายไปอยู่ที่ริมแม่น้ำแทน เช่น ICONSIAM ในปัจจุบัน เมื่อก่อนก็เป็นโรงสี"
"ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อก่อนมีโรงสีมากมาย ดังนั้น จึงมีเรือมากมาย แต่เรือไม่เข้ามาในคลองเล็ก เขาก็อยู่ตามริมแม่น้ำ ประกอบกับคลองที่เริ่มตื้นเขิน น้ำก็เริ่มเน่า แล้ว ในยุครัชกาลที่ 6 จึงมีการถมกลายเป็นถนน นี่ยกตัวอย่างเพียงแค่ 1 คลองนะครับ จริงๆ แล้ว ยังมีคลองอีกมาก” อาจารย์ลิดบอกเล่าอย่างเห็นภาพ
เสน่ห์แผนที่กระดาษ แม้ในยุค GPS, Google Maps
ถามว่า ในยุคปัจจุบันนี้ เป็นยุคที่ผู้คนคุ้นชินกับ GPS และ Google Maps
เช่นนั้นแล้ว สำหรับคุณ อะไรคือเสน่ห์หรือเอกลักษณ์ของแผนที่กระดาษ ซึ่ง GPS ให้ไม่ได้
อาจารย์ลิดตอบว่า ข้อดีประการแรกของแผนที่กระดาษ คือ เมื่อเราอยู่ในสถานที่ที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตอาจใช้ไม่คล่อง การ Download แผนที่อาจทำได้ช้า รวมทั้งการ Zoom เข้า Zoom ออก ทำได้ช้าและไม่ชัดเจนพอ แต่สำหรับแผนที่กระดาษนั้น ตัวเราเองอยากดูตรงจุดไหน บริเวณไหนเราก็ดูได้เลยทันที
นอกจากนี้ อาจารย์ลิดมองว่า การใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตดูแผนที่ รวมทั้งเมื่อมีการพัฒนา Application Siri ขึ้นมา ก็ยิ่งง่ายต่อการใช้งาน ดังนั้น เสน่ห์ของการดูแผนที่ก็หายไป เพราะอาจทำให้คนรู้สึก ‘ข้าม’ การให้ความสำคัญกับสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่บนแผนที่
“คนอาจข้ามสิ่งเหล่านั้นไป ซึ่งเป็นสิ่งที่คนสร้างแผนที่ตั้งใจ เมื่อทำการระวาง ต่างๆ หรือตัวอย่างเช่น สิ่งที่ผมต้องการรู้คือมัสยิดหลังเก่าบางแห่ง ผมหาไม่เจอ แต่ผมเจออย่างอื่นที่พาผมไปได้ไกลยิ่งขึ้น โดยแผนที่ที่เป็น Analog ให้สิ่งนี้กับผม คือเราอาจไม่เห็นสิ่งที่เราต้องการ อาจไม่ได้คำตอบที่เราต้องการ แต่เราได้ความรู้ใหม่ๆ แล้วมันก็พาเราไปได้ไกลมากขึ้น”
ทักษะการเขียนภาพกับความเชื่อมโยงในการอ่านแผนที่
สุดท้าย อดถามไม่ได้ว่าคุณมีทักษะการเขียนภาพที่เฉียบคม เคยมีความตั้งใจที่จะใช้ทักษะด้านการเขียนภาพ มาใช้วาดแผนที่บ้างหรือไม่
อาจารย์ลิดตอบว่า “เคยคิดที่จะทำครับ มีช่วงนึงผมเคยเปิดคาเฟ่อยู่ที่บางลำพู ใกล้กับธนาคารกสิกรไทย สาขาบางลำพู ผมเปิดคาเฟ่ช่วง ปี ค.ศ. 2018 ( พ.ศ. 2561 ) โควิดมา 2019 ผมก็หยุดขายไปช่วงก่อนที่โควิดจะมา ตอนที่ผมอยู่ที่นั่น ก็มีคำถามเกิดขึ้นมาว่าตรงที่ผมอยู่นั้นเคยเป็นอะไรมาก่อน ซึ่งผมก็ได้ทราบว่าบริเวณนั้นเป็นฐานของป้อมที่สองของพระนครชื่อ ป้อมยุคุนธร”
อาจารย์ลิดระบุว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้อยากวาดภาพแผนที่บริเวณดังกล่าวขึ้นมาติดบนผนังร้านเพื่อแสดงให้เห็นว่าบริเวรที่ร้านนี้ตั้งอยู่ เคยมีป้อมยุคุนธรนั้น เนื่องจากอาจารย์ลิดเคยเห็นแผนที่อีกฉบับหนึ่งที่ระบุที่ตั้งของป้อมทั้งหมดในพระนคร ทว่า กลับระบุตำแหน่งของป้อมยุคุนธรผิดไป
“ร้านที่ผมเคยขายกาแฟอยู่นั้น คือฐานรากของป้อมยุคุนธร ผมเคยอยากวาดแผนที่ แต่ก็ไม่ได้ทำ พับโครงการไปเลย แต่ถ้ามีเวลาก็ยังอยากทำ เพียงแต่ความตั้งใจของผมคือ ผมไม่ได้อยากเขียนแผนที่ในปัจจุบัน
ผมอยากเขียนแผนที่ย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ในยุคที่บ้านเมืองรุ่งเรือง เป็นยุคก่อนที่ถนนจะเข้ามาแทนที่คลอง”
อาจารย์ลิดกล่าวว่า “ผมอยากเห็น ผมมักจะจินตนาการเสมอว่า เราอยากไปใช้ชีวิตสักหนึ่งสัปดาห์ ในช่วงร้อยกว่าปีก่อนว่ามันเป็นยังไง ผมมี Image ในใจอยู่แบบนี้ประจำ เป็นแบบนี้ตลอด แล้วมีอีกสิ่งหนึ่งที่มันมีจุดเชื่อมอยู่ระหว่างการอ่านแผนที่และการวาดรูป”
“จุดเชื่อมนี้ ผมเพิ่งมาพิจารณาแล้วพบว่า มันใช้ได้จริง มันเป็นทักษะเดียวกันกับที่ผมใช้และผมมีอยู่ นั่นคือการ Drawing การวาดภาพ มันคือการเขียนสิ่งที่เราเห็นให้เหมือนกับสิ่งที่ตาเราเห็น เขียนลงมาในกระดาษ แผนที่ก็เช่นเดียวกัน แผนที่คือการเห็นภูมิประเทศแล้วเขียนในมุมมองที่เป็นแผนที่ คือ Top View”
“จุดร่วมของการที่เรามีทักษะในการวาดแผนที่ หรืออ่านแผนที่ หรือการหาตำแหน่งในแผนที่ มันคือทักษะที่เราใช้อยู่ทุกวันคือการ Drawing ทุกภาพที่ผมวาดก็คือ Skill เดียวกัน เป็นฐานของการเห็นสิ่งที่เราเห็น แล้วเขียนลงไป”
“นอกจากนั้น เวลาผมวาดรูป ผมไม่ได้บอกว่า ‘วันนี้ เราจะออกไปเพื่อจะวาดรูป’ แต่ผมจะติดอุปกรณ์ไปเป็นการใช้ชีวิตตามปกติ เมื่อเราไปอยู่ที่ไหน เราเห็นสิ่งที่เราอยากจะเขียน เราก็เขียนขึ้นมา ภาพที่เห็นบ่อยๆ จึงเป็นภาพที่อยู่ในย่านที่เราอยู่ คือเราใช้ชีวิตแล้วเราก็วาดรูปย่านที่เราอาศัย ย่านที่ผมอยู่บ่อยๆ ก็อย่างเช่น บางรัก เจริญกรุง ส่วนในช่วงเปิดร้านกาแฟ ผมก็จะไปอยู่ที่ย่านบางลำพูบ่อย คอลเลคชั่นวาดเมืองในย่านบางลำพูจึงมีเยอะ คอลเลคชั่นบางรักก็เยอะ หรือเมื่อผมอยู่พระประแดงบ่อย ภาพคอลเลคชั่นพระประแดงก็เยอะ”
“บางครั้ง เวลาเราวาดภาพบ้านบางหลัง เราก็จะจมอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วก็จะมีคำถามเกิดขึ้นมาในหัวเพลินๆ ว่า ลองนึกภาพที่เมื่อก่อนมีเรือขนสินค้าเข้ามาในคลอง เมื่อก่อนคลองคงใหญ่กว่านี้ ก็จะมีภาพอะไรแบบนี้แว่บเข้ามาในหัวตลอด แล้วเมื่อเราไปหาแผนที่ยุคก่อนมาดู เราก็พบว่าบ้านหลังนี้มีมาตั้งร้อยกว่าปีแล้วนี่นา ก็ทำให้นึกถึงบรรยากาศสมัยก่อน สนุกดีครับ” อาจารย์ลิดทิ้งท้าย ด้วยความสุขในการเขียนภาพและอ่านแผนที่ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่รักทั้งสิ้น
………..
Text and Photo by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
ภาพเขียนผลงานอาจารย์ลิดจากเพจ Res.