ลูกหนี้ ACAP เหยื่อรายใหม่ร้อง ปอศ.ตรวจสอบจริยธรรมผู้บริหาร ส่อทำธุรกรรมไม่โปร่งใส ปล่อยกู้ผิดปกติทำบริษัทเสียหายหลายพันล้านบาท นักลงทุนร้องซ้ำเร่งตรวจสอบ จี้ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเอาผิดผู้บริหารทำนักลงทุนเสียหายหนัก
ความคืบหน้ากรณีนักลงทุนผู้ซื้อหุ้นกู้ บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP ยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการสอบสวนกลาง และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ให้ตรวจสอบ ACAP ส่อทุจริต ทำนักลงทุนเสียหาย ล่าสุดนักลงทุนรายย่อยได้เข้ายื่นหนังสืออีกครั้งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 เพื่อให้ตรวจสอบนางสาวณิชารดี สุขเจริญไกรศรี อดีตผู้บริหาร ACAP ที่มีพฤติกรรมส่อทุจริต บริหารงานเป็นเหตุให้บริษัทและนักลงทุนเสียหายหลายพันล้านบาท
นายเฑียร คล้ายมาลากุณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอริออน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในฐานะลูกหนี้ และผู้ถือหุ้น ACAP เปิดเผยว่า ได้ติดตามข่าวกรณี ACAP มาโดยตลอด ตนในฐานะที่เป็นทั้งลูกหนี้ และผู้ถือหุ้น พบความไม่ปกติในการดำเนินธุรกิจของ ACAP จนทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนและผู้ซื้อหุ้นกู้ ซึ่งเป็นนักลงทุนรายย่อย ในฐานะที่เป็นลูกหนี้ของ ACAP ก็ได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน จากการกู้เงินจาก ACAP แล้วไม่ได้รับเงินกู้เต็มจำนวน ขณะที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยล่วงหน้าครบตามสัญญา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่พัทยา มูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท
“โครงการโอริออน เป็นลูกหนี้ของ ACAP โดยทำสัญญากู้เงินมาทำโครงการคอนโดมิเนียมที่พัทยาตั้งแต่ปี 2559 เป็นจำนวนเงินประมาณ 300 ล้านบาท โดย ACAP จ่ายเงินให้เป็นงวดๆ จ่ายได้ประมาณ 2 งวดก็หยุดจ่าย แต่บริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยครบตามสัญญาไปแล้วล่วงหน้า พอบริษัทจะฟ้อง ACAP ก็ให้บริษัทลูก โอเค แคช มาทำสัญญาปล่อยกู้แทน และก็มีปัญหาเดียวกัน จนโครงการต้องหยุดชะงัก ทำให้บริษัทถูกลูกบ้านที่ทำสัญญาซื้อห้องชุดไปแล้ว ฟ้องร้องมากกว่า 120 คดี” นายเฑียรกล่าว
นายเฑียรกล่าวด้วยว่า รู้สึกเห็นใจผู้ซื้อหุ้นกู้ของ ACAP ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เงินที่ ACAP ได้จากนักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้กว่า 3,000 ล้านบาทหายไปไหน และมีข้อสังเกตอีกประการคือ ในแผนฟื้นฟูกิจการของ ACAP ไม่ได้มีโครงการของบริษัท โอริออนฯ อยู่ในแผนฯ ด้วย ทั้งที่เป็นลูกหนี้รายหนึ่ง เช่นเดียวกับโครงการพีเพิล พาร์ค คอมมูนิตี้ มอลล์ ที่เป็นคดีฟ้องร้องกับ ACAP แต่ก็ไม่ได้อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการเช่นเดียวกัน แล้วบริษัทจะเอาเงินที่ไหนมาคืนผู้ถือหุ้นกู้ สะท้อนถึงความไม่มีธรรมาภิบาลของผู้บริหารในการดำเนินธุรกิจ
นายนครินทร์ วงแหวน ทนายความผู้รับมอบอํานาจจากผู้ถือหุ้นกู้ ACAP กล่าวว่า วันที่ 8 ตุลาคม 2567 ทีมทนายความที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้ถือหุ้นกู้ ACAP และนักลงทุนผู้ซื้อหุ้นกู้ ได้ยื่นหนังสือถึงบัญชาการสอบสวนกลาง และ บก.ปอศ.ให้ตรวจสอบนางสาวณิชารดี สุขเจริญไกรศรี อดีตผู้บริหาร ACAP ที่มีพฤติกรรมส่อทุจริตบริหารงานเป็นเหตุให้บริษัทและนักลงทุนเสียหายหลายพันล้านบาท ตั้งแต่การบริหารงานในอดีตจนถึงการนำบริษัทเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการในขณะนี้ ก็ไม่มีความจริงใจที่จะดำเนินการอย่างถูกต้อง โปร่งใส มีการโอนทรัพย์สินให้กับบริษัทในเครือ และพวกพ้อง แล้วอย่างนี้จะเอาเงินที่ไหนมาชำระคืนหนี้หุ้นกู้ให้กับนักลงทุนรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก
“จากข้อมูลที่เราได้ยื่นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะทำงานอย่างรวดเร็ว เพราะคดีนี้มีผู้เสียหายจำนวนมาก และเป็นนักลงทุนรายย่อย ที่ลงทุนหุ้นกู้ ซึ่งเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันมีหุ้นกู้จำนวนมากที่บริษัทต่างๆ เปิดขายให้กับนักลงทุน ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เร่งแก้ไขจะกระทบความเชื่อมั่นและทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศสั่นคลอน กรณี ACAP เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงการดำเนินธุรกิจอย่างไม่มีธรรมาภิบาล ทำให้นักลงทุนได้รับความเสียหาย ไม่ต่างจากการปล้นเงินจากประชาชนไปเช่นเดียวกับกลุ่มมิจฉาชีพ โดยใช้กลไกผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งกลต.ต้องรีบเข้ามาแก้ไขเพื่อไม่ให้นักลงทุนได้รับความเสียหายไปมากกว่านี้” นายนครินทร์กล่าว
สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการ ACAP จะมีการนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 27 พ.ย. 2567 นี้ โดยนักลงทุนรายย่อยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัท โอเค แคช จำกัด บริษัทลูกของ ACAP และเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการได้ส่งหนังสือขอซื้อหนี้หุ้นกู้จากนักลงทุน ในอัตราส่วน 40% จากยอดหนี้ทั้งหมด เป็นการเอาเปรียบฉ้อฉล ไม่โปร่งใส ทั้งนี้เพื่อนำไปเป็นเสียงข้างมากในการประชุมแผนฟื้นฟูกิจการ หากปล่อยให้แผนดังกล่าวผ่าน โอกาสที่นักลงทุนจะได้รับคืนหนี้ยากมาก เพราะทรัพย์สินของบริษัทถูกผ่องถ่ายไปที่บริษัทลูกหมดแล้ว
เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นภัยคุกคามต่อระบบเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นโดยรวม ตลอดจนกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ที่จะปกป้องคุ้มครองผู้ประกอบสัมมาอาชีพ อย่างสุจริต และ ข้าราชการบำนาญ และ วัยเกษียณเก็บหอมรอมริบมาส่งมอบให้กับอาชญากรทางเศรษฐกิจแบบนี้
ดังนั้นจึงต้องร้องขอให้สื่อมวลชนทุกแขนง ช่วยตีแผ่พฤติกรรมฉ้อฉลครั้งนี้ และเป็นขบวนการ โดยอาจมีข้าราชการบางหน่วยงานเข้ามามีส่วนร่วม และสนับสนุนอยู่เบื้องหลังขบวนการภัยคุกคาม อาชญากรทางเศรษฐกิจ และทำลายชีวิตและทรัพย์สินของนักลงทุนทั้งรายย่อยและทุกรายในปัจจุบันและอนาคตต่อไป