xs
xsm
sm
md
lg

“ศศิน” แนะถอดบทเรียนน้ำท่วมหนักเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาบุคลากร-ระบบเตือนภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เสนอแนะถอดบทเรียนน้ำท่วมใหญ่เชียงใหม่ พัฒนาบุคลากร ความรู้ ระบบเตือนภัย และหาทางลดความรุนแรงลงทั้งทางฟื้นฟูธรรมชาติและเทคนิควิศวกรรมที่เหมาะสม

จากกรณี สถานการณ์น้ำท่วมของเชียงใหม่กลายเป็นมหาอุทกภัยใหญ่ของชาวเชียงใหม่ในรอบเกือบ 100 ปีไปแล้วหลังจากที่น้ำในแม่น้ำปิงล้นตลิ่ง และทำสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์เท่าที่เคยมีการบันทึกมา ล่าสุดน้ำปิงยังขยายวงกว้างออกทุกทิศทางจากแม่น้ำปิงตั้งแต่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ไปจนถึงพื้นที่ท้ายน้ำหลายอำเภอ และบางส่วนของจังหวัดลำพูนด้วย
ระดับน้ำในแม่น้ำปิงล่าสุดเมื่อเวลา 23.00 น. ณจุดวัดระดับน้ำ P1 เชิงสะพานนวรัฐ อยู่ที่ 5.26 เมตร เริ่ลดลงอย่างช้าๆ ชม.ละ 1 เซนติเมตร โดยขึ้นไปแตะระดับสถิติสูงสุดใหม่ในระดับ 5.30 เมตร เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. และเริ่มทรงตัวอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมงจึงเริ่มลดระดับลง ตามที่เสนอข่าวไปนั้น

วันนี้(6 ต.ค.) เฟซบุ๊ก“ศศิน เฉลิมลาภ“ หรือ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้โพสต์ระบุข้อความว่า “น้ำท่วมเชียงใหม่คราวนี้ เป็นกรณีศึกษาทางธรณีสัณฐานที่ชัดเจน ว่า เมืองโบราณเชียงใหม่ น่าจะตั้งอยู่บนตะพักแม่น้ำเก่าซึ่งสูงเกินระดับน้ำท่วม อันนี้เป็น #เมือง ที่เลือกที่ตั้งไม่ให้น้ำท่วมได้ เมืองสุโขทัยโบราณก็เป็นแบบนี้ เมืองละโว้ ลพบุรีก็แบบนี้ ตอนนั้นคนน้อยพื้นที่เยอะ เลือกได้ ไม่อยู่ลานตะพักแม่น้ำระดับสูงก็ขยับมาที่เนินเขา แต่มีระบบชลประทานโบราณเก็บน้ำไว้ใช้ในคูเมือง เชื่อมคลองรับน้ำและระบายน้ำมาจากทางภูเขาและระบายลงที่ลุ่มลงแม่น้ำลำคลองธรรมชาติในฟลัดเพลนที่ไม่ไกล นี่มองไปเมื่อพันปีที่เราก็รู้เรื่องนี้กันแล้ว คนที่อยู่ในที่ราบก็คงมีแต่เป็นบ้านใต้ถุนสูง น้ำท่วมได้ไม่เสียหายบนคันดินธรรมชาติสันฝั่งแม่น้ำ

นี่เป็นวิธีตั้งเมืองก่อนกรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาผ่านเวลาจนถึงเมื่อสี่สิบห้าสิบปี เมืองก็หนาแน่นอยู่รอบเมืองเก่า ตรงทุ่งฟลัดเพลนสองข้างแม่น้ำปิง ก็มีที่อยู่อาศัยเบาบาง ทำนากัน น้ำท่วมได้ คนก็ปลูกบ้านสองฝั่งลำน้ำ น้ำท่วมรอดใต้ถุน และมีระบบลำเหมืองฝายกระจายน้ำให้ท่วมน้อยท่วมมากได้

ผ่านกรุงศรีอยุธยา เราปรับวิธีอยู่อาศัยมาใกล้น้ำเดินทางค้าขายทางเรือมากขึ้น แต่เราสามารถสร้างเมืองใหญ่อย่างอยุธยาบนระบบการป้องกันและระบายน้ำท่วมเกาะเมืองได้สบายๆ ส่วนชาวบ้านก็เรียนรู้จะอยู่กับน้ำหลากอย่างสอดคล้องด้วยบ้านใต้ถุนสูง อยู่เรือนแพลอยน้ำ มีเรือไว้พายไปไหนมาไหนทุกบ้าน ในพื้นที่คันดินธรรมชาติสองฝั่งน้ำที่สูงกว่าฟลัดเพลนที่ไม่ตั้งชุมชนแต่ใช้ทำนา เรื่อยมาจนตั้งเมืองกรุงเทพก็จำกัดพื้นที่เมืองไว้ริมน้ำ และค่อยๆถมดินวางระบบป้องกันน้ำท่วมขนาดใหญ่แบบระบบ 15 คลอง ของรังสิตและฟลัดเวย์ มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบังเอาน้ำลงหนองงูเห่า

ตอนผมเด็ก หรือแม้แต่โตเป็นหนุ่มไปเชียงใหม่ ก็เที่ยวๆอยู่ในเมือง ในขอบสี่เหลี่ยม ออกมาทาง มช. มันก็มาทาง ภูเขาเข้าใจว่า พื้นที่น้ำท่วมแบบปีนี้ก็คงท่วมบ้าง แต่มันไม่เป็น #เมือง แบบวันนี้ซึ่งมันขยายอย่างรวดเร็วในช่วงอายุของผมที่แก่มาแค่นี้เอง

มนุษย์อยู่กับน้ำท่วมบนวิถีชีวิตดั้งเดิมได้มาเป็นพันปี แต่กับสิ่งที่เป็นความเจริญสะดวกสบายแบบเมือง บ้านสองชั้นติดพื้นและมีรถยนต์ รถมอไซต์ จอดที่บ้านแทนเรือ ทำให้เราเผชิญปัญหาใหม่ของรุ่นเราในช่วงห้าสิบปีมานี่เองครับ คือน้ำท่วม #เมือง ที่ขยายตัวลงในฟลัดเพลน หรือที่ราบน้ำท่วมถึง ซึ่งสัมพันธ์กับช่วงเวลามีเขื่อนแม่กวงและแม่งัดที่สร้างเสร็จช่วง 2530 และน่าจะลดคาบน้ำท่วมประจำลงได้มาก จึงขยายเมืองได้รวดเร็วและคิดว่าน้ำไม่ท่วมแล้ว

พอฝนหนักๆตามคาบน้ำใหญ่ๆ สิบปียี่สิบปี ก็มาเจอวิกฤติน้ำท่วมเมืองและชุมชนในฟลัดเพลนที่เพิ่งจะเปลี่ยนสภาพจากชนบทมาเป็นชุมชนปูนซีเมนต์ เพราะคาบน้ำท่วมประจำปีสองปี ห้าปี สิบปีจะถูกจัดการได้ด้วยเขื่อนและระบบกระจายน้ำเท่าที่มีไปแล้ว

เป็นประสพการณ์และองค์ความรู้ที่มนุษย์ต้องเรียนรู้และปรับตัว หาทางแก้ไขกันต่อไป

ผมเชื่อว่าหากเราถือโอกาสตั้งหลักกันครั้งใหญ่ เหมือนหลังน้ำท่วมปี 54 พัฒนาบุคลากร ความรู้ ระบบเตือนภัย และหาทางลดความรุนแรงลงทั้งทางฟื้นฟูธรรมชาติและเทคนิควิศวกรรมที่เหมาะสม ก็อาจจะพบทางแก้ไขปัญหาได้ แม้จะดูยากเต็มที นี่คงเป็นความท้าทายของรุ่นลูกหลานต่อไป”
คลิกโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น