xs
xsm
sm
md
lg

ฟังอีกมุม! ไม่อยากให้ยกเลิก "ทัศนศึกษา" แนะปรับปรุงแนวทางการไปทัศนศึกษาอย่างเป็นระบบ ยก "นอร์เวย์" เป็นต้นแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิเคราะห์นโยบาย ท่องเที่ยวมุกดาหาร ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกทัศนศึกษา ชี้สามารถปรับปรุงแนวทางการไปทัศนศึกษาอย่างเป็นระบบ ยก ประเทศนอร์เวย์ ควรศึกษาและนำมาปรับใช้

จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้รถบัสนักเรียน เหตุเกิดบนถนนพหลโยธิน ขาเข้า ก่อนถึงอนุสรณ์สถาน เบื้องต้นมีรายงานว่ามีเด็กนักเรียนเสียชีวิต และบาดเจ็บหลายราย ต่อมามีรายงานว่ารถบัสคันเกิดเหตุจดทะเบียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2513 โดยรถบัสมรณะใช้มาแล้วกว่า 50 ปี จดทะเบียนกับกรมการขนส่งฯ แจ้งว่าไม่ได้ติดตั้งถังแก๊สเอ็นจีวี แต่ตอนเกิดเหตุพบติดถังแก๊สเอ็นจีวี ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ต่อมาชาวเน็ตออกมาถกสนั่นในหัวข้อ "ยกเลิกทัศนศึกษา" ทำเสียงแตกมองกัน 2 มุม กลุ่มให้ยกเลิกบอกถ้าดูแลไม่ได้ก็ไม่ควรจัด ด้านมุมของกลุ่มไม่อยากให้ยกเลิก เผย การทัศนศึกษาไม่ได้ทำร้ายใครประเด็นมันอยู่ที่คนขับ กับมาตรฐานของสภาพรถ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ผู้ใช้เฟซบุ๊ก "Eaggawong Triyawong" หรือ "นายเอกวงศ์ ไตรยวงศ์" นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ ที่สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดมุกดาหาร ได้ออกมาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นและมุมมองของตนเองเกี่ยวกับการ "ยกเลิกทัศนศึกษา" ชี้ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกทัศนศึกษา แนะควรแก้ไขปรับปรุงแนวทางการไปทัศนศึกษาอย่างเป็นระบบ พร้อมโพสต์ภาพ 4 ภาพ บรรยากาศต่างประเทศที่เด็กๆ ออกมาเดินทัศนศึกษาพร้อมกับครูผู้ดูแล โดยผู้โพสต์ได้ระบุข้อความว่า

"ภาพชุดนี้ถูกถ่ายเมื่อครั้งที่ผมเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศนอร์เวย์ (เมือง Oslo) เหตุผลที่ถ่ายภาพนี้มาก็เพราะว่า "แปลกตา" ที่ได้เห็นการทัศนศึกษาของเด็กๆ ในนอร์เวย์ สิ่งที่ทำให้ผมแปลกตาในภาพนี้ไม่ใช่ความน่ารักของเด็กๆ ฝรั่ง (แต่น้องๆจะน่ารักมากๆ) แต่แปลกตาคือจำนวนเจ้าหน้าที่ (ครูหรือผู้ปกครองหรืออาสา ผมก็ไม่แน่ใจ) ต่อจำนวนเด็ก และเครื่องแต่งกายของครูผู้ดูแล

สังเกตในภาพที่ 1

จำนวนเจ้าหน้าที่ (ในวงกลมสีแดง) ทั้งหมด 4 คน ต่อเด็กในภาพ 13 คน หรือประมาณ 1:4 นั่นทำให้ผมแปลกใจมากว่า ต้องใช้บุคลากรเยอะขนาดนี้เลยใช่ไหม คงจะเป็นจริงตามตัวเลขนี้เพราะนอร์เวย์เป็นประเทศที่พัฒนาคุณภาพชีวิตไปมากๆแล้ว
(ส่วนสัดส่วนในข่าวเมื่อวานนี้คันที่ 1 ประกอบด้วย นักเรียน 35 คน ครู 4 คน รวมเป็น 39 คน คันที่ 2 ประกอบด้วย นักเรียน 39 คน ครู 6 คน รวมเป็น 45 คน (เป็นคันที่เกิดเหตุ) คันที่ 3 ประกอบด้วย นักเรียน 38 คน ครู 5 คน รวมเป็น 43 คน สรุปโดยรวมประมาณ 40:5 หรือ ครู 1 คน ต่อเด็ก 8 คน)

การแต่งกายของเจ้าหน้าที่ ถึงแม้ในสังคมยุโรปจะไม่มีการแต่งกายชุดนักเรียนในทั่วไป แต่เราจะเห็นได้ว่าเราสามารถแยกได้ทันทีเลยว่าใครคือเจ้าหน้าที่ ใครคือนักเรียน เพราะเจ้าหน้าที่จะใส่เสื้อสะท้อนแสง ผมเดาเองว่าเพราะการเดินทางใช้ทางสาธารณะเป็นหลัก การที่เจ้าหน้าที่ใส่ชุดสะท้อนแสงสะดุดตาก็จะเป็นจุดสังเกตได้ง่าย ทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กน้อยลง

สังเกตภาพที่ 2

ผมเดินมาสถานที่ท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่ง ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงจำนวนเด็กต่อเจ้าหน้าที่ เพราะจะเห็นได้ว่าในด้านซ้ายของภาพมีเจ้าหน้าที่ประกบนักเรียนอยู่ 3 ต่อ 1 คน และมองไปไกลๆ จะเห็นอีกกลุ่มหนึ่งจะเห็นภาพเจ้าหน้าที่กับเด็กๆ ยืมรวมกลุ่มกันอยู่ ชุดสีเขียวทะท้อนแสงมองเห็นได้จากที่ไกลๆ (ผมว่าป้องกันการพลัดลงได้ดีเลยแหละ)

สังเกตภาพที่ 3

ในภาพที่สามจะเห็นได้ว่าเห็นนักเรียนกำลังถือไม้กายสิทธิ์กำลังร่ายเวทมนตร์อยู่ เอ้ยยย ไม่ใช่ละครับ (ขออภัยในมุกตลกในโพสต์จริงจังแบบนี้)
พอมาดูใกล้ๆ จะเห็นได้ว่าเด็กๆ ในวงกลมสีแดง หลายคนใส่ชุดสะท้อนแสง ไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่ที่ใส่ในภาพแรก แต่ก็มีหลักเกณฑ์ (หรือบังคับ) ให้ใส่ชุดสะท้อนแสงในเด็กที่โตขึ้นมาด้วย

ภาพที่ 4

ไม่มีอะไรครับ แถมขึ้นมา เพราะเด็กๆ น่ารักมาก ดูมีความสุขสมกับเป็นประเทศที่ผู้คนมีความสุขติดอันดับโลก

สรุปจากโพสต์ทั้งหมด

ถึงแม้ในนอร์เวย์จะเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนนต่ำกว่าเรามาก แต่ก็มีระบบการป้องกันอุบัติเหตุที่ดีมาก เราไปเที่ยวแล้วบังเอิญพบเห็นเราก็ยังทึ่งกับการบริหารจัดการ

เราอาจจะยังไม่จำเป็นต้องยกเลิกการทัศนศึกษา แต่หันมามองที่การบริหารจัดการที่เหมาะสม อย่างเช่น จำนวนครูต่อนักเรียนที่เหมาะสม กิจกรรมหรือระยะทางที่เหมาะสมกับวัยของนักเรียน และเข้มงวดรถรับจ้างสาธารณะที่เอามาวิ่งประกอบการบนท้องถนน ก็อาจจะลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ (และทำให้การทัศนศึกษามีคุณภาพขึ้นอีกด้วยครับ)"

นอกจากนี้ มีชาวเน็ตเข้ามาคอมเมนต์แสดงความคิดเห็น ชาวเน็ตรายหนึ่งบอกว่าตนเองเป็นครูอนุบาลที่นอร์เวย์ ได้ออกมาโพสต์ให้ข้อมูลเพิ่มเติ่มว่า

"เราเป็นครูอนุบาลที่นอร์เวย์ค่ะ จะมีกฎคือ

อนุบาลห้องเด็กเล็ก 1-2.5 ขวบ ครู 1 คน : เด็ก 3 คน

ห้องเด็กโตก็ ครู 1 คน : เด็ก 6 คน

ถ้าโรงเรียนตามความเหมาะสมค่ะ

ถ้าออกไปเที่ยวข้างนอกจะเพิ่มบุคลากรที่ไปด้วย เราเคยพาเด็ก 5-6 ขวบไปเที่ยวในออสโล นั่งรถบัส ต่อรถทริก ต่อรถไฟ แต่จะมีการเตรียมการอย่างดี ทำความเข้าใจกับเด็กๆ ด้วย

ถ้าเป็นเด็กเล็กพาขึ้นรถเที่ยวจะไปที่ไม่ไกลค่ะ พาไปฟาร์ม ขับรถ 15 นาที ต้องมี car seats แบบเล็กให้เด็กทุกคน รถต้องได้มาตรฐาน ครู 2 คนเรียนวิธีเปิดประตูฉุกเฉิน ถ้าพ่อแม่ใครว่างไปด้วยได้ค่ะ
ถ้าเวลาปกติจะพาเด็กเดินค่ะ ขึ้นเขา เข้าป่า ย่างไส้กรอก ไปสนามฟุตบอล แนวๆ นี้

เวลาไปเที่ยวเด็กจะใส่เสื้อเขียวสะท้อนแสง เขียนชื่ออนุบาลหรือโรงเรียน และเบอร์โทร.ค่ะ เพื่อให้ทุกคนช่วยดูเด็กในกรณีเกิดปัญหาต่างๆ และจะแบ่งเด็กกับครูเลยค่ะ ว่าใครจะดูแลใคร เพื่อง่ายต่อการดูแล

ครูเรียนวิธีช่วยชีวิตทุกอย่าง ฝึกโทร.แจ้งฉุกเฉิน ถ้ามีเด็ก 1 คนในโรงเรียนแพ้อาหาร ครูและครูผู้ช่วย ผู้อำนวยการทุกคนในโรงเรียนต้องฝึกฉีดยาแก้แพ้ให้ได้"


กำลังโหลดความคิดเห็น