xs
xsm
sm
md
lg

ดร.ธรณ์วอนออกแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยสำหรับทุกทริป ไม่ใช่เฉพาะกรณีรถเด็กๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.ธรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล เผยออกเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยสำหรับทุกทริป ไม่ใช่เฉพาะกรณีรถเด็กๆ แต่เป็นทุกกรณี ทั้งมหาวิทยาลัย ราชการและเอกชน พร้อมขอให้ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นประโยชน์ต่อเหตุการณ์เช่นนี้ในภายภาคหน้า

กรณีเกิดเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของเด็กนักเรียน ร.ร.วัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี ระหว่างเดินทางกลับจากทัศนศึกษา มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เบื้องต้นได้รับรายงานว่ามีผู้สูญหาย 25 คน จาก 44 คน ขณะนี้ทุกหน่วยงานกำลังลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบรายละเอียดรวมถึงเก็บรวบรวมพยานหลักฐานถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น โดยตำรวจก็จะมีการตรวจสอบกล้องวงจรปิดตามเส้นทางที่ขบวนรถทัศนศึกษารวม 3 คันเดินทางกลับ จ.อุทัยธานี ว่ารถคันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุจากสาเหตุ เช่นมีการเฉี่ยวชนกับคันอื่นหรือไม่ เพราะทราบว่ารถคันเกิดเหตุมีก๊าซรั่ว ดังนั้นก็จะต้องมีการตรวจสอบกับกรมการขนส่งทางบกว่ามีการติดตั้งถังก่อน หรือมีการดัดแปลงภายหลังและได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งในทางคดีหากมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตตำรวจก็จะต้องดำเนินการต่อคนขับ จากนั้นก็จะต้องตรวจสอบว่ารถคันดังกล่าวเป็นของผู้ประกอบการรายใดที่จะต้องมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องความเสียหาย แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้และยังไม่พบคนขับรถคันเกิดเหตุ ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้ว

วันนี้ (1 ต.ค.) เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นถึงกรณีดังกล่าว ระบุข้อความว่า “เริ่มต้นที่เราเอง เดินทางไกล จัดกิจกรรมหรือใดๆ ความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก ตั้งแต่ติดต่อรถ พูดคุยเน้นย้ำเรื่องนี้ รถต้องอยู่ในสภาพดี คนขับอยู่ในสภาพพร้อม ทุกอย่างถูกต้องตามกม.กำหนด

ก่อนออกเดินทาง เผื่อเวลาไว้บ้าง ตรวจสอบสภาพรถด้วยตัวเอง พูดคุยกับคนขับเรื่องความปลอดภัย เตรียมคิดถึงกรณีฉุกเฉิน วาดภาพในอากาศว่าถ้าเกิดเรื่องร้ายแล้วเราต้องทำอย่างไร ตรวจสอบแต่ละจุดให้ดี

ชีวิตเรา เราต้องดูแล หากเราเป็นคนจัด เราต้องยิ่งต้องเน้นย้ำตัวเองว่า เสียเวลานิดหน่อยแลกกับความสบายใจและความปลอดภัยของทุกคน มันยิ่งกว่าคุ้ม

หากจัดเป็นหมู่คณะ เน้นย้ำคนขับหรือผู้ดูแลให้อธิบายเรื่องจำเป็นให้ชัดเจนแก่ผู้ร่วมคณะทุกคน คาดเข็มขัดระหว่างเดินทางโดยตลอด

จัดโปรแกรมให้ยืดหยุ่น อย่าเร่งรีบเดินทางเพื่อหลีกเลี่ยงการขับรถเร็วหรือติดต่อกันนานเกินไป เผื่อเวลาพักของคนขับให้เพียงพอ

มีรายชื่อคนในคณะชัดเจน มีเบอร์ยามฉุกเฉิน สามารถติดต่อคนใกล้ชิดได้ตลอดเวลา หากเกิดอะไรต้องรีบแจ้งอย่างมีสติ อย่าปล่อยให้คนเป็นห่วงต้องกังวลใจหรือรอแถลงข่าว

การให้ข้อมูล/เขียนเพจ/สื่อสารในยามฉุกเฉินต้องใจเย็นและตรวจสอบความถูกต้องให้แม่นยำ เพื่อให้ผู้ที่เป็นกังวลรู้สึกพึ่งพาเราได้

ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ เขียนไว้เตือนตัวเอง รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ภาควิชา/องค์กรจัดขึ้น เพื่อทำให้ดีที่สุด

ผมกะว่าจะขอให้หัวหน้าภาคออกเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับทุกทริปต่อจากนี้ด้วยครับ

เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะกรณีรถเด็กๆ แต่เป็นทุกกรณี จะเป็นมหาวิทยาลัย ราชการ เอกชน เราก็ต้องเดินทางแบบนี้กันอยู่แล้ว

จึงนำมาฝากเพื่อนธรณ์ อาจมีตกหล่นไปบ้าง แต่ตอนนี้คิดออกเท่านี้

อยากให้ความสูญเสียที่เกิดขึ้น เป็นประโยชน์ต่อเหตุการณ์เช่นนี้ในภายภาคหน้า

ขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียในเหตุการณ์ครั้งนี้ครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น