xs
xsm
sm
md
lg

“ปวยเล้ง” ผักที่ป๊อปอายเข้าใจผิด เป็นแค่ผักธรรมดา ให้พลังงานต่ำ...เจอกล้วยน้ำว้าป๊อบอายกระเด็นแน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ในการ์ตูนยอดฮิทเรื่อง“ป๊อปอาย” เมื่อต้องเผชิญเหตุคับขัน ยอดชายนายกลาสี ป๊อปอาย จะต้องล้วงเอากระป๋องที่เขียนไว้ว่า “Spinach” ออกมากรอกเข้าปาก บัดดลกล้ามก็จะโป่งเกิดพละกำลังขึ้นมหาศาล ซึ่งสปิแนชนั้นก็คือผัก “ปวยเล้ง” นั่นเอง

ความจริงปวยเล้งไม่ได้มีฤทธิ์เดชมหัศจรรย์ถึงเพียงนั้น เป็นเพียงผักธรรมดาๆ ไม่ได้ให้พลังงานมากมาย และค่อนข้างต่ำเสียด้วยซ้ำ คือผักปวยเล้ง ๑ ขีดหรือ ๑๐๐ กรัมจะให้พลังงานเพียง ๒๒ กิโลแคลอรี่ ผักกระเฉดยังมีมากกว่าคือ ๒๙ กิโลแคลอรี พริกขี้หนูมี ๖๘ กิโลแคลอรี แถมยังพ่นไฟออกจากปากได้ด้วย ส่วนยอดขี้เหล็กซึ่งเป็นยานอนหลับอย่างดีนั้น ให้พลังงานถึง ๑๓๙ กิโลแคลอรี แต่ถ้าจะให้พลังงานมากที่สุดแล้ว ก็ต้องยกให้กล้วยน้ำว้า ซึ่ง ๑ ขีดจะให้พลังงานถึง ๑๔๗ กิโลแคลอรี

นี่ถ้านายป๊อปอายมาเจอพระเอกการ์ตูนไทยกินกล้วยน้ำว้าละก็ ถูกต่อยกระเด็นแน่

ปวยเล้ง ในภาษาจีนแปลว่า “ลิ้นมังกร” ซึ่งตามตำนานถือกันว่าเป็นเจ้าแห่งสัตว์ ใครได้กินลิ้นมังกรก็จะมีพละกำลังมหาศาล ส่วนฝรั่งก็มีนิทานเกี่ยวกับลิ้นมังกรเหมือนกัน โดยเจ้าชายไปปราบมังกรได้แล้วอ่อนเพลียหลับไป แต่มีผู้ชั่วร้ายแอบมาตัดเอาหัวมังกรไปแสดงว่าเป็นผู้ปราบมังกรได้ เผอิญเจ้าชายได้ตัดลิ้นมังกรเก็บไว้ก่อนที่จะหลับ

เมื่อนำลิ้นมังกรไปแสดงก็เลยได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงตามกติกาที่ประกาศไว้ คนเขียนการ์ตูนป๊อปอายคงเก็บเรื่องนี้ไปยำ ส่วนที่เอาปวยเล้งไปใส่กระป๋อง ก็เพราะฝรั่งชอบกินของในกระป๋อง แต่คนเอเชียชอบกินของสด
คุณค่าทางอาหารที่เด่นของปวยเล้ง

นอกจากความอร่อยแล้ว ก็ยังเป็นผักที่มีประโยชน์มากมาย ทั้งแร่ธาตุ อย่างแร่เหล็ก แคลเซียม โพแทสเซียม และวิตามินซี วิตามินบี ๒ มีกรดโฟลิกที่เป็นส่วนประกอบที่จำเป็นในการสร้างสารซีโรโทนินในระบบเซลล์ประสาท ซึ่งสารซีโรโทนินที่ช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย หากขาดสารตัวนี้จะทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย ปวยเล้งยังมีมีคลอโรฟิลล์สูง เหมาะกับผู้ป่วยโรคโลหิตจาง ช่วยบำรุงสายตาและผิวพรรณ มีคุณสมบัติเย็น รสหวาน สรรพคุณบำรุงเลือด ห้ามเลือด รักษาอาการเลือดกำเดาออก อุจจาระเป็นเลือด อุดมด้วยเบต้า-แคโรทีน ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งกระบวนการเกิดมะเร็ง และยังมีกากใยอาหารที่ช่วยทำความสะอาดชำระล้างลำไส้ใหญ่เช่นเดียวกับคุณสมบัติของผักผลไม้ทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ปวยเล้งมีกรดยูริกมาก คนที่เป็นโรคเกาต์หรือไขข้ออักเสบจึงไม่ควรทานมาก และยังมีกรดออกซาลิกอยู่มากเช่นกัน ซึ่งกรดนี้ถ้ารวมตัวกับแคลเซียม จะก่อให้เกิดนิ่วได้ ก่อนจะปรุงอาหารจึงควรลวกปวยเล้งครั้งหนึ่งก่อน แล้วเทน้ำที่ลวกทิ้งไป จึงนำไปปรุงอาหาร จะช่วยลดกรดยูริกได้บ้าง
 
ปวยเล้งเป็นผักชอบอากาศหนาวเย็น ฤดูหนาวปวยเล้งจึงอวบงามน่ารับประทานเป็นพิเศษ ทั้งยังมีราคาต่ำกว่าทุกฤดูด้วย เพราะจะผลิตได้ในปริมาณสูงกว่าฤดูร้อนหรือฤดูฝนในพื้นที่เท่ากัน ในฤดูหนาวยังสามารถปลูกปวยเล้งได้ผลดีในภาคกลางด้วย
การปลูกปวยเล้งก็เช่นเดียวกับผักทั่วไป เมื่อเตรียมดินให้ร่วนซุย คลุกเคล้าด้วยปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายแล้ว ใช้ไม้ปลายแหลมขีดเป็นร่องรูปตัววี ลึก ๑ ซม. แต่ละร่องห่างกัน ๑๕ ซม. หยอดเมล็ดปวยเล้งตามร่องห่างกัน ๒-๓ ซม. กลบดินให้หนา ๐.๘- ๑.๐๐ ซม. รดน้ำด้วยฝักบัวให้ชุ่ม จะโรยยาฉุนกันมดกันปลวกไว้หน่อยก็ดี

ผู้เขียนเคยไปขอซื้อเส้นยาฉุนกับแม่ค้าที่ตลาดนัดอำเภอจอมบึง ราชบุรี จะขอแบ่งซื้อไม่เอาทั้งแผงหรือที่เรียกกันว่า “ตั้ง” แม่ค้าถามว่าจะเอาไปทำอะไร เพราะเห็นท่าทางแล้วคงคิดว่าไม่ซื้อไปสูบแน่ ก็บอกว่าจะเอาไปโรยกันมดในแปลงผัก แม่ค้าซึ่งเป็นคนมีน้ำใจตามนิสัยของคนไทย ก็เลยกวาดเส้นยาฉุนที่ร่วงๆอยู่ในถาดใส่ถุงมาให้ แล้วบอกว่าไม่ต้องซื้อหรอกค่ะ เอาร่วงๆนี่ไปใช้ก็แล้วกัน ทั้งยังแนะนำว่าให้เอาไปแช่น้ำไว้ซักคืนก่อนเอาไปราดในร่องผัก สังคมไทยเราก็น่ารักน่าอยู่ด้วยการเอื้ออาทรต่อกันแบบนี้แหละ

เมื่อโรยเมล็ดไปแล้ว ๒-๓ วัน ปวยเล้งก็จะงอกเป็นต้นขึ้นมา ราว ๑๕ วันก็ถอนต้นที่ขึ้นเบียดกันออก ไว้ระยะห่างกัน ๑๐ ซม. และถอนหญ้าถอนวัชพืชให้ด้วย ใส่ปุ๋ยสูตร ๑๓-๑๓-๒๑ ให้หน่อย ที่ใช้ตัวหลังซึ่งเป็นโปแตสเซียมสูงก็เพื่อจะเพิ่มรสชาติ เพราะคุณสมบัติของปุ๋ยโปแตสเซียมคือเพิ่มรสชาติและเร่งสี ผสมด้วยปุ๋ยยูเรียหรือปุ๋ยที่สีขาวเหมือนน้ำตาลทราย ซึ่งมีแต่ไนโตรเจนอย่างเดียว เพื่อบำรุงทางใบและต้นให้งอกงาม อวบกรอบ

พออายุราว ๓๕ วัน ปวยเล้งก็เข้าวัยสาวขบเผาะ ถอนขึ้นมาลงหม้อลงกระทะได้ โดยถอนขึ้นมาทั้งราก หรือใช้มีดตัดให้ลึกต่ำกว่าผิวดินเล็กน้อย

ปวยเล้งทำอาหารได้หลายแบบ ทั้งผัดน้ำมัน แกงจืด ผัดกับเนื้อสัตว์หรืออาหารทะเล หรือจะเอาไปชุบแป้งทอดก็ได้
พูดถึงปวยเล้งแล้วกทำให้นึกถึงอาหารเมนูหนึ่งซึ่งทำให้ผู้เขียนเคยได้ชิมและประทับใจ ก็คือเอาเนื้อปลากะพงหรือปลาเก๋าต้ม ปรุงรสตามชอบ พอเดือดได้ที่แล้วก็ตักราดลงไปบนปวยเล้ง ตั้งโอ๋ และต้นหอม ที่เด็ดใส่ชามไว้ ง่ายๆแค่นี้ ในฤดูหนาวที่ทั้งปวยเล้งและตั้งโอ๋อวบงามน่าทาน ซดน้ำแกงร้อนๆตอนอากาศเย็นๆ จึงเข้าบรรยากาศมาก
 
กินปวยเล้งแล้วถึงแม้กล้ามจะไม่โป่งแบบยอดชายนายป๊อปอาย แต่ก็ช่วยยับยั้งต้านมะเร็งให้ได้ ทั้งยังอร่อยครบถ้วนคุณค่าของผัก โดยเฉพาะถ้าเป็นผักปลูกเองก็จะไม่เพิ่มมะเร็งจากยาฆ่าแมลงแน่




กำลังโหลดความคิดเห็น