อ.มงคลกร อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม เผยเอาดินตะกอนน้ำท่วมจากแม่สายมาส่งให้ห้องปฏิบัติการเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ผลแล็บพบแร่ธาตุเพียบ และเหมาะต่อการเพาะปลูก
จากกรณีสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่เชียงรายหลังฝนตกหนักสะสมตั้งแต่ 8 ก.ย. 67 เป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยและดินถล่ม ส่งผลกระทบตั้งแต่วันที่ 9-14 ก.ย. 2567 โดยสำนัก ปภ.สรุปผลกระทบน้ำท่วมแม่สาย-เชียงราย ดินถล่มแม่ฟ้าหลวง 9-14 กันยายน 2567 มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย เจอผู้เสียชีวิตแล้ว 10 ศพ แยกเป็นถูกดินสไลด์-น้ำป่าซัดในพื้นที่แม่ฟ้าหลวง 5 ราย ที่เหลืออีก 5 เสียชีวิตจากน้ำท่วมแม่สาย
ด้านความคืบหน้าการฟื้นฟูพื้นที่เทศบาลตำบลแม่สาย จ.เชียงราย หลังน้ำท่วมใหญ่เป็นประวัติการณ์นั้น เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยต่างๆ ฝ่ายปกครอง หน่วยกู้ภัย ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ป่าไม้ ชลประทาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มูลนิธิ จิตอาสา ฯลฯ ยังคงระดมกำลัง-เครื่องจักรตักดินโคลนออกจากชุมชนต่างๆ ไปทิ้งนอกพื้นที่ ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
วันนี้ (29 ก.ย.) เฟซบุ๊ก “Mongy Mongkonkorn Srivichai” หรือ ผศ.ดร.มงคลกร ศรีวิชัย อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม ม.เทคโลโยลีราชมงคลล้านนา เชียงราย ได้โพสต์หลังเอาดินตะกอนน้ำท่วมจากแม่สายมาส่งให้ห้องปฏิบัติการเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร โดยระบุข้อความว่า “ผมเอาดินตะกอนน้ำท่วมจากแม่สายมาส่งให้ห้องปฏิบัติการเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย
โดยผลออกมาแล้วพบว่า PH7 Nitrogen ประมาณ 50-200 ppm Phosphorous ประมาณ 4-14 ppm
Potash ประมาณ 50-200 ppm และพบธาตุ Calcium Magnesium Boron สรุปก็เหมาะกับการเพาะปลูกนะครับ ขอบคุณ ผศ.ดร.สุบิน Subin Jaita ครับ”