ต้องเปลี่ยนคำนิยามภัยพิบัติบางจุดจาก “น้ำท่วม” เป็น “สึนามิโคลน” เพื่อเปลี่ยนวิธีการให้ฟื้นฟู เยียวยาได้จริง
รายงานพิเศษ
“ผมเดินเข้าไปในชุมชนบ้านแคววัวดำ ผมถึงกับอุทานออกมาเลย ว่านี่มันไม่ได้ต่างอะไรกับสึนามิ เพราะมันคือ สึนามิโคลน”
“แต่การจัดการดูจะยากกว่าสึนามิด้วยซ้ำ เพราะเมื่อภัยพิบัติครั้งนี้ถูกนิยามว่าเป็นอุทกภัย หรือ น้ำท่วม รัฐบาลก็จะมองรูปแบบการใชห้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม แต่ในความเป็นจริง เมื่อน้ำลดแล้ว ภาระการจัดการกับโคลนทั้งหมด จะไปตกอยู่กับชาวบ้านผู้ประสบภัยเอง ทั้งที่มันเกินศักยภาพที่ผู้ประสบภัยจะแก้ไขได้เอง”
ไมตรี จงไกรจักร์ อดีตผู้ประสบภัยสึนามิจุดที่เสียหายมากที่สุด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดคำนิยามภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือในช่วงเดือนกันยายน 2567 ขึ้นใหม่ โดยเฉพาะจุดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุดินโคลนถล่ม เพราะเขาเห็นว่า พื้นที่เหล่านี้มีลักษณะความเสียหายไม่ต่างกับการถูกสึนามิถล่มเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ดังนั้นจะใช้หลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือโดยยึดคำว่า “น้ำท่วม” ไม่ได้
ต้องเป็น “สึนามิโคลน”
บ้านแคววัวดำ ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นพื้นที่ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำกกไหลหลากลงมาท่วมบ้านเรือนพร้อมดินโคลนจำนวนมหาศาลที่ไหลลงมาด้วย เมื่อน้ำลดลงแล้วจึงยังมีกองโคลนหลงเหลืออยู่และยากต่อการฟื้นฟู ซึ่งเมื่อไมตรีเห็นสภาพหลังน้ำลดในระหว่างลงไปช่วยให้คำปรึกษาในพื้นที่ในฐานะอดีตผู้ประสบภัยสึนามิ ซึ่งบอกได้ว่า บ้านแคววัวดำ กำลังจะต้องเผชิญปัญหาใหญ่ในการฟื้นฟูเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นหลังเหตุสึนามิที่เขาเคยเผชิญมาแล้ว และอาจจะแก้ไขได้ยากกว่าด้วยซ้ำ
“ผมลงไปหลังน้ำลดไปแล้วตั้งหลายวัน แต่สภาพที่นั่นไม่ต่างกับที่ผมเคยเห็นตอนเกิดสึนามิใหม่ๆ”
“แต่ถ้าเราไม่นิยามกันใหม่ว่าภัยพิบัติที่เราเห็นนี้มันเรียกว่าอะไร เราก็จะยังคงเรียกมันว่าน้ำท่วม และรัฐบาลก็จะใช้วิธีการฟื้นฟูแบบน้ำท่วม คือ แจกถุงยังชีพ หรือมีวิธีการจ่ายเงินเยียวยาหลังละไม่กี่พันบาทแบบเหตุน้ำท่วมทั่วไป และก็ถือว่าได้ทำหน้าที่ของรัฐบาลจบแล้ว ทั้งที่มันไม่ได้ช่วยให้เขาฟื้นฟูได้จริงเลย”
อดีตผู้ประสบภัยสึนามิ ซึ่งปัจจุบันลงพื้นที่เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเองในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ในฐานะผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านแคววัวดำ ชาว อ.แม่สาย หรือแม้แต่ชาวบ้านห้วยหินลาดใน ที่ อ.เวียงป่าเป้า ซึ่งต่างถูกคลื่นสึนามิโคลนลงมาถล่มเหมือนกัน ต่างต้องการมาตรการช่วยเหลือทั้งการฟื้นฟูและเยียวยาที่ต่างออกไปจากหลักเกณฑ์ช่วยเหลือจากเหตุน้ำท่วมที่รัฐบาลใช้อยู่
“ที่นี่ไม่ใช่เขตชุมชนเมือง วันที่ผมลงไปเห็นแค่อาสาสมัครจากภาคเอกชนไม่กี่กลุ่มที่ลงไปช่วย แต่ที่นี่เขาต้องการเครื่องจักรมาจัดการกับโคลน ต้องการรถแบ็คโฮขนาดเล็กมาจัดการกับโคลนที่แข็งตัว ต้องการกำลังคนมาช่วยขุดจำนวนมาก ต้องการเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อล้างบ้าน ซึ่งจะเห็นได้ว่า หากภาครัฐจะช่วยในการฟื้นฟูได้ ก็จะต้องไม่มองว่า นี่เป็นแค่เหตุน้ำท่วม เพราะแม้จะผ่านช่วงเวลาที่น้ำลดลงไปแล้ว แต่พื้นที่เช่นนี้ ยังไม่ใกล้เคียงกับคำว่า กลับคืนสู่สภาวะปกติแม้แต่น้อย”
ไมตรี เล่าด้วยว่าเขาเห็นชาวบ้านแคววัวดำต้องรวบรวมเงินกันเองเพื่อจ้างรถแบ็คโฮมาช่วยขุดโคลนวันละหมื่นกว่าบาท ... ทั้งที่เป็นเครื่องมือที่หน่วยงานรัฐอย่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็มี และอีกปัญหาที่เห็นได้ชัด คือ แทบไม่มีกำลังคนจากรัฐลงมาช่วย ยังไม่รวมว่าในสภาพเช่นนี้ รัฐควรจัดหาที่พักชั่วคราวที่ดีพอให้ชาวบ้านได้อยู่อาศัยในระหว่างการฟื้นฟูอันยากลำบากและยาวนานอีกด้วย
“ตอนที่เกิดสึนามิ เราได้รับคำนิยามภัยพิบัติครั้งนั้นว่ามันคือ สึนามิ ดังนั้นมันจึงถูกระดมสรรพกำลังทุกอย่างทั้ง กำลังคน เครื่องจักร งบประมาณ แต่เหตุที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของภาคเหนือคราวนี้ยังคงถูกเรียกว่า น้ำท่วม ดังนั้นขั้นตอนการฟื้นฟูที่เราเห็นมันจึงไม่มีอะไรที่เหมาะกับความเสียหายจริงๆเลย มันจึงเป็นการฟื้นฟูที่ดูแย่กว่าตอนที่เกิดสึนามิเสียอีก”
ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท เสนอเพิ่มเติมจากประสบการณ์การลงไปศึกษาในพื้นที่เกิดภัยพิบัติซ้ำซากหลายจุดทั่วประเทศ ซึ่งทำให้เขาพบว่า แต่ละพื้นที่ ก็มักจะมีรูปแบบของการเกิดภัยเป็นลักษณะเฉพาะตัว จึงต้องมีวิธีการเตรียมตัวรับมือที่ต่างกัน เช่น ลักษณะของชุมชน สภาพพื้นที่ เส้นทางการไหลของน้ำ ลักษณะของเรือหรือยานพาหนะที่เหมาะสมก็ยังมีความต่างกัน ดังนั้นเมื่อเกิดภัยขึ้นแล้ว ก็ควรมีรูปแบบการแก้ไขที่ต่างกันตามความจำเป็นของแต่ละจุดด้วย ซึ่งกลไกเช่นนี้ รัฐจะต้องเสริมศักยภาพให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ เป็นเป็นหน่วยที่รู้จักข้อมูลของชุมชนดีที่สุด
“ผมคิดว่าที่เชียงรายยังคงต้องตั้งศูนย์ติดตามช่วยเหลือต่อเนื่องระยะยาวครับ และต้องให้บทบาทกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามานำเสนอข้อมูลชุมชนให้ครบถ้วน ซึ่งนอกจากข้อมูลประชากรแล้ว ยังต้องทำแผนที่ชุมชน บ้านอยู่ตรงไหนบ้าง สาธารณูปโภคต่างๆที่ต้องรีบกู้คืนมาให้ได้ก่อนอยู่ตรงไหนบ้าง”
“มีตัวอย่าง ที่บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า เครือข่ายภาคประชาสังคมใช้วิธีนี้ในการสำรวจข้อมูลชุมชน จึงรู้ว่า ปัญหาใหญ่ๆที่ต้องเร่งแก้ก่อนเลย คือ ระบบประปาภูเขาเสียหาย ชาวบ้านไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ดังนั้นจึงรีบร้องขอให้ระดมนำท่อ PVC เข้ามาในพื้นที่เพื่อกู้ระบบประปาก่อน เมื่อเพียงพอแล้ว ก็ไปร้องขอรถแบ็คโฮขนาดเล็ก หรือร้องขอสิ่งที่จำเป็นจริงๆในสถานการณ์ชณะนั้น ซึ่งจะทำให้ชุมชนได้รับความช่วยเหลือตรงจุด ฟื้นฟูได้เร็วขึ้น หากรัฐใช้ระบบนี้ไปทำงาน ก็จะช่วยให้รัฐใช้ทรัพยากรและงบประมาณไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่การช่วยเหลือแบบเหมารวม แต่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประสบภัย”