xs
xsm
sm
md
lg

Taiwan Smart City Solutions Alliance จับมือเหล่าบริษัทไต้หวัน ขยายโอกาสทางธุรกิจด้านเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากความสำเร็จของงาน "เสวนาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะระหว่างไต้หวันและไทย" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างนิทรรศการเมืองอัจฉริยะ 2024 (Smart City Summit & Expo – SCSE 2024) เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ในครั้งนี้ กัวสุ่ยอี้ ประธาน Taiwan Smart City Solutions Alliance (TSSA) ได้นำคณะผู้แทนจาก Taiwan Intelligent Building Association (TIBA) และ Mt. Dadu Industrial Innovation Foundation พร้อมด้วยตัวแทนจากบริษัทชั้นนำของไต้หวัน 22 แห่ง รวมสมาชิกคณะทั้งสิ้น 42 ท่าน ร่วมต่อยอดความสำเร็จในการจัดตั้งกลุ่มความร่วมมือเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ โดยได้เดินทางเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 9-14 กันยายน 2567 เพื่อพบปะกับองค์กรสำคัญด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ตามวัตถุประสงค์ในการสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมด้านเมืองอัจฉริยะระหว่างไต้หวันและไทย




นิทรรศการเมืองอัจฉริยะ 2024 (SCSE) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาในปีนี้ มีคณะผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนของประเทศไทยเดินทางเข้าร่วมงานกว่า 400 คน โดยระหว่างการเสวนาฯ คุณณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (ไทเป) เผยว่า นโยบาย ‘ไทยแลนด์ 4.0’ และแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่รัฐบาลไทยได้ผลักดันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างน้อย 100 เมืองภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งไต้หวันถือเป็นพันธมิตรสำคัญของไทยในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รวมถึงนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการผลักดันนโยบายเมืองอัจฉริยะ และหวังที่จะร่วมมือกับทางไต้หวันมากยิ่งขึ้น ในด้านการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยี รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่เมืองที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

ดร. จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยว่า ประสบการณ์ของไต้หวันในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลนั้น สอดคล้องกับสามหัวข้อหลักที่ EEC ให้ความสำคัญ ได้แก่ การแพทย์อัจฉริยะ การขนส่งอัจฉริยะ และเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green) ซึ่งหวังว่าในนิทรรศการเมืองอัจฉริยะของปีหน้า จะมีโอกาสได้ร่วมแบ่งปันแผนงานและความคืบหน้าของ EEC ต่อไป

กัวสุ่ยอี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท Chunghwa Telecom กล่าวว่า เพื่อต่อยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวันและไทย ทางสมาคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะไต้หวัน จึงนำคณะตัวแทนเยือนกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก โดยได้จัดการประชุมความร่วมมือทางธุรกิจเมืองอัจฉริยะไทย (Thailand-Smart City Business Collaboration Forum) ขึ้น ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากทั้งสมาคมอุตสาหกรรมและบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในแวดวงจากทั้งไต้หวันและประเทศไทย โดยมีแขกผู้มีเกียรติจากฝั่งไทยเข้าร่วมงานเกือบ 150 คน เช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), นิคมอุตสาหกรรมอมตะ (AMATA), สมาคมไทยไอโอที (Thai IoT Association) และ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) เป็นต้น โดยการประชุมครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดิจิทัลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหารือเชิงลึกเกี่ยวกับเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ และอาคารอัจฉริยะที่เป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อเสริมสร้างโอกาสที่เป็นรูปธรรมในการร่วมมือระหว่างไต้หวันและไทยด้านเมืองอัจฉริยะ

กัวสุ่ยอี้ กล่าวเสริมอีกว่า หลังจากที่รัฐบาลไต้หวันประกาศนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound Policy) ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เพียงแต่จะกลายเป็นตลาดส่งออกใหม่ของไต้หวันเท่านั้น แต่จะกลายเป็นฐานการผลิตของเหล่ากลุ่มอุตสาหกรรมจากไต้หวันด้วยเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้การค้าและการแลกเปลี่ยนกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างสองฝ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะของไต้หวัน ทางบริษัทไต้หวันจึงต้องการหาวิธีบูรณาการระบบและถ่ายทอดประสบการณ์การใช้งานของเทคโนโลยีเหล่านี้ไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการนำคณะมาเยือนกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะหาโอกาสทางความร่วมมือในการถ่ายทอดประสบการณ์ทางธุรกิจด้านเมืองอัจฉริยะสู่ตลาดต่างประเทศเช่นกัน

เฉิน โส่วอวี้ เลขาธิการ Taiwan Smart City Solutions Alliance กล่าวว่า เนื่องจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจประเทศไทย ทำให้มีการเปิดตัวโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมและสมาร์ทปาร์คต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสร้างโอกาสให้บริษัทไต้หวันในการสาธิตโซลูชั่นอัจฉริยะที่หลากหลาย เช่น การผลิตอัจฉริยะ อาคารอัจฉริยะ การขนส่งอัจฉริยะ การแพทย์อัจฉริยะ และบ้านอัจฉริยะ เป็นต้น นอกจากนี้ ทางบริษัทไต้หวันยังได้จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับบริษัทไทยแบบตัวต่อตัวถึง 24 ครั้ง เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยี การลงทุนและการร่วมพัฒนาโครงการต่าง ๆ ร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า บริษัทจากทั้งสองประเทศสามารถร่วมมือกันเพื่อผลักดันนวัตกรรมและการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านโครงสร้างพื้นฐานเมืองอัจฉริยะ ระบบการผลิตอัจฉริยะ และแพลตฟอร์มการจัดการดิจิทัล ฯลฯ




นอกจากการประชุมแล้ว สมาคมคอมพิวเตอร์ไทเป (TCA) ยังได้นำสมาชิกเข้าเยี่ยมชมเขตอุตสาหกรรมและโครงการต่าง ๆ อาทิ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.), SynHub Digi-Tech Community, โครงการ Thailand Digital Valley และ โครงการ Amata Taipei Smart City พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโซลูชั่นที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น พร้อมด้วยคณะจาก Mt. Dadu Industrial Innovation Foundation ที่ได้เชิญบริษัทไต้หวันที่มีความสนใจในด้านเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะเข้าร่วมการเยี่ยมชมในครั้งนี้ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความเข้าใจต่อความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะของประเทศไทยแล้ว การเยี่ยมชมครั้งนี้ยังช่วยผลักดันความคืบหน้าในการร่วมมือกับ Taipei Smart City นอกจากนี้ ทางฝ่ายไทยยังได้แนะนำข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการลดหย่อนภาษี การส่งเสริมการลงทุน รวมถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกต่อความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้ เวินซิ่วหลิง ประธานผู้ก่อตั้งสมาคมอาคารสีเขียวอัจฉริยะเอเชีย-แปซิฟิก (APIGBA) ได้นำสมาชิกจากสมาคมอาคารอัจฉริยะไต้หวัน พร้อมด้วยสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) เข้าสังเกตการณ์ตัวอย่างโครงการอาคารสีเขียว (Green Building) และชุมชนอัจฉริยะที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ ได้แก่ โครงการเมืองสีเขียวอัจฉริยะ The Forestias, ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC), CDC และอาคารสีเขียวอัจฉริยะอื่น เพื่อให้สมาชิกมีความเข้าใจเกี่ยวกับการออกแบบและการพัฒนาอาคารอัจฉริยะในประเทศไทยที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น รวมถึงมีการหารือเชิงลึก และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสในการร่วมมือในอนาคตทางด้านนี้ระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่ง เวินซิ่วหลิง คาดหวังว่าจะมีการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอัจฉริยะที่ยอดเยี่ยมของไต้หวันเพื่อให้ประเทศสมาชิก APIGBA จำนวนมากขึ้นได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิคสำหรับการก่อสร้างอาคารสีเขียวอัจฉริยะหรือการก่อสร้างในเขตเมือง โดยทางสมาคมฯ ได้บรรลุเป้าหมายในการวางรากฐานและขยายความร่วมมือในระดับภูมิภาคจากการเยี่ยมชมในครั้งนี้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาคารอัจฉริยะของไต้หวันสามารถขยายตัวเข้าสู่ภูมิภาค และก้าวสู่ระดับมาตรฐานสากล

นิทรรศการเมืองอัจฉริยะ 2025 และงาน Net Zero City Expo จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-22 มีนาคม ที่ไต้หวัน โดยจะยกระดับงานให้ยิ่งใหญ่ขึ้น และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานจากต่างประเทศมากขึ้นจากครั้งก่อน นิทรรศการจะมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลควบคู่กับสิ่งแวดล้อมแบบคู่ขนานโดยใช้ AI และ 5G เป็นศูนย์กลาง ความหลากหลายในการประยุกต์ใช้ AIoT การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างยั่งยืน รวมถึงเทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) ในหลากหลายอุตสาหกรรม

ผู้ที่สนใจสามารถชมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานได้ที่เว็บไซต์ทางการ https://en.smartcity.org.tw/index.php/en-us/

p
กำลังโหลดความคิดเห็น