ททท. และพันธมิตร จัดสัมมนาเข้มภาคธุรกิจไทยรับมือระเบียบโลกใหม่ EU ขีดเส้น “การท่องเที่ยวยั่งยืน” ต้องเคร่งครัดตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก
เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรม อวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับนานาชาติ ได้จัดสัมมนา Action Alert ! Accelerating Towards Sustainable Tourism in Thailand เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ปรับตัวเพื่อเตรียมรับมือกับข้อบังคับใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปที่จะมีผลบังคับใช้ภายใน 2 ปีข้างหน้า โดยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กว่า 1,000 รายเข้าร่วมสัมมนา
นายธีระศิลป์ เทเพนทร์ รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ภายใต้ข้อกำหนดใหม่ EU ต้องทำงานกับคู่ค้าที่มีมาตรการด้านการจัดการความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือ ประเด็นนี้มีความสำคัญมากหากผู้ประกอบการไทยยังไม่มีแนวทางการจัดการด้านความยั่งยืน อาจเป็นอุปสรรคในการเป็นคู่ค้ากับบริษัทท่องเที่ยวจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา และลดโอกาสในการเข้าถึงตลาดที่มีขนาดใหญ่และกำลังซื้อสูง ทั้งนี้ ข้อบังคับใหม่ของสหภาพยุโรป คือ Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) ซึ่งเป็นข้อบังคับใหม่ว่าด้วยการรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และ Corporate Sustainability Due Diligence Directive (CSDDD) ข้อบังคับว่าด้วยการสอบทานด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องเริ่มเข้าสู่กระบวนการทั้งหมดนี้ ภายในปี 2026 และรายงานการดำเนินการในปี 2027 ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความเข้าใจ และมีความพร้อมต่อกฎเกณฑ์ใหม่ที่เคร่งครัด และท้าทายมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา ททท. ยังให้ทัศนะว่า แรงกดดันจะไม่ใช่เพียงด้านการค้ากับประชาคมโลกเท่านั้น หากภาคธุรกิจไทยยังต้องรับมือกับความต้องการของนักเดินทางทั่วโลกที่จะให้ความสำคัญมากขึ้นในการเลือกผู้ประกอบการที่มีแนวทางการจัดการที่ยั่งยืน
การบรรยายในช่วงแรก ในหัวข้อ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั่วโลกและการเปลี่ยนแปลงในกฎระเบียบ ความอยู่รอดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย” โดย ผศ.ดร.จุฑามาศ วิศาลสิงห์ ผู้ก่อตั้ง Roaming Elephants แพลตฟอร์มเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืน เน้นย้ำว่า การปรับตัวครั้งนี้ ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการสำหรับความอยู่รอดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว “ภูมิทัศน์กฎระเบียบทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปฏิบัติตามมาตรฐานความยั่งยืนที่เกิดขึ้นควรมองว่าเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าและดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และความร่วมมือระหว่างธุรกิจกับหน่วยงานกำกับดูแลมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปรับตัวอย่างราบรื่น” ผู้ก่อตั้ง Roaming Elephants ให้มุมมอง
การเสวนาในหัวข้อ “กระบวนการและหลักเกณฑ์การรับรอง: ทำอย่างไร?” โดยวิทยากร 3 ท่าน คือ ปีเตอร์ ริชาร์ดส์ แห่ง SWITCH-ASIA TOURLINK Project, ECEAT, น.ส.ปิ่นปินัทธ์ ไชยเดช จาก Earth Check และ ผศ.ดร.แก้วตา ม่วงเกษม จาก Green Destinations
โดย ปีเตอร์ ริชาร์ดส์ แห่ง SWITCH-ASIA TOURLINK Project ได้อธิบายถึงขั้นตอนการขอการรับรองมาตรฐานความยั่งยืนสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งมีรูปแบบการให้การรับรองที่แตกต่างกัน ตลอดจนเกณฑ์พิจารณาต่าง ๆ ขณะเดียวกันได้แนะนำแนวทางทางที่เหมาะสมในการก้าวสู่ธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน และมีความน่าเชื่อถือ โดยผู้ประกอบการต้องดำเนินการตามขั้นตอนไปตามลำดับ ซึ่งเมื่อผ่านการรับรองแล้ว มีโอกาสสามารถเข้าถึงตลาดท่องเที่ยวระหว่างประเทศ
ด้าน น.ส.ปิ่นปินัทธ์ ตัวแทนจาก Earth Check กล่าวว่า ความน่าเชื่อถือจากการใช้ข้อมูลที่ชัดเจนเป็นเรื่องสำคัญ ในการแสดงถึงความโปร่งใสขององค์กรภายใต้นโยบายด้านความยั่งยืน “นักท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมจะเรียกร้องความโปร่งใสจากองค์กรอย่างต่อเนื่อง ทำให้องค์กรจำเป็นต้องปรับไปสู่การใช้แนวทางความยั่งยืนที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเป็นสำคัญ การเลือกโปรแกรมการรับรองที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ และต้องมั่นใจว่าโปรแกรมนั้นมีระบบการจัดการข้อมูลความยั่งยืนที่เข้มงวดและโปร่งใส เพื่อให้สามารถติดตามผล รายงาน และพัฒนาความยั่งยืนได้อย่างต่อเนื่อง”
ด้าน ผศ.ดร.แก้วตา ม่วงเกษม ตัวแทนจาก Green Destinations กล่าวว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่ต้องมีความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ความเข้าใจในชุมชนและท้องถิ่น มีความเคารพในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในการเชื่อมโยงความสำคัญและความสัมพันธ์ต่าง ๆ เหล่านี้ในการดำเนินธุรกิจ โดยใช้หลักความยั่งยืนเป็นกรอบในการดำเนินงานเพื่อจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน และก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกให้กับสังคม
คุณอนุพงษ์ เกรียงไกรลิปิกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสิร์ชเอ็นจินอ็อปทิไมเซชั่น จำกัด และผู้ก่อตั้ง Gother.com ในฐานะผู้ร่วมจัดงานกล่าวว่า นักท่องเที่ยวในยุคปัจจุบันมองว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความยั่งยืนจึงมีข้อได้เปรียบทางการตลาดที่เหนือกว่าคู่แข่ง
สำหรับงาน Action Alert ! นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกโดยสมัครใจ แต่เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ธุรกิจท่องเที่ยวไทยต้องเตรียมรับมือ และปรับตัว เพื่อสร้างระบบนิเวศใหม่ (New Ecosystem) ด้วยสินค้าและบริการที่ได้รับการรับรองจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ (Sustainable Certified Operators) อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้านานาชาติ ขณะเดียวกันก็เพิ่มศักยภาพของเราในการแข่งขันในตลาดสากล