xs
xsm
sm
md
lg

“ตำลึง” ผักตาใสใบสวย รักษาเบาหวาน ต้านมะเร็ง ช่วยย่อยอาหาร...ทำให้รั้วบ้านไม่เหมือนรั้วคุกได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ตำลึงมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Ivy gourd มีใบคล้ายใบของเถาไอวี่ ซึ่งเป็นไม้ประดับใบสวย และยังเป็นผักฤทธิ์เย็น แก้ร้อนใน มีวิตามินเอสูง ใครที่เคยเชื่อว่าถ้าตามืดตามัว สายตาไม่ดี ให้ไปหาผักบุ้งกิน เพราะผักบุ้งมีเบต้า-แคโรทีนที่สามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตานั้น โปรดทราบเสียด้วยว่า ตำลึงมีเบต้า-แคโรทีนมากกว่าผักบุ้งเสียอีก และมากว่าเยอะด้วย ใน ๑๐๐ กรัม ผักบุ้งยอดแดงมี ๙๙.๐๐ ไมโครกรัม ผักบุ้งขาวหรือผักบุ้งไทยมี ๒๐๓.๗๐๔ ไมโครกรัม ผักบุ้งจีนมี ๔๒๐.๓๒ ไมโครกรัม แต่ตำลึงมีถึง ๖๙๙.๘๘ ไมโครกรัม

ศูนย์สารนิเทศทางอาหาร มูลนิธิสุขภาพไทย ให้ข้อมูลคุณประโยชน์ของตำลึงว่า
 
๑. บำรุงสายตา ตำลึงเป็นแหล่งของวิตามินเอ และเบต้าแคโรทีน ซึ่งเบต้าแคโรทีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นวิตามินเอได้ ทำให้ตำลึงเป็นหนึ่งในสุดยอดของอาหารบำรุงสายตา ที่หาทานง่าย และมีรสชาติอร่อย

๒. เสริมภูมิต้านทาน เนื่องจากตำลึงมีวิตามินเอ และเบต้าแคโรทียสูง จึงสามารถช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ดี ทำให้ไม่เจ็บป่วย หรือเป็นไข้หวัดได้ง่าย

๓. ตำลึงรักษาเบาหวาน จากงานวิจัยของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ตำลึงเป็นผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างฟลาโวนอยด์ค่อนข้างสูง สามารถช่วยรักษาและป้องกันโรคต่างๆได้ ทั้งโรคเบาหวาน เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่าตำลึงช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ ส่วนในใบตำลึงก็มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่หลายชนิด จึงช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้

๔. บำรุงกระดูก จากการศึกษาของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลอีกเช่นกัน พบว่าใบตำลึงมีแคลเซียมสูง และแคลเซียมจากตำลึงยังเป็นแคลเซียมชนิดที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้เทียบเท่ากับแคลเซียมที่อยู่ในนมวัว เพราะฉะนั้นผู้ที่แพ้นมวัว หรือดื่มนมแล้วท้องเสีย สามารถรับแคลเซียมจากตำลึงแทนได้เลย

๕. แก้อาการแสบคันจากแมลงสัตว์กัดต่อย ใบตำลึงมีฤทธิ์เย็น ช่วยดับพิษร้อนจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้ในระดับหนึ่ง โดยล้างแผลให้สะอาดแล้วใช้ใบตำลึงไม่แก่จัดหรืออ่อนจนเกินไป ขยี้แล้วมาประคบผิวบริเวณที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อยสักพัก อาการแสบคันจะบรรเทาขึ้น หากอาการแสบร้อนยังไม่หายให้เปลี่ยนใบตำลึงบ่อยๆ แต่หากอาการแสบร้อนหาย แล้วอาการคันไม่หาย แนะนำให้ใช้ยาทาแก้คันแผนปัจจุบันร่วมด้วย

๖. ช่วยย่อยอาหาร ใบตำลึงและเถาตำลึงมีเอนไซม์อะไมเลสอยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหารจำพวกแป้งได้ดี หากเกิดอาการแน่นท้อง ท้องอืดจากอาหารไม่ย่อย ให้ใช้ใบตำลึงประมาณ ๑ กำมือ ผสมกับเถาตำลึงเด็ดขนาดเท่านิ้วก้อย ๑ กำมือ โขลกรวมกันจนเป็นเนื้อเดียว จากนั้นคั้นเอาแต่น้ำตำลึงมาผสมน้ำอุ่น ๑ แก้วกาแฟ ดื่มก่อนอาหารประมาณ ๕-๑๐ นาที เพื่อเรียกน้ำย่อย หรือจะใช้ใบตำลึงแก่ลวกพอสุก กินเป็นผักเคียงพร้อมกับอาหารในแต่ละมื้อก็ได้

นี่คือคุณค่าของผักข้างรั้วราคาถูก ทั้งยังปลูกง่าย

สมัยผู้เขียนอยู่กรุงเทพฯ ที่หมู่บ้านเสรี ถนนรามคำแหง รั้วบ้านที่กั้นอาณาเขตกับเพื่อนบ้าน ก่อด้วยอิฐบล็อกเหมือนรั้วบ้านทั่วๆไป สูงประมาณศีรษะ ยามปล่อยอารมณ์ทอดสายตาไปเห็นกำแพงคอนกรีต ก็ทำให้เสียความรู้สึก เหมือนอยู่ในกำแพงล้อม จึงอยากจะเปลี่ยนแปลงบรรยากาศเสียใหม่ให้ได้ความรู้สึกที่ดีขึ้น เผอิญมีไม้หน้าสามเหลืออยู่จึงเอามาปักเป็นหลักให้ชิดรั้ว ระยะห่างกันหลักละ ๒.๕ เมตร แล้วตอกตะปูที่หลักจากใกล้พื้นจนถึงบนสุด ห่างกันจุดละ ๓๐ ซม. ใช้ลวดขึงเป็นชั้นๆไปตลอดแนว พรวนดินกว้างประมาณ ๕๐ ซม. ผสมด้วยปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกแล้วรดน้ำจนชุ่ม จากนั้นก็ตระเวนไปถกเถาตำลึงมาจากที่รกร้าง สับเถาแก่ที่เป็นสีน้ำตาลออกเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ ๑ คืบ ให้มีตาอย่างน้อย ๒ ตา เอาปักลงดิน ๑ ตา ห่างกัน ๑ เมตร กดดินให้แน่น หาเศษฟางเศษหญ้ามาคลุมโคนช่วยรักษาความชื้น รดน้ำให้ชุ่ม ไม่กี่วันตำลึงก็จะแตกใบอ่อนออกมาจากตาบน เลื้อยเป็นเถาไต่ไปจนบดบังอิฐบล็อกมิด มองไปก็สบายตา ไม่สะดุดด้วยคอนกรีตเหมือนติดคุกอย่างแต่ก่อน

ต่อมาตำลึงก็ออกดอกสีขาว แต้มสีและแต้มศิลป์ให้รั้วบ้านดูสบายตาขึ้นมาอีก จากดอกก็เป็นลูก พอลูกตำลึงสุกสีแดงก็มีนกกระจิบนกปรอทมากิน รั้วคอนกรีตที่เคยขัดลูกตาก็มีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที ผู้เขียนชะเง้อคอไปบอกเพื่อนบ้านที่รั้วกั้นว่า ถ้าตำลึงที่ผู้เขียนปลูกเลื้อยเข้าไปคลุมบ้านเขาจนมิด ผู้เขียนก็ไม่ขอรับผิดชอบ ทางที่ดีเขาควรจะช่วยเด็ดยอดตำลึงที่บุกรุกข้ามรั้วไปลงหม้อเสียบ้าง

จากนั้นทั้ง ๒ บ้านก็มีความสุขสนุกสนานในการเด็ดยอดตำลึงไปลงหม้อหมูสับ จนลูกๆของทั้ง ๒ บ้านที่ไม่ค่อยชอบทานผักเหมือนกัน กลับติดใจแกงจืดตำลึงหมูสับไปตามกัน

ตำลึงเป็นผักที่ปลูกง่ายๆให้ผลทันใจ ถ้าให้น้ำให้ปุ๋ยเป็นระยะ ก็จะมียอดอวบให้เก็บได้ตลอดปี ถ้าไม่ปลูกไต่รั้ว ก็อาจทำร้านให้สูง ๑ เมตร กว้าง ๑.๒ เมตร ยาวตามพื้นที่กำหนด หากิ่งไม้เล็กๆวางพาด หรือขึงเชือก หรือวางตะแกรงลวดพาดด้านบนให้ตำลึงเลื้อย แค่นี้ก็จะมีตำลึงให้เด็ดได้ทุกสัปดาห์

ตำลึงเป็นผักกินใบ จึงต้องให้ปุ๋ยไนโตรเจนมากหน่อย ฉะนั้นนอกจากจะใส่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกให้แล้ว ถ้าไม่รังเกียจปุ๋ยเคมีก็ควรจะผสมปุ๋ยยูเรียลงไปด้วย ในอัตราปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก ๓ กอบมือต่อต้น ผสมปุ๋ยยูเรีย ๑ ช้อนชาลงไป ให้ทุก ๑๐-๑๕ วัน สลับกับการให้ปุ๋ยสูตรเสมอ ๑๕-๑๕-๑๕ หรือ ๑๖-๑๖-๑๖ ครั้งละ ๑ ช้อนโต๊ะ โรยให้รอบโคนต้นห่างๆ และรดน้ำให้ชุ่มทุกครั้งที่ให้ปุ๋ย แค่นี้ก็จะมีตำลึงให้เก็บกินไม่หวาดไม่ไหว

การปลูกตำลึง นอกจากจะใช้เถาปักชำแล้ว อาจหาต้นเล็กๆที่ขึ้นอยู่ทั่วไปในหน้าฝนขุดเอามาปลูก หรือใช้เมล็ดจากผลสุกโรยในหลุมปลูก แล้วถอนต้นที่ไม่ต้องการออก ให้เหลือหลุมละต้นก็พอ

ตำลึงปลูกไปนานหน่อยต้นก็จะดูโทรม มีใบแห้งกิ่งแห้งติดห้อย จึงควรตัดแต่งให้บ้าง โดยเฉพะตอนต้นฝนราวเดือนพฤษภาคม ควรตัดแต่งใหญ่ ตัดกิ่งแขนงเล็กๆออก เหลือแต่กิ่งใหญ่ไว้ ตำลึงก็จะแตกเนื้อสาวใหม่ดูสดใส และมีชีวิตยืนยาวให้เด็ดยอดไปได้หลายปี

ถ้ากินยอดตำลึงบ่อยๆ นอกจากจะทำให้สายตาดี มีประกายวาวใสปิ๊ง และรักษาเบาหวาน ต้านมะเร็งได้แล้ว ส่วนหัวในดินที่ไม่เป็นที่นิยม ไม่อยู่ในความสนใจ ก็มีคุณค่าทางอาหารเช่นเดียวกัน จะลองขุดเอาหัวตำลึงมาผัด มาต้ม มาทำสลัดดูบ้างก็ได้ เขาว่ามีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับแครอทนั่นเชียว


กำลังโหลดความคิดเห็น