xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมรำลึก 30 ปี การจากไปของ “ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2567 เป็นวาระครบรอบ 30 ปีแห่งการจากไปของ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ บุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะการยกระดับมหาวิทยาลัยเอกชนให้มีบทบาททัดเทียมมหาวิทยาลัยของรัฐในการทำหน้าที่ “สร้างคน” เพื่อ “สร้างชาติ”

ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2460 เป็นชาวอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นครู จากนั้นรับราชการที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และทำหน้าที่ผู้แทนฝ่ายไทยในการประสานงานกับกองทัพพันธมิตร ต่อมาได้เป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงดำรงตำแหน่งเลขานุการนายกรัฐมนตรี (พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น.) แต่ด้วยปัญหาการเมือง ท่านจึงต้องลี้ภัยไปสิงคโปร์และทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศนานถึง 9 ปี ก่อนกลับมาไทยและหันมาทำงานด้านการศึกษาตามเจตนารมณ์ที่ต้องการยกระดับการศึกษาด้านธุรกิจของไทย

เมื่อกลับมาประเทศไทยแล้ว ท่านได้เข้าร่วมเป็นกรรมการสมาคมหอการค้าไทยและเป็นประธานคณะอนุกรรมการวิทยาลัยการค้า (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย) ในปี พ.ศ. 2504 ท่านได้ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานสูงขึ้น ถัดมาในปี พ.ศ. 2509 ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ และนายสนั่น เกตุทัต (อดีตปลัดและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง) ได้ร่วมกันก่อตั้งสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจของตนเองชื่อว่า “โรงเรียนธุรกิจบัณฑิตย์” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันธุรกิจบัณฑิตย์” เปิดสอนในระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 รัฐบาลออกพระราชบัญญัติให้เอกชนจัดตั้งวิทยาลัยได้ ทำให้สถาบันธุรกิจบัณฑิตย์เปลี่ยนสถานภาพเป็น “วิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” ในปี พ.ศ. 2513 และร่วมกับวิทยาลัยเอกชนอื่นๆ ก่อตั้ง “ชมรมผู้บริหารวิทยาลัยเอกชน” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น “สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย” โดย ดร.ไสวเป็นผู้นำสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาวิทยาลัยเอกชน


การดำเนินงานของวิทยาลัยเอกชนในระยะแรกๆ ต้องประสบปัญหาหลายประการ เนื่องจากรัฐบาลเพิ่งจะยอมรับเอกชนให้เข้ามามีบทบาทในด้านการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยมีสภาการศึกษาแห่งชาติและกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลการจัดตั้งและการดำเนินงานอย่างเข้มงวดกวดขันเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ ในฐานะประธานชมรมวิทยาลัยเอกชน จึงได้พยายามยกสถานะวิทยาลัยเอกชนให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีศักดิ์ศรีเทียบเท่ามหาวิทยาลัยของรัฐ

เพราะจากประสบการณ์ของท่านเมื่อครั้งที่อยู่ต่างประเทศ ได้เห็นว่ารัฐบาลของต่างประเทศยอมรับและส่งเสริมเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมจัดการการศึกษาด้วย ดังนั้นในปี พ.ศ. 2516 ท่านจึงนำสมาชิกวิทยาลัยเอกชนเข้าพบนายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี และนายสุกิจ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐในการจัดการศึกษา ทำให้รัฐบาลเห็นชอบให้วิทยาลัยเอกชนโอนสังกัดไปอยู่ภายใต้การดูแลของทบวงมหาวิทยาลัย นับเป็นความสำเร็จจากการต่อสู้ของ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ ในฐานะประธานชมรมวิทยาลัยเอกชนที่พยายามยกสถานะเพื่อให้วิทยาลัยเอกชนมีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

พ.ศ. 2522 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เปิดโอกาสให้เอกชนขยายขอบเขตการดำเนินกิจการได้กว้างขวางมากขึ้น และแบ่งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็น 3 ประเภท คือ มหาวิทยาลัย สถาบัน และวิทยาลัย โดยให้มหาวิทยาลัยและสถาบันสามารถเปิดสอนได้ทุกระดับ ตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ส่วนวิทยาลัยจะเปิดสอนได้ในระดับชั้นปริญญาที่ไม่สูงกว่าปริญญาโท

อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติฉบับใหม่ก็มีเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ยังควบคุมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเอกชนอยู่อีกมาก ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ จึงมอบหมายให้ นายประเสริฐ ประภาสะโนบล ผู้บริหารอีกคนหนึ่งของวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เข้าพบรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2525 เพื่อขอให้พิจารณาออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดลักษณะการเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่แน่ชัด การชี้แจงกับรัฐมนตรีในครั้งนั้นประสบผลสำเร็จ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ จึงได้มีหนังสือชี้แจงศักยภาพและความพร้อมของวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และขอเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัย โดยในครั้งนั้น (พ.ศ. 2527) มีวิทยาลัยเอกชนได้รับอนุญาตจากทบวงมหาวิทยาลัยให้มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัย 4 แห่งพร้อมกัน จึงนับได้ว่ามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็น 1 ใน 4 มหาวิทยาลัยเอกชนรุ่นบุกเบิกของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่สะท้อนถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ ในการสร้างชาติ สร้างคน ด้วยการศึกษาอย่างแท้จริง




กำลังโหลดความคิดเห็น