xs
xsm
sm
md
lg

“แค” ผักเป็นยา ต้านไข้หัวลม ต้านความชรา ยับยั้งมะเร็ง ลดน้ำตาลในเลือด ...ไม่ควรขาดแคในฤดูนี้!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



แค ผักพื้นบ้านที่อยู่คู่ครัวไทยมานาน ถือกันว่าเป็นผักที่ใช้เป็นยา รักษาและป้องกันโรคได้หลายชนิด คุณสมบัติที่ขี้นชื่อของแคคือ ป้องกันโรคไข้หัวลมในฤดูที่อากาศเปลี่ยนแปลงจากฤดูหนึ่งไปสู่อีกฤดูหนึ่ง หรืออย่างที่ฝนชุกในขณะนี้ และลมหนาวกำลังจะมาในไม่ช้า ถ้ารู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะเป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัว มีน้ำมูก น้ำตาไหล เป็นอาการที่เรียกกันว่าไข้หัวลม อันเกิดจากธาตุในร่างกายเสียสมดุล แพทย์แผนไทยบอกว่าไม่ต้องไปหายาที่ไหน แกงส้มดอกแคที่มีรสร้อนแรงจัดจ้าน ตอบโจทย์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งแคฤดูนี้ทั้งยอดทั้งดอกยังออกสะพรั่ง ฉะนั้นในเมนูอาหารช่วงนี้จึงไม่ควรที่จะขาดแค

แต่แคไม่ได้มีคุณสมบัติแค่รักษาและป้องกันไข้หัวลมเท่านั้น จากการศึกษาวิจัยยังพบว่า ทั้งดอกแคและยอดอ่อนอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด หากรับประทานดอกแค ๑๐๐ ก. จะได้ใยอาหารที่ช่วยในการขับถ่ายถึง ๗.๒ กรัม โปรตีน ๒.๐ กรัม ฟอสฟอรัส ๕๗ มก. เบตาแคโรทีน ๗๗ มก. วิตามินซี ๓๕ มก. และพบไขมันเพียงเล็กน้อย ส่วนยอดอ่อนของแค ๑๐๐ ก. มีใยอาหาร ๕.๑ ก. โปรตีนมากถึง ๘.๓ ก. และอุดมด้วยแคลเซียมสูงถึง ๓๙๕ มก. และวิตามินซี ๘๔ มก. นอกจากนี้ทั้งยอดอ่อนและดอกแค ยังมีธาตุเหล็ก วิตามินบี ๑ บี ๒ และบี ๓ ด้วย

คุณสมบัติของแคจึงช่วยชะลอความชรา ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ลดน้ำตาลในเลือด เป็นการป้องกันโรคเบาหวาน ช่วยบำรุงสายตาทำให้เห็นได้ในที่มืด ช่วยในเรื่องความจำให้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงจากโรคซึมเศร้า นอนไม่หลับ ช่วยในการย่อยอาหาร ทำให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ และเป็นยาระบายอ่อนๆ ฯลฯ

แคผักบ้านๆ มีคุณค่ามากมายขนาดนี้ ถ้ามีที่ว่างให้แคอาศัยยืนสักต้นสองต้น หรือจะปลูกลงกระถางก็ได้ แคก็จะตอบแทนการดูแลได้อย่างดีในด้านตุณค่าทางอาหารและยา
 
แคเป็นพืชตระกูลถั่ว สกุลเดียวกับโสน เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ ๓-๖ เมตร ขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีเพาะเมล็ดเท่านั้น ถ้าไม่อยากเสียเวลาเพาะเมล็ด ตามร้านขายต้นไม้ข้างทาง โดยเฉพาะร้านประเภทขายต้นไม้สวนครัว ก็มีต้นแคใส่ถุงขาย เอามาลงดินไม่นานก็ได้กินยอดกินดอก แคเป็นพืชที่โตเร็ว อายุประมาณ ๒ เดือนก็มีดอกให้เก็บได้แล้ว และจะยืนต้นได้ยาวนานราว ๒๐ ปี แคมีทั้งชนิดดอกขาวและดอกแดง ซึ่งก็มีค่าเหมือนๆกัน บางคนบอกว่าดอกแคแดงมีรสหวานกว่าดอกแคขาว บางคนก็ว่าดอกแคแดงทำให้น้ำแกงมีสีขุ่นไม่น่ารับประทาน แต่คุณค่าทางอาหารจะอยู่ที่ยอดแคมากกว่าดอก
 
การนำดอกแคมาเป็นอาหารนั้น จะต้องเด็ดเกสรที่มีปลายสีเหลืองภายในดอกออกก่อน เพราะมีรสขม แต่ก็ไม่มีพิษภัยใดๆ บางคนถือว่า หวานเป็นลม ขมเป็นยา จึงไม่เด็ดออก

ส่วนดอกแคที่ปล่อยให้แก่คาต้นจนติดเป็นฝัก ฝักอ่อนๆของแคนี้ก็สามารถนำมาทำเป็นอาหารแทนถั่วฝักยาวได้ทั้งแกงและผัด
ต้นแคมีทั้งแคเตี้ยและแคสูงที่เก็บไม่ถึง นี่ไม่ใช่เนื่องมาจากพันธุ์ แต่อยู่ที่วิธีปลูก เมื่อแคโตมาได้ระดับหนึ่งประมาณ ๑ เมตร ก็ตัดยอดออก แคจะแตกกิ่งเป็นพุ่มเตี้ย ทำให้เก็บยอดและดอกได้ง่าย แม้แต่แคต้นสูงแล้วก็สามารถทำให้เป็นแคเตี้ยได้ โดยตัดลำต้นให้เหลือโคนแค่ประมาณ ๑ เมตร หรือตามต้องการ จากนั้นก็ใส่ปุ๋ยรดน้ำ แคก็จะแตกพุ่มเป็นแคเตี้ยให้เก็บได้สะดวก
คนสมัยก่อนมีคำห้ามไว้ว่า ไม่ควรปลูกต้นแคไว้ในบ้าน ทั้งนี้ก็เพราะผิวเปลือกของต้นแคที่มีร่องขรุขระนั้น เป็นที่สะสมของหนอน แมลง และเชื้อรา อันอาจจะแพร่ไปถึงต้นไม้อื่นๆโดยรอบ ที่สำคัญคือแคเป็นไม้เนื้ออ่อน หักง่าย เด็กสมัยก่อนไม่มีของเล่นมาก การปีนป่ายต้นไม้ก็เป็นเรื่องสนุกอย่างหนึ่ง ถ้าไปปีนต้นแค ก็อาจจะตกลงมาขาแขนหักได้ง่ายๆ แต่สมัยนี้ไม่ต้องกลัวเรื่องนี้แล้ว เพราะเด็กหมกมุ่นอยู่กับมือถือ มากกว่าจะไปปีนต้นไม้ให้เจ็บตัว

ตอนนี้ฝนพรำฉ่ำไปทั่ว และอีกไม่นานลมหนาวก็จะมาเยือน นอกจากยอดแคลวกจิ้มน้ำพริกแล้ว แกงส้มดอกแคก็รับไข้หัวลมได้เป็นอย่างดี ฉะนั้นอย่าขาดเมนูแคเป็นอันขาด


กำลังโหลดความคิดเห็น