xs
xsm
sm
md
lg

อ.เจษฎ์ฯ ชี้ดีเอ็นเอ "ปลาหมอคางดำ" ระบาดในไทย ต้นกำเนิดจากกาน่า-โกตดิวัวร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาจารย์จุฬาฯ-นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ดัง เผยผลดีเอ็นเอ "ปลาหมอคางดำ" ที่ระบาดในไทย มีต้นกำเนิดมาจากแถบประเทศกาน่า-โกตดิวัวร์ ไม่ฟันธงกาน่าประเทศเดียว และไม่ฟันธงมาจากบริษัทดัง ชี้อาจมีบริษัทอื่นลักลอบนำเข้า แต่ไม่แจ้งขออนุญาต

วันนี้ (13 ก.ย.) เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความระบุว่า "ผลดีเอ็นเอ ยืนยัน "ปลาหมอคางดำ ที่ระบาดในไทย" มีต้นกำเนิดมาจากแถบประเทศ กาน่า-โกตดิวัวร์ ครับ

มีความคืบหน้าล่าสุด เกี่ยวกับ ผลการตรวจ DNA เพื่อหาต้นตอของปลาหมอคางดำ ที่ระบาดในประเทศไทย มาเล่าให้ฟังกันครับ

#โดยสรุป : ลำดับพันธุกรรมจาก DNA ขอตัวอย่างปลาหมอคางดำที่ระบาดในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับปลาหมอคางดำที่พบในประเทศต่างๆ ของทวีปแอฟริกา มีความใกล้เคียงกับที่พบในประเทศกาน่า และประเทศโกตดิวัวร์ (ไอเวอรี่โคสต์) ครับ

1. เรื่องนี้ เริ่มจากตอนที่ผมได้ไปเป็นที่ปรึกษา ของคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ปัญหา รวมถึงผลกระทบ จากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ของรัฐสภา จะได้เข้าร่วมประชุม ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมีท่านอธิบดีกรมประมงและคณะ มาชี้แจง

- โดยประเด็นในวันนั้นคือ ความพยายามที่จะถามหาถึง DNA ของตัวอย่างลูกปลาหมอ (สี) คางดำที่บริษัทเอกชนรายหนึ่งนำเข้ามาในอดีต จากประเทศกาน่า เพื่อที่จะนำไปเปรียบเทียบกับ DNA จากปลาหมอคางดำที่พบอยู่ในแหล่งน้ำปัจจุบัน ว่ามีลำดับพันธุกรรมตรงกันหรือไม่

- ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็ไม่สามารถหาตัวอย่างของลูกปลาหมอคางดำของบริษัทดังกล่าว มาเปรียบเทียบได้ เนื่องจากถูกฝังกลบทำลายไปหมดแล้ว หลังจากอ้างว่าลูกปลาได้ตายไปหมดในเวลาไม่กี่เดือนหลังจะนำเข้ามาหา .. ส่วนตัวอย่างปลาที่อ้างว่าส่งให้กรมประมงไปเก็บรักษานั้น ก็ไม่สามารถหาพบ

- ผมจึงเสนอในที่ประชุมว่า เราน่าจะสามารถเอาลำดับ DNA ของปลาหมอคางดำที่พบในประเทศต่างๆ หลายประเทศของทวีปแอฟริกา มาเทียบกับลำดับ DNA ของปลาที่พบในไทยในปัจจุบันได้ อย่างน้อยก็ช่วยระบุว่า มันมาจากประเทศไหน ?

2. ทางกรมประมงได้รับข้อเสนอของผมไปพิจารณา เนื่องจากว่าเคยมีการเก็บตัวอย่างแล้ววิเคราะห์ลำดับ DNA ของปลาหมอคางดำในประเทศไทย มาก่อนหน้านี้แล้ว

- โดยที่ก่อนหน้านี้นั้น กรมประมงเคยเผยแพร่ผลงานวิจัย DNA ของปลาหมอคางดำในประเทศไทยมา 2 ฉบับ ได้แก่ 1. ความหลากหลายทางพันธุกรรมกับพันธุปฏิทรรศน์ของการระบาดปลาหมอสีคางดำในประเทศ (ปี พ.ศ. 2563) และ 2. การวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดําในเขตพื้นที่ชายฝั่งของไทยจากโครงสร้างพันธุกรรมของประชากร (ปี พ.ศ. 2565)

- ผลการวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ตัวอย่างจากประชากรปลาหมอคางดำจากพื้นที่แพร่ระบาด 7 จังหวัด มีความคล้ายคลึงกัน และมีการแพร่กระจายอยู่ 2 ลักษณะคือ 1.จากคลองที่เชื่อมต่อกัน และ 2.จากการขนส่งเคลื่อนย้ายโดยมนุษย์ เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ แล้วเกิดการหลุดรอด จนแพร่กระจายเป็นหย่อมๆ ไม่มีคลองเชื่อมต่อถึงกัน

- แต่ผลการทดลองนั้น ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า น่าจะมีการนำปลาหมอสีคางดำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย เพียงครั้งเดียว หรือหลายครั้ง กันแน่ .. และมีการดึงตัวอย่างข้อมูลพันธุกรรม (จาก mitochondrial DNA ส่วน D-loop) จากต่างประเทศมาเปรียบเทียบ เพียงแค่ตัวอย่างเดียว จึงทำให้บอกแหล่งที่มาต้นทางของประชากรปลาหมอคางดำในประเทศไทยได้ลำบาก

3. ต่อมาไม่นาน มีข่าวว่าทางกรมประมงจะทำเรื่องขอตัวอย่าง DNA ปลาหมอคางดำ จากประเทศกาน่า เพิ่มเติม มาทำการวิเคราะห์ ซึ่งจะต้องใช้เวลารออีกระยะหนึ่ง

- ผมถึงดำเนินการลงมือเก็บรวบรวมลำดับพันธุกรรมของปลาหมอคางดำในประเทศต่างๆ ในทวีปอัฟริกา จากฐานข้อมูล GenBank - NCBI ของต่างประเทศ มาทำการวิเคราะห์พื้นฐาน และนำส่งให้กับกรมประมง เพื่อให้นักวิจัยของกรมฯ ได้นำไปเปรียบเทียบกับลำดับพันธุกรรมที่มีอยู่เดิม (ซึ่งไม่ได้เปิดเผยให้กับสาธารณะ ทำให้ผมไม่สามารถดึงข้อมูลมาวิเคราะห์เองได้)

- ผลการวิเคราะห์สร้างแผนภูมิต้นไม้วิวัฒนาการ (phylogenetic tree) ด้วยวิธี neighbor- joining (NJ) จากตัวอย่าง สาย DNA ของปลาหมอคางดำ 6 ประเทศ เป็นจำนวนกว่า 40-50 สาย พบว่า พันธุกรรมของปลาหมอคางดำในทวีปแอฟริกานั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่มประชากรอย่างชัดเจน คือ กลุ่มย่อยของ 4 ประเทศที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตก ได้แก่ มอริเตเนีย , เซเนกัล , เซียร์ราลิโอน , ไลบีเรีย และ กลุ่มย่อยของ 2 ประเทศที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออก ได้แก่ โกตดิวัวร์ (หรือชื่อเดิม ไอเวอรี่โคสต์) และ ประเทศกาน่า

4. ล่าสุด นักวิจัยของกรมประมงได้ทำการศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรม mitochondrial DNA ส่วน D-loop ของปลาหมอคางดำ เปรียบเทียบกันระหว่าง ลำดับพันธุกรรมของตัวแทน haplotype กลุ่มประชากรปลาของ 6 จังหวัดในประเทศไทย และทวีปแอฟริกาแล้ว ได้ผลดังนี้

- ข้อมูลที่ได้ออกมานั้น มีลำดับตรงกัน 372 คู่เบส ที่จะนำไปใช้ศึกษาต่อ .. ทำให้ต้องตัดลำดับที่เคยเก็บได้ในประเทศไทย อีก 78 คู่เบส (21% ของทั้งหมด) ทิ้งไป เนื่องจากยาวกว่าลำดับของปลาจากฐานข้อมูล

- พบว่า ค่าความแตกต่างพันธุกรรม (genetic distance) เฉลี่ย จากกลุ่มตัวอย่างของ 6 จังหวัดของประเทศไทย มีค่าน้อยกว่า ค่าเฉลี่ยจากตัวอย่างของแต่ละประเทศในทวีปแอฟริกา เป็นอย่างมาก (คือ 0.0033 เทียบกับ 0.0078 - 0.035)

#ผลลัพธ์ phylogenetic analysis

- พบว่าตัวอย่างปลาหมอคางดำที่เก็บจาก 6 จังหวัดที่มีรายงานการระบาดในช่วงปี 2560 ถึง 2564 ถูกจัดอยู่ในกลุ่มย่อยเดียวกัน กับตัวอย่างจากประเทศกาน่าและโกตดิวัวร์ .. โดยมีค่าความเชื่อมั่นของกิ่งรวม บนแผนภูมิต้นไม้นี้ ตามการวิเคราะห์แบบ boostrap ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง คือมากถึง 70%

- แม้ว่าลักษณะของแผนภูมิต้นไม้ NJ tree จะบอกว่า พันธุกรรมของปลาจากประเทศไทยน่าจะมีความใกล้ชิดกับปลาในประเทศกาน่า มากกว่าจะประเทศโกตีวัว แต่ค่าความเชื่อมั่น bootstrap ในกิ่งย่อยๆ ของแผนภูมิต้นไม้ ภายในกลุ่มย่อย "กาน่า-โกตดิวัวร์-ไทย" นี้ มีค่าต่ำมาก ทำให้ไม่สามารถยืนยันคำตอบได้ว่า มีต้นกำเนิดมาจากประเทศกาน่าเท่านั้น

#โดยสรุป : ลำดับพันธุกรรมจาก DNA ขอตัวอย่างปลาหมอคางดำที่ระบาดในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับปลาหมอคางดำที่พบในประเทศต่างๆ ของทวีปแอฟริกา มีความใกล้เคียงกับที่พบในประเทศกาน่า และประเทศโกตดิวัวร์ (ไอเวอรี่โคสต์) แต่ข้อมูลยังไม่มากเพียงพอ ที่จะฟันธงได้ว่ามีต้นกำเนิดมาจากประเทศกาน่าประเทศเดียวครับ

และแม้ว่าจะทำให้ประเด็นต้นกำเนิดที่มาของปลาหมอคางดำในประเทศไทยนั้น สโคปแคบลงไปได้มาก แต่ก็ไม่ได้เป็นการฟันธงเช่นกัน ว่าจะต้องมาจากบริษัทดังกล่าวบริษัทเดียวเท่านั้น เนื่องจากอาจมีบริษัทอื่นที่ลักลอบนำเข้าปลาจากทวีปแอฟริกาอีก แต่ไม่แจ้งขออนุญาต ก็เป็นไปได้

ป.ล. โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า ถ้าผมได้ข้อมูลพันธุกรรมปลาหมอคางดำในประเทศไทย จากกรมประมง มาวิเคราะห์เองด้วย ด้วยวิธีวิเคราะห์แบบอื่นๆ ก็อาจจะได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้นกว่านี้อีกหน่อยครับ"


กำลังโหลดความคิดเห็น