xs
xsm
sm
md
lg

ครูผู้สร้างสรรค์และส่งต่อคุณค่างานหัตถศิลป์ไทยผ่านเครื่องดนตรีไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. อวดความงดงามของงานศิลปหัตถกรรมไทย ที่แต่งแต้มบนเครื่องดนตรีไทย ด้วยฝีมือการรังสรรค์ที่เติมเต็มคุณค่า ทั้งเสียง อันไพเราะ และการตกแต่งลวดลายที่สะท้อนมรดกทางภูมิปัญญาในงานศิลปหัตถกรรม สร้างเอกลักษณ์ให้แก่เครื่องดนตรีของครูสมชัย ชำพาลี ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2555 จาก สศท. ที่เตรียมนำมาสะกดทุกสายตาในงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15 วันที่ 18 – 22 กันยายนนี้ ฮอลล์ 5 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
 


“สมชัยเครื่องดนดรีไทย” คือแหล่งผลิตเครื่องดนตรีที่มีชื่อเสียงเลื่องลือในวงการดนตรีไทยเพราะนอกจากจะขึ้นชื่อเรื่องเสียงอันไพเราะแล้ว ยังมีเอกลักษณ์ในด้านการสร้างสรรค์เครื่องดนตรีไทยให้มีความงดงาม สะท้อนมรดกทางภูมิปัญญาในงานศิลปหัตถกรรม ที่เกิดจากภูมิปัญญาและทักษะเชิงช่างของครูสมชัย ชำพาลี ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2555 จากสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) โดยครูกล่าวว่า การสร้างสรรค์เครื่องดนตรีไทยชั้นดี มีไม้เป็นส่วนประกอบหลัก เช่น ไม้สัก ไม้ชิงชัน ถือว่าเป็นไม้ที่เหมาะแก่การทำระนาด หากเป็นการทำซอ ก็ต้องคัดเลือกกะลามะพร้าวที่มีขนาดใหญ่ ให้ได้รูปทรงสวยงามมีลักษณะพิเศษเป็นทรงรูปสามเหลี่ยมมีปุ่ม มีพูสามปุ่มโดยปุ่มนี้เกิดขึ้นบริเวณเส้นสาแหรก ซึ่งเป็นด้านที่อยู่ตรงข้ามกับตากะลา มองดูเผิน ๆ คล้ายเป็นโหนกเหมือนหัวช้าง ส่วนของความกังวานของเสียง ได้ใช้ทักษะงานช่างไม้ จากการสังเกตเสียงทุ้ม ใส กังวานของตัวไม้ จึงทำให้เครื่องดนตรีของครูมีความไพเราะอย่างไร้ที่ติ


นอกจากนี้ เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของเครื่องดนตรีไทยของครูสมชัย อยู่ที่การการประดับตกแต่งเครื่องดนตรีให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น ด้วยการแกะสลัก "ฝังลาย" แบบแกะลอยด้วยการใช้สิ่วและค้อนในการแกะสลักลวดลายให้มีมิติ ใช้ลวดลายประยุกต์จากลายไทยโบราณ เช่น ลายกนก ลายก้านขด ลายประจำยาม ลายเครือเถา เป็นต้น ด้วยการนำเปลือกหอยมูกหรืองาช้างมาฉลุลายที่ออกแบบและเขียนเอง ซึ่งลวดลายที่ได้จะเน้นความคมชัดของเส้นลายดูพลิ้วไหวได้สัดส่วน นำลายที่ฉลุแล้วมาฝังลงบนเนื้อไม้ของเครื่องดนตรีที่มีการแกะเป็นร่องไว้แล้ว ทำให้สวยติดทน และรักษาง่ายกว่าการลงยางรักแบบเดิม อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงาน แม้ปัจจุบันความนิยมทางดนตรีไทยจะเปลี่ยนไปแต่ครูไม่เปลี่ยนตาม ยังคงยึดการสร้างสรรค์เครื่องดนตรีตามหลักให้มีรูปทรงสวยงาม เสียงไพเราะ แฝงไปด้วยความนุ่มนวลอ่อนหวาน เป็นเครื่องดนตรีได้ความสมบูรณ์แบบทั้งรูปทรงและเสียงโดยอาศัยประสบการณ์ความชำนาญ และความเข้าใจด้านเครื่องดนตรีที่สั่งสมมายาวนาน โดยมุ่งมั่นที่จะสืบสานมรดกทางภูมิปัญญาให้คงอยู่ไม่สูญหายไป

สศท. ขอเชิญชวนทุกท่านไปสัมผัสกับภูมิปัญญาการสร้างสรรค์หัตถกรรมเครื่องดนตรีไทย และงานหัตถศิลป์ไทยอันล้ำค่าอีกมากมายได้ที่งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15 วันที่ 18 – 22 กันยายนนี้ เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ฮอลล์ 5 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์














กำลังโหลดความคิดเห็น